World Animal Protection

เสริมทักษะนิสิตนักศึกษาด้วยหลักสูตรระดับโลกพร้อมนำความรู้ช่วยชุมชน

ข่าว

กิจกรรมการซ้อม-อบรมหน่วยสัตวแพทย์ฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติ หรือ “Veterinary Emergency Response Unit” (VERU) ของ WSPA ครั้งที่ 5 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2556

กิจกรรมการซ้อม-อบรมหน่วยสัตวแพทย์ฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติ หรือ “Veterinary Emergency Response Unit” (VERU) ของ WSPA ครั้งที่ 5 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2556

เป้าหมายเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ในด้านการจัดการภัยพิบัติพร้อมสร้างเครือข่ายนิสิตนักศึกษาสัตวแพทย์กว่า 60 คน จาก 5 มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ได้แก่ ม.ขอนแก่น ม.เกษตรศาสตร์ ม.เชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และม.เทคโนโลยีมหานคร โดยมุ่งหวังให้นิสิตนักศึกษาที่ผ่านการอบรมสามารถบริหารจัดการให้ความช่วยเหลือสัตว์ที่ประสบภัยได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับชุมชนและภูมิภาคของประเทศ เพราะภัยพิบัติทางธรรมชาติมีแนวโน้มที่จะเกิดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

  • นสพ. ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม นายสัตวแพทย์ฝ่ายการจัดการด้านภัยพิบัติ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่าปีนี้มีกิจกรรมเพิ่มคือ การฝึกอบรมการเตรียมความปลอดภัยทางน้ำเชิงปฎิบัติและการฝึกหาข้อมูลทางด้านภัยพิบัติหรือที่เรียกว่า Remote Assessment คือการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติโดยไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ จึงได้คัดเลือกจังหวัดมา 8 จังหวัดคือ ขอนแก่น มหาสารคาม ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ โคราช กาฬสินธุ์ โดยจังหวัดเหล่านี้ได้รับรายงานว่ามีการประกาศเขตภัยแล้งรุนแรง คือมีพื้นที่มากกว่า 50% ของจังหวัดประสบปัญหาภัยแล้ง โดยได้แบ่งกลุ่มนักเรียนให้โทรศัพท์เข้าไปสอบถามสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ผลกระทบต่อสัตว์ ประเภทและจำนวนของสัตว์ในพื้นที่ มาตรการการให้ความช่วยเหลือ
  • คุณสุวิมล บุญทารมณ์ หัวหน้าฝ่ายการสื่อสารองค์กรและระดมทุน กล่าว  “โครงการ VERU ได้ฝึกฝนให้เกิดการคิดการวางแผน การวิเคราะห์สถานการณ์ และการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ เช่นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี แต่จะเป็นรูปแบบน้ำท่วมที่จะท่วมแค่ไม่กี่วัน ดังนั้นก็จะวางแผนว่าจะให้ความรู้แก่คนที่ทำปศุสัตว์ว่าจะต้องจัดการกับสัตว์อย่างไร ให้สัตว์ยังคงไว้ซึ่งสวัสดิภาพของสัตว์ว่าควรจะต้องทำอย่างไร” 
  • นายอัมรินทร์  ฤทธิพรเลิศรักษ์ นักศึกษาคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ ม. เชียงใหม่ ชั้นปีที่ 5 และนางสาวสิรีกร  ฉายศิลป์รุ่งเรือง นิสิตคณะสัตวแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 5 ร่วมเล่าความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมโครงการ VERU ว่า รู้สึกดีมากได้ให้โอกาสเด็กได้รับรู้ถึงการทำงานแนวนี้ เนื่องจากเมื่อก่อนจะเห็นแค่จากโทรทัศน์เกี่ยวกับการช่วยเหลือคนในภาวะภัยพิบัติ แต่พอได้เข้ามาฝึกอบรมจริงๆแล้วได้รู้ว่าจะต้องปฏิบัติงานอย่างไร ต้องมีการวางแผนคิดและวิเคราะห์อย่างไร ซึ่งมันไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติในการเรียนการสอนทั่วๆไป ทำให้เกิดความคิดว่าสัตวแพทย์ไม่ได้มีหน้าที่แค่การรักษาสัตว์ แต่ยังมีหน้าที่ในการช่วยเหลือส่วนรวมและสังคม ทำให้อยากมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสัตว์และผู้ประสบภัยเวลาหตุการณ์เกิดขึ้นจริง และปศุสัตว์เป็นวิถีชีวิตและแหล่งรายได้ของชาวบ้าน ดังนั้นถ้าช่วยเหลือสัตว์ที่ประสบภัยก็เหมือนช่วยสัตว์และช่วยเศรษฐกิจในสังคมนั้นด้วย