Mae Two

“แม่ทู” กว่าจะได้ใช้ชีวิตที่เป็น “ช้าง”

ข่าว

ในยุคที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโต และประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางในการใช้ช้างในธุรกิจท่องเที่ยวและความบันเทิง การแสดงช้างในรูปแบบต่างๆ อาทิ เตะฟุตบอล วาดภาพ ยืนสองขา หรือแม้แต่กิจกรรมขี่ช้างและอาบน้ำช้าง มักถูกบรรจุอยู่ในโปรแกรมท่องเที่ยวของแทบทุกปางช้าง

คนจำนวนมากอาจไม่เคยรู้ว่า เบื้องหลังของการแสดงและการทำตามคำสั่งเหล่านั้น ช้างต้องผ่านการฝึกเพื่อทำลายสัญชาตญาณสัตว์ป่า ทำให้เชื่องและเชื่อฟังคำสั่ง

การฝึกซ้ำๆที่ว่ามีความโหดร้ายทารุณ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายด้วยตะขอสับ หอก มีด ท่อนไม้ หรือการล่ามด้วยโซ่สั้นๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างบาดแผลทั้งทางร่ายกายและจิตใจให้พวกมันไปตลอดชีวิต

ปัจจุบัน ยังมีช้างไทยอีกจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับชะตากรรมอันแสนหดหู่ แต่โชคดีที่วันนี้การท่องเที่ยวอันเกี่ยวเนื่องกับช้างได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบที่เป็นมิตรต่อช้างมากขึ้น “แม่ทู” ช้างพังวัย 40 ปี ซึ่งเคยอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมานับสิบปี จึงได้กลับมาใช้ชีวิตในแบบที่ “ช้าง” ได้เป็น “ช้าง” อีกครั้ง

Mae TWO

ช้างทำงานไม่มีวันหยุด

“หากเปรียบเป็นคน เราต้องทำงานซ้ำๆ เดิมๆ ต่อเนื่องเป็นปีๆ ทำงานโดยไม่มีวันหยุดเลย
ไม่ว่าจะหน้าร้อน หน้าฝน หน้าหนาว และถ้าเราทำแบบนี้สัก 10-20 ปี จะคนหรือสัตว์ มันก็ทำให้ระบบร่างกายเสื่อมสภาพเร็ว”

ควาญเชิด-เชิดชัย พงศ์ปฐพี หัวหน้าควาญช้างชาวปกาเกอะญอวัย 30 ปีแห่งปางช้างชิล ถ่ายทอดความรู้สึกเมื่อครั้งที่ “แม่ทู” ซึ่งเป็นเสมือนสมาชิกในครอบครัวต้องทำงานหนักเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว โดยหน้าที่หลักของควาญเชิดและแม่ทู คือการนำนักท่องเที่ยวนั่งแหย่งบนหลังช้างเพื่อชมทัศนียภาพของปางช้าง ตั้งแต่เช้าจรดเย็นต่อเนื่องโดยไม่ได้พัก

ความเหนื่อยล้าของการทำงานหนัก ชนิดที่บางครั้ง ทั้งคนและช้างแทบไม่ได้กินอาหารมื้อกลางวันยังไม่เท่ากับความเครียดสะสมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีน้ำหนักราว 3,000 กิโลกรัม ที่ต้องเดินวนไปวนมาซ้ำๆ วันละหลายรอบโดยมีนักท่องเที่ยวอยู่บนหลัง ในขณะเดียวกันควาญผู้ทำหน้าที่คอยบังคับช้างก็ต้องระแวดระวังความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทุกขณะ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แม่ทู จะระเบิดอารมณ์หงุดหงิด หรือแสดงอาการเกรี้ยวกราดใส่นักท่องเที่ยว ตะขอสับจึงกลายเป็นเครื่องมือหลักที่กุมชะตาชีวิตของช้างแม่ทู

Mae Two

กิจวัตรประจำวันของทั้งคู่ก่อนหน้านี้

ครอบครัวคนเลี้ยงช้างที่ส่งต่อความรู้และเชี่ยวชาญในการดูแลช้างจากรุ่นพ่อมายังรุ่นลูก โดยควาญเชิดเล่าว่า แม่ทู เป็นช้างที่พ่อของเขาซื้อมาจาก อ.อมก๋อย ตั้งแต่อายุเพียง 10 ขวบ สมัยที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังไม่บูมนัก แม่ทู ถือเป็นแรงงานหลักที่ช่วยลากไม้ ทำฝาย สร้างบ้าน รวมถึงรับจ้างทำงานเพื่อช่วยหารายได้จุนเจือครอบครัว จนกระทั่งแม่ทูเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วยการถูกเช่าจากปางช้าง ควาญเชิดจึงถูกจ้างให้มาเป็นควาญช้าง และรับช่วงต่อจากพ่อเพื่อดูแลแม่ทูมาอย่างต่อเนื่องนับสิบปี

“เพราะแม่ทูเป็นช้างตัวใหญ่ จึงมีหน้าที่รับนักท่องเที่ยวขี่หลังและเดินวนไปวนมาในปางทุกวัน แต่ถ้าเป็นช้างตัวเล็กเขาก็จะเอาไว้โชว์การแสดงให้นักท่องเที่ยวได้ดู ในแง่ของควาญช้าง เราต้องตื่นตั้งแต่ 6 โมง พาช้างไปกินอาหาร และเตรียมใส่แหย่งให้เรียบร้อย เพราะโปรแกรมจะเริ่มตั้งแต่ 7 โมง ตอนเที่ยงช้างแทบไม่มีเวลากินอาหารเลย อาจจะมีอ้อย และน้ำบ้าง ส่วนมื้อใหญ่ๆ จะได้กินอีกทีก็เป็นช่วงเย็นเลย ซึ่งทุกปางก็จะเป็นโปรแกรมแบบนี้ เราไม่สามารถเลี่ยงที่จะไปทำอย่างอื่นได้ เหมือนเราเป็นลูกน้องเขา ถ้าเราไม่ทำตามกฎของเขามันก็จะมีปัญหา

ควาญเชิดเล่าถึงกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำเพื่อหาเลี้ยงชีพด้วยการให้เช่าช้างแม่ทู

ชีวิตและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่ปัจจุบันควาญเชิด และแม่ทู มีกิจวัตรประจำวันที่แตกต่างจากเดิม เพราะที่  “ช้างชิล” (ChangChill) จ.เชียงใหม่ ได้ปรับเปลี่ยนมาสู่รูปแบบปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection Thailand) ตั้งแต่ปี 2562 แม่ทูจึงได้มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างอิสระและแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ไม่ต้องทำหน้าที่เป็นช้างแท็กซี่รับนักท่องเที่ยวขี่หลังแบบใส่แหย่ง ไม่ต้องถูกบังคับให้ทำงานวันละหลายๆชั่วโมง เดินไปตามทางเดินซ้ำๆ วนไปวนมาเพื่อการทำรอบ รวมถึงไม่ต้องรอคอยอาหารซึ่งมีเพียงกล้วย อ้อย จากนักท่องเที่ยวที่คอยป้อน ส่วนควาญเชิดเอง ก็คอยทำหน้าที่ดูแลอยู่ใกล้ๆ และไม่ต้องคอยกังวลว่าช้างจะไปทำร้ายใคร

Chang Chill

“เราเป็นเจ้าของช้าง ถ้ามีปางที่ใส่ใจในความเป็นอยู่หรือสวัสดิภาพของช้างเราก็อยากจะอยู่กับปางนั้นๆ”

เหตุผลง่ายๆ ที่ควาญเชิด ตัดสินใจมาทำงานกับช้างชิล พร้อมทั้งเล่าถึงพฤติกรรมของช้างที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมว่า  

“พฤติกรรมของช้างแต่ละตัวเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก นอกจากสุขภาพช้างจะดีขึ้น ยังเลี้ยงง่ายขึ้น  โดยเฉพาะแม่ทู ที่มีนิสัย น่ารัก เลี้ยงง่าย เขาจะรู้หน้าที่ว่าทำอะไรก่อน เช้าต้องลงไปไหน บ่ายต้องไปไหน เราไม่ต้องทำอะไรมากมาย กิจกรรมของช้างที่นี่ ช่วงเช้า 8 โมง หลังจากปลดโซ่ เราจะพาเขาไปในป่า เพื่อเดินหาอาหารตามธรรมชาติกินและเพื่อเป็นการออกกำลังกายไปด้วยในตัว ซึ่งเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้างที่ต้องเดินหาอาหารวันละหลายสิบกิโลเมตร ช้างจะมีโอกาสที่ได้กินอาหารตามธรรมชาติที่หลากหลาย ทำให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน แตกต่างจากปางช้างทั่วไปที่ได้กินอาหารไม่หลากหลายและปริมาณอาจไม่เพียงพอ จนถึงช่วงสาย 11.30 น. เขาก็จะลงมากินน้ำ ซึ่งมีแหล่งน้ำบนภูเขาให้กิน เสร็จแล้วก็จะเป็นช่วงพักเที่ยง ระหว่างที่ควาญพักกินข้าวกลางวันและนั่งพักผ่อน ช้างจะได้กินอาหารหลักคือพวกหญ้าเนเปียร์ ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารสูง และข้าวโพด พอบ่ายโมง ช้างก็จะลงมาด้านล่าง มีกิจกรรมเสริมให้นักท่องเที่ยวนำกล้วย อ้อย ใส่ในท่ออาหารเพื่อให้ช้างลงมากินด้วยตัวเอง โดยไม่มีการให้นักท่องเที่ยวสัมผัสหรือป้อนอาหาร นักท่องเที่ยวจะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น ซึ่งระหว่างวันช้างแต่ละตัวมีอิสระอย่างเต็มที่ แล้วแต่ว่าเขาอยากจะทำอะไร บางตัวจะไปเล่นน้ำ ไปเล่นโคลน หรืออาจจะขึ้นไปกินอาหารในป่าต่อ ไม่มีการบังคับให้ช้างทำกิจกรรมอะไร ส่วนควาญช้างยังคงทำหน้าที่การดูแลช้างทุกอย่าง ด้วยโปรแกรมการดูช้างโดยที่นักท่องเที่ยวไม่มีการทำกิจกรรมกับช้างโดยตรง ไม่มีการบังคับใช้ช้างเพื่อความบันเทิง อีกทั้งมีการแยกพื้นที่สัดส่วนชัดเจนระหว่างคนและช้าง ควาญช้างจึง มีหน้าที่แค่ดูแลช้างและคอยตามเพื่อไม่ให้เขาออกนอกพื้นที่เท่านั้น

หากเปรียบเทียบกับสมัยก่อน นิสัยของแม่ทูจะค่อนข้างดุ และไม่ไว้ใจคนอื่น อาจจะแสดงความก้าวร้าวบ้าง หรือหงุดหงิดไม่เชื่อฟังคำสั่ง บางครั้งจึงจำเป็นต้องบังคับและลงโทษด้วยการใช้ตะขอสับ  หรือแม้แต่เวลาที่นักท่องเที่ยวป้อนอาหารช้าง ตามสัญชาตญาณของสัตว์ป่า หากตัวไหนเป็นผู้นำจะได้กินอาหารก่อน แต่เมื่อนักท่องเที่ยวป้อนให้อีกตัวหนึ่งก่อน แม่ทู ซึ่งเป็นผู้นำฝูง ก็จะเริ่มโมโหและหงุดหงิด เขาก็จะทำร้ายเพื่อนด้วยกัน อาจจะเอาขาเตะบ้าง เอาหางฟาดบ้าง”

ควาญเชิดยกตัวอย่างพฤติกรรมของแม่ทูที่แสดงออกตามสัญชาตญาณของสัตว์ป่า ซึ่งกิจกรรมป้อนอาหารช้างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยวได้

ในขณะที่ “แม่กอน” ช้างพังน้องใหม่วัย 32 ปีที่เพิ่งมาใช้ชีวิตในปางช้างชิลได้เพียง 6 เดือนเศษ และเคยผ่านประสบการณ์ในปางช้างแบบเดิมที่ให้นักท่องเที่ยวสัมผัสกับช้างได้นั้น ไม่แตกต่างจากแม่ทูในช่วงที่มาช้างชิลใหม่ๆ เนื่องจากช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถูกทำลายสัญชาตญาณและพฤติกรรมไปมากจึงต้องใช้เวลาฟื้นฟูกว่าจะกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีในฐานะสัตว์ป่า ไม่ว่าเป็นการใช้ชีวิตในป่า และการหาอาหารด้วยตัวเอง โดยควาญเชิดเล่าว่า ช่วงเดือนแรกแม่กอนยังติดนิสัยแบบที่เคยทำ เช่นเรื่องการกินอาหาร ยังชินกับการที่นักท่องเที่ยวป้อนอาหารให้ หรือต้องรอให้อาหารตกพื้นก่อนจึงจะเก็บกิน ดังนั้นเวลาที่ทำกิจกรรมในช่วงบ่ายด้วยการให้กินอาหารในท่อ แม่กอนจึงยังกินไม่เป็น ต้องอาศัยให้ควาญช้างนำมาหย่อนให้ จนระยะหลังจึงเริ่มเรียนรู้และปรับตัวได้ ส่วนพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนช้างด้วยกันก็สามารถปรับตัวได้ดีขึ้น

Mae Two

เมื่อช้างมีอิสระ ไม่เครียดและได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ผลที่ได้รับย่อมดีเกินคาด

นับเป็นความโชคดีของควาญช้างและช้าง ที่มีโอกาสได้อยู่ในปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้างท่ามกลางธรรมชาติอย่างมีอิสระ ควาญเชิดยอมรับว่า ช่วงแรกที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เข้ามาช่วยให้คำแนะนำในการเปลี่ยนรูปแบบเป็นปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง เขารู้สึกกังวลว่าจะเป็นไปได้ไหม แต่เมื่อได้ทำจริงๆ แล้วผลที่ได้รับเกินคาด และประสบความสำเร็จที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด  

“ตอนแรกๆ ผมกังวลในเรื่องพฤติกรรมของช้างว่าจะเปลี่ยนไปหรือเปล่า ถ้าปล่อยเป็นอิสระมากเกินไปจะบังคับเขาไม่ได้ หรือหากนักท่องเที่ยวมาแล้วจะบังคับช้างไม่ได้ แต่พอมาทำจริงๆ มันเกินคาด ช้างนิสัยเปลี่ยนไปเลย นิ่งขึ้น ดูแลง่ายขึ้น และมีความสุขมากขึ้นด้วย”

จากผลลัพธ์ที่เกิดอย่างเป็นรูปธรรม ในฐานะควาญช้างผู้เป็นทั้งเจ้าของช้างและดูแลช้างทั้งหมดในช้างชิล จึงคาดหวังให้ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวตระหนักและให้ความสำคัญกับการดูแลช้างอย่างมีสวัสดิภาพ เพราะการให้ช้างได้มีอิสระ ไม่ถูกบังคับใช้งานด้วยความโหดร้ายทารุณ และมีโอกาสได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น ย่อมถือเป็นการดูแลช้างและอนุรักษ์ช้างอย่างแท้จริง

“อยากให้ภาครัฐและหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับช้าง ช่วยสนับสนุนปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้างต่อไป รวมถึงนักท่องเที่ยว ก็อยากให้หันมาสนับสนุนโปรแกรมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อช้างมากยิ่งขึ้น”

และนี่คือเสียงเรียกร้องของควาญเชิด หนึ่งในตัวแทนเจ้าของช้างที่ไม่ได้เพียงเป็นแค่เจ้าของ แต่ยังทำหน้าที่เป็นควาญช้างดูแลช้างของตัวเองเพราะรักและใส่ใจในสวัสดิภาพของช้าง ที่อยากส่งต่อความรู้สึกแทนช้างในเมืองไทย โดยหวังว่าช้างในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะได้มีโอกาสที่ดีขึ้นได้ใช้ชีวิตที่เป็นช้างมากขึ้น รวมถึงมีสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น