องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมสวัสดิภาพช้างเลี้ยงในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยการยกระดับปรับเปลี่ยนการดำเนินงานตามแนวทางที่เป็นมิตรกับช้าง ที่จะนำไปสู่การดูแลและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ปัจจุบันกระแสการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อช้างและเรียกร้องให้มีการดูแลสวัสดิภาพช้างอย่างมีมนุษยธรรมได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือไปจากความต้องการประสบการณ์ที่ควรค่าแก่การจดจำแล้ว นักท่องเที่ยวยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสวัสดิภาพของช้างและการเอื้อประโยชน์ต่อช้าง และการเป็นธุรกิจที่สร้างผลประกอบการที่ดีสำหรับเจ้าของปางช้าง จากกระแสการท่องเที่ยวและความตื่นตัวดังกล่าว ปางช้างหลาย ๆแห่งจึงเลือกที่จะทำการเปลี่ยนแปลงรูปแบบกิจกรรมและการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นเพียงบางส่วน หรือทุกส่วนของการดำเนินกิจการ ให้มีความสอดคล้องกับหลักการ “เป็นมิตรกับช้าง” ตามที่กำหนดไว้ใน “ทางเลือกเชิงมนุษยธรรมสำหรับช้างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” ซึ่งแนบท้ายเอกสารฉบับนี้
วิกฤติโรคระบาดที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ก่อให้เกิดความเสี่ยงสำหรับปางช้าง ตัวช้างเอง รวมไปถึงควาญช้าง อย่างไรก็ตาม วิกฤติครั้งนี้ก็เปิดโอกาสให้เราได้พิจารณาทบทวนว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวช้างจะสามารถพลิกฟื้นกลับมาจากจุดตกต่ำของการขาดรายได้ และปรับเปลี่ยนพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวช้างที่ไม่เพียงแค่สร้างผลกำไรทางด้านธุรกิจ แต่ยังสร้างความยั่งยืนในการดูแลช้างอย่างมีจริยธรรมมากยิ่งขึ้นได้อย่างไร
การให้ทุนในครั้งนี้ ได้รับการออกแบบมาเพื่อสนับสนุนปางช้างที่แสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะปรับปรุง หรือยอมรับแนวปฏิบัติ “ทางเลือกเชิงมนุษยธรรมสำหรับช้างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” เพื่อการขอรับเงินทุนไปทำโครงการที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพยกระดับการดูแลช้างโดยตรง และช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เมื่อการท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง
ทุนสนับสนุนนี้จึงเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการปางช้าง ให้เสนอโครงการที่จะช่วยยกระดับแนวทางปฏิบัติที่ดีอยู่แล้วไปสู่ระดับก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น รวมไปถึงปางช้างอื่นๆ ที่สามารถแสดงให้เห็นว่ามีความต้องการที่จะยกระดับและปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานไปสู่การเป็นปางช้างที่เป็นมิตรกับช้างต่อไปในอนาคต
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจะพิจารณาให้ความสำคัญกับโครงการผ่านเกณฑ์ดังต่อไปนี้:
- โครงการที่ ให้ผลลัพธ์ในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่การจัดซื้อเพียงครั้งเดียว แต่จะต้องมีผลไปมากกว่าการขอความช่วยเหลือในการจัดซื้ออาหารช้างและเงินเดือนพนักงาน
- โครงการที่จะสามารถยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ตามแนวทางที่เป็นมิตรกับช้างขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
- โครงการที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนา การฝึกอบรม และการเสริมสร้างศักยภาพภายในองค์กร ที่จะส่งผลโดยตรงต่อการยกระดับสวัสดิภาพของช้าง และเสริมสร้างศักยภาพให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เมื่อการท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง
- โครงการที่สามารถสร้างความมั่นคงทางการเงิน และส่งผลเชิงบวกต่อสวัสดิภาพช้างในระยะยาว
- โครงการที่สามารถส่งผลในเชิงบวกกับรูปแบบธุรกิจที่เป็นมิตรกับช้างในประเทศไทย ในรูปแบบของความร่วมมือ เช่น การมีส่วนร่วม ในโครงการ เวทีการทำงาน และการริเริ่มสร้างเครือข่ายการทำงาน เป็นต้น
เงื่อนไขการขอรับทุน และวิธีการสมัคร
- ปางช้างในโครงการจะต้องได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ องค์กรการกุศล หรือนิติบุคคล
- ปางช้างในโครงการจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานของประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น จ่ายค่าตอบแทนพนักงานทั้งหมดไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ และให้การสนับสนุนการขอวีซ่าสำหรับพนักงานสัญชาติอื่นๆ
- ปางช้างในโครงการจะต้องมีตั๋วรูปพรรณช้าง ปกสีชมพู สำหรับช้างทุกเชือก
- ปางช้างในโครงการจะต้องแต่งตั้ง “ผู้จัดการโครงการ” 1 คน มีหน้าที่ในการส่งรายงานประจำเดือนให้กับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เพื่อรายงานความคืบหน้าของโครงการ ซึ่งจะรวมถึงเอกสารรายงาน การรายงานทางโทรศัพท์ไปยังเจ้าหน้าที่ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และ/หรือภาพถ่าย/วีดิโอประกอบการรายงาน
- โครงการที่ได้รับทุนต้องมีกำหนดแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการอนุมัติทุน
- โครงการที่ผ่านการพิจารณาจะได้รับเงินทุนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ทุนจำนวนสูงกว่า 500,000 บาทอาจได้รับการพิจารณาเช่นกันในกรณีที่โครงการที่เสนอมีความสอดคล้องกับแนวทางที่เป็นมิตรกับช้างขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม
- เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการทำโครงการ ปางช้างจะต้องนำส่งใบเสร็จรับเงิน ใบเรียกเก็บเงิน และหลักฐานการชำระเงินอื่นๆ ให้กับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
- ผู้ได้รับทุนจะเผยแพร่ข้อมูลการได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกบนสื่อโซเชียลมีเดีย และเผยแพร่ข้อมูลความคืบหน้าของโครงการบนแพลทฟอร์มดิจิทัลของผู้ได้รับทุนอย่างต่ำเป็นระยะเวลา 2 ครั้ง ของระยะเวลาของการรับทุน (เมื่อได้รับทุนครั้งแรก และเมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์)
- ผู้ได้รับทุนจะจัดทำรายงานความคืบหน้าส่งให้กับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกตามกำหนด ตลอดระยะเวลาของการรับทุน และรายงานสรุปโครงการภายใน 1 เดือนหลังจากระยะการให้ทุนได้สิ้นสุดลง
- โปรดกรอกข้อมูลของท่านลงในแบบฟอร์ม และส่งใบสมัครทางอีเมลไปที่ wildlife@worldanimalprotection.or.th
- ผู้ที่ผ่านการพิจารณาเข้ารอบจะได้รับการติดต่อภายใน 6 – 8 สัปดาห์ และอาจได้รับเชิญเพื่ออภิปรายรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมภายในระยะเวลาดังกล่าว
- ข้อมูลทั้งหมดในใบสมัครจะถูกรักษาไว้เป็นความลับ และจะไม่มีการเปิดเผยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้สมัคร
*กรุณากดลิ้งค์ด้านบนเพื่อดาวน์โหลดใบสมัครขอรับทุนสนับสนุนและใช้ เอกสารทางเลือกเชิงมนุษยธรรมสำหรับช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ด้านล่างนี้เพื่ออ่านและประกอบการกรอกใบสมัคร
เอกสารทางเลือกเชิงมนุษยธรรมสำหรับช้างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ความสำเร็จที่ผ่านมา
ช่วงสถานการณ์โควิดกว่า 3 ปีที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้มอบทุนสนับสนุนผ่านกองทุนพรุ่งนี้ที่ดีกว่าของช้างให้กับปางช้างในประเทศไทย จำนวนทั้งหมด 4 แห่ง เพื่อการทำโครงการที่เน้นผลลัพธ์ระยะยาวและความยั่งยืนในด้านการเสริมสร้างศักยภาพภายในองค์กร ส่งผลโดยตรงทั้งด้านการยกระดับสวัสดิภาพของช้าง เสริมสร้างศักยภาพธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเสริมสร้างความอยู่รอดในช่วงสถานการณ์โควิดและเพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อการท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง
ในปี พ.ศ. 2564 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้มอบทุนสนับสนุนแก่ปางช้าง 2 แห่ง คือ เอลละเฟิ่น พีช โปรเจต (Elephant Peace Project) ที่จังหวัดเชียงราย และ ทรัพย์ไพรวัลย์รีสอร์ทและศูนย์การเรียนรู้ช้างทรัพย์ไพรวัลย์ (Sappraiwan's Elephant Sanctuary) ที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อการทำโครงการเสริมสร้างศักยภาพภายในองค์กร สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและเพิ่มแหล่งอาหารที่ปลอดภัยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีให้ช้าง ซึ่งโครงการทั้งสองมีการดำเนินงานที่แล้วเสร็จสมบูรณ์และเกิดผลลัพธ์เชิงประจักษ์ในการสร้างแหล่งอาหารที่ยั่งยืนและปลอดภัยให้ช้างที่อยู่ในการดูแลของปางช้างทั้งสองแห่ง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2565 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้มอบทุนสนับสนุนแก่ปางช้างอีกจำนวน 2 แห่ง คือ มูลนิธิบี แอลลิแฟนท์ (BEES Elephant Sanctuary) ที่จังหวัดเชียงใหม่ และ มูลนิธิสมบูรณ์ เลกาซี่ (Somboon Legacy Foundation) ที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อการทำโครงการที่มุ่งเน้นด้านการยกระดับสวัสดิภาพของช้างและเสริมสร้างศักยภาพภายในองค์กร ซึ่งทั้งสองโครงการยังไม่แล้วเสร็จ ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการและการติดตามผล
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่ไม่เพียงแค่ช่วยส่งผลด้านการยกระดับสวัสดิภาพของช้าง เสริมสร้างศักยภาพธุรกิจของปางช้างให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด แต่ยังส่งผลให้เกิดความร่วมมือทางด้านการทำงานกับปางช้างในประเทศไทยในระดับที่กว้างขึ้น ทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจึงเล็งเห็นความสำคัญของการทำงานบูรณาการต่อยอดกองทุนพรุ่งนี้ที่ดีกว่าของช้าง อันเป็นที่มาของ Build Back Better for Elephants 2023