Songkran

ชีวิตใหม่ “แม่สงกรานต์” จากช้างลากไม้อารมณ์เสีย สู่ช้างนางฟ้าอารมณ์ดี

ข่าว

ลักษณะเด่นของ “แม่สงกรานต์” คือมีหูใหญ่ งวงใหญ่เป็นพิเศษ และที่แปลกตาไปกว่านั้น เธอมี 2 ใบหน้า ที่ถูกเรียกกันว่า ด้านขวาเป็น “หน้ายักษ์ และด้านซ้าย “หน้านางฟ้า”

แม่สงกรานต์ จึงเป็นช้างตัวเดียวในประเทศไทยที่คุณ ชเร สังข์ขาว เจ้าของปางช้าง Following Giants เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เปรียบว่า “เป็นช้างที่อยู่ในวรรณะสูง” เธอจึงควรต้องอยู่ถูกที่ ถูกลักษณะ!! 

“แม่สงกรานต์” ช้างพังวัย 50 ปี สมาชิกที่เพิ่งมาเริ่มต้นใช้ชีวิตใหม่ในแบบที่ได้เป็น “ช้าง” จริงๆ  ท่ามกลางธรรมชาติรายล้อมใน Following Giants เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยมี คุณชเร สังข์ขาว เจ้าของปางช้างเป็นผู้ที่ช่วยเหลือและรับช่วงแม่สงกรานต์มาจากวัดแห่งหนึ่งใน จ.ปัตตานี

Songkran 2

 อดีตอันเลวร้ายกว่าจะมาเป็น ‘แม่สงกรานต์’

เรื่องราวในอดีตของแม่สงกรานต์ หรือชื่อจริงตามทะเบียนว่า “พังสมคิด” (ซึ่งเพิ่งมาเปลี่ยนชื่อหลังจากที่คุณชเรรับมาอยู่ที่ปางในวันสงกรานต์ ปี 2566) อาจทำให้คนที่เข้าใกล้กังวลและหวั่นๆ อยู่ในที เช่นเดียวกับเจ้าของช้างคนใหม่ที่ยอมรับว่า ลึกๆ แล้วในช่วงแรกก็กลัวแม่สงกรานต์อยู่เหมือนกัน เพราะแม่สงกรานต์นั้นมีประวัติเคยทำร้ายควาญช้างจนเสียชีวิตมาแล้วถึง 2 คน  

“ช่วงที่เขาทำงานเป็นช้างลากไม้อยู่ใน จ.ระนอง เขาเคยทำร้ายคนจนเสียชีวิตไป 2 คน คนแรกตอนสงกรานต์อายุได้ประมาณ 18 ปี เป็นควาญช้างที่ทำงานด้วยกันกับเขา และอีกช่วงคือตอนอายุ 36 ปี  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ควาญช้างคนอื่น ไปออกคำสั่งกับเขา ไล่เขาให้ทำงาน เขาก็หันมาทำร้ายคนที่สั่งแบบรวดเร็วมาก ซึ่งสาเหตุอาจจะเป็นเพราะความเครียดจากการทำงาน และมีคำสั่งที่เขาไม่พอใจ”

คุณชเร เล่าย้อนถึงอดีตของแม่สงกรานต์ที่เขาสันนิษฐานว่า เกิดจากความเครียดสะสมจากการถูกบังคับให้ทำงานหนัก ประกอบกับลักษะนิสัยที่ค่อนข้างดุ และสัญชาติญาณของสัตว์ป่า จึงเป็นที่มาของโศกนาฏกรรมดังกล่าว  

หลังจากอุตสาหกรรมไม้ปิดตัวลง แม่สงกรานต์ในวัย 36 ปี จึงย้ายมาอยู่ที่ ปางช้างเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี มีหน้าที่ให้บริการนักท่องเที่ยวขี่ เหมือนกับปางช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วไป แต่ด้วยนิสัยของแม่สงกรานต์ที่ไม่ค่อยถูกชะตากับควาญช้างคนไหนเลย นอกจากควาญที่ผูกพันกันมาตั้งแต่เด็ก จึงต้องเดินแยกกับช้างตัวอื่น เพื่อป้องกันไม่ให้ควาญช้างคนอื่นเข้าใกล้ รวมทั้งยังเป็นช้างที่หวงควาญเป็นพิเศษ เช่นหากมีใครมาหยอกล้อ หรือพูดจาด้วยน้ำเสียงไม่ดีกับควาญ แม่สงกรานต์จะแสดงอาการก้าวร้าว และไล่ไปทันที ในขณะที่หากเป็นนักท่องเที่ยวแม่สงกรานต์จะยอมให้ใกล้ชิดและขึ้นขี่หลังแต่โดยดี

Songkran 3
Songkran 4

ช้างหน้ายักษ์และหน้านางฟ้า

ถึงการทำงานในปางช้างที่ให้บริการนักท่องเที่ยวนั่งแหย่งบนหลัง อาจไม่หนักหนาสาหัสเท่างานลากไม้ แต่การทำงานวันละ 8 ชม.แบบไม่ได้หยุดพัก ก็ถือเป็นการสร้างความทุกข์ยังดีที่แม่สงกรานต์มักจะไม่ถูกเลือกให้ทำกิจกรรมอาบน้ำกับนักท่องเที่ยวเท่าไหร่ เพราะไม่สามารถเข้าใกล้ควาญช้างคนอื่นได้ โดยคุณชเร เล่าต่อว่า

“แม่สงกรานต์เป็นช้างที่แปลกมาก คือเป็นช้าง 2 หน้า ทางฝั่งด้านขวาจะเป็นหน้ายักษ์ หมายถึงหน้าตาจะดูโกรธ เกรี้ยวกราดตลอดเวลา ทุกคนที่เข้ามาหาเขา จึงต้องเข้าทางฝั่งด้านซ้าย คือหน้านางฟ้า นี่คือลักษณะพิเศษของเขา ซึ่งเป็นมาตั้งแต่เด็ก เจ้าของช้างคนก่อนเพิ่งมารู้ตอนทำกิจกรรมขี่ช้าง และอาบน้ำกับช้าง แม่สงกรานต์จะโชว์อาบน้ำน้อยมากเพราะควาญช้างเองก็กลัว แต่ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวหรือคนไทยด้วยกัน เวลาจะเข้าไปหาเขา จะเข้าทางฝั่งซ้ายมากกว่า”

เกือบ 10 ปีของการทำงานในปางช้าง จ.สุราษฎร์ธานี จนกระทั่งพิษโควิด19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว แม่สงกรานต์จึงถูกขายให้กับพระใน จ.ปัตตานี ที่นี่แม่สงกรานต์ทำหน้าที่เป็นเพียงพาหนะในขบวนแห่นาคเมื่อมีพิธีบวช แต่ด้วยพฤติกรรมของแม่สงกรานต์ที่เกรี้ยวกราดในบางครั้งเวลาไม่สบอารมณ์ เธอจึงถูกแยกตัวออกจากช้างตัวอื่น และไม่ให้อยู่ใกล้คน ในขณะที่เวลาทำกิจกรรมก็มักจะถูกล่ามโซ่ที่ข้อเท้าไว้ตลอดเวลา พระเจ้าอาวาสจึงเกรงว่า อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดหากเด็กๆ หรือนักท่องเที่ยวไปจับแม่สงกรานต์โดยไม่มีควาญช้างอยู่ใกล้ๆ จึงตัดสินใจขายแม่สงกรานต์ให้กับคุณชเร ในราคา 9 แสนบาท

“ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดี เพราะเขาบอกปล่อยขายแม่สงกรานต์อยู่ 1 ปี ไม่มีใครซื้อเลย จนผมไปเห็นลักษณะของเขา ก็สนใจมาก มีงวงใหญ่เป็นพิเศษ หูก็ใหญ่ ร่างกายสมส่วน เป็นช้างมีความซื่อสัตย์ ปกป้องเจ้านาย ถ้าเปรียบก็เป็นช้างในชั้นวรรณะระดับดี ซึ่งน่าจะเป็นช้างตัวเดียวในประเทศไทยที่มีสองหน้า ปกติช้างหน้าซ้ายและขวาจะเหมือนกัน แต่นี่ไม่เหมือนกันเลย ดังนั้น เขาต้องอยู่แบบถูกที่ ถูกลักษณะ และที่สำคัญ ไม่ใช่ช้างที่เอาไว้ให้คนขี่...ตอนเจอเขา ผมไปจับที่หน้างวง แล้วบอกเขาว่า ไปอยู่กับผม ไม่ต้องทำงานแล้วนะ ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ เป็นแม่สงกรานต์นะ”

คุณชเรถ่ายทอดความรู้สึกเมื่อแรกพบแม่สงกรานต์ในวันสงกรานต์ และดูเหมือนต่างฝ่ายต่างถูกชะตากัน ทำให้การเคลื่อนย้ายแม่สงกรานต์มายัง จ.กระบี่ เป็นไปอย่างราบรื่น

FG

พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงเป็นช้างอารมณ์ดี

พื้นที่ธรรมชาติราว 45 ไร่ของ Following Giants รายล้อมด้วยแปลงกล้วย แปลงหญ้า แปลงอ้อย แปลงมะพร้าว แปลงไม้ไผ่ มีสระน้ำอยู่ 3 สระ มีลำธารยาวประมาณ 800 เมตร  เพียงแค่ 3 วันแรก พฤติกรรมของแม่สงกรานต์ก็เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คุณชเรสามารถเข้าหาแม่สงกรานต์ได้ทั้งหน้ายักษ์ และหน้านางฟ้า โดยเขาเอาตัวเองและควาญช้างที่ปางทดสอบพฤติกรรมด้วยการเข้าไปสัมผัสใกล้ๆ ซึ่งหากเป็นเมื่อก่อน แม่สงกรานต์คงถลึงตา และเหลือกตาใส่ มองด้วยหางตาในแบบไม่ค่อยเป็นมิตร แต่ครั้งนี้ทุกคนกลับเข้าใกล้และสัมผัสได้แบบไม่ต้องกังวล รวมถึงพฤติกรรมของแม่สงกรานต์ที่กลับกลายเป็นช้างอารมณ์ดี เรียบร้อย นิสัยดี ไม่มีอาการเหวี่ยงหรือทำร้ายใคร

“นึกย้อนกลับไป เพื่อนผมเคยถามว่าไปซื้อทำไม ช้างดุ เคยทำร้ายคน ยิ่งมาอยู่กับนักท่องเที่ยว แล้วมาปล่อยเป็นอิสระแบบนี้ ยิ่งกลัวจะทำร้ายนักท่องเที่ยว แล้วควาญช้างก็เอาไม่อยู่ด้วย แต่พอได้มาอยู่ที่นี่ แม่สงกรานต์นิสัยเรียบร้อยมาก”

ชีวิตใหม่ที่เป็นอิสระ

ชีวิตใหม่ของแม่สงกรานต์ คือการปลดจากพันธนาการทุกอย่าง ไม่ต้องทำงานหนัก  สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ อยากเดินไปไหน อยากกินอาหาร อยากเล่นน้ำ หรืออยากแช่โคลน ก็ไม่มีใครมาบังคับ เพราะที่นี่ ปล่อยให้ “ช้าง” ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้อย่างที่ควรจะเป็น กิจวัตรประจำวันของแม่สงกรานต์ เริ่มต้นตั้งแต่ 8 โมงเช้า ควาญช้างจะพาออกไปกินอาหาร จากนั้นช่วงสายก็จะลงไปอาบน้ำ แล้วต่อด้วยสปาโคลนราว 15-20 นาที กลางวันช้างแต่ละตัวสามารถใช้เวลาตามอัธยาศัย พอตกเย็นช้างก็จะเดินกลับมากินอาหารที่เตรียมไว้ให้ และเตรียมเข้าโรงนอนแบบธรรมชาติ จึงทำให้ควาญช้างไม่ต้องเครียดหรือกังวลว่าช้างจะทำร้ายใครเลย 

“ตอนมาใหม่ๆ แม่สงกรานต์เป็นช้างที่เงียบ ชอบอยู่ตามลำพัง และไม่ค่อยแสดงออก เดาลักษณะอาการยากมาก เพราะช้างตัวอื่น ถ้าไม่ชอบก็จะโวยวาย ก้าวร้าวเลย แต่แม่สงกรานต์ อยู่นิ่ง ไม่แสดงอาการอะไรเลย ตอนแรกคิดว่า คงเพราะเข้าพื้นที่ใหม่ๆ แต่พอศึกษาไปสัก 1-2 เดือน เขาก็ยังมีลักษณะเหมือนเดิม เป็นช้างที่เงียบมีความคิดเป็นผู้ใหญ่ เวลาจะกินอาหาร เขาจะไปหอบอาหารด้วยงวงมาเลยและยืนกินตามลำพัง ถ้าเป็นช้างตัวอื่นจะดึงอาหารและกินอยู่ตรงนั้น เป็นอยู่ประมาณ 2 เดือน แต่ตอนนี้เข้าสู่เดือนที่ 4 ก็เริ่มเรียนรู้ที่จะเข้ากลุ่ม กินอาหารด้วยกันกับตัวอื่นๆ ”

คุณชเร เล่าถึงพฤติกรรมของแม่สงกรานต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่แม่สงกรานต์กำลังทำธุระส่วนตัว หากมีใครส่งเสียงดังหรือมีอะไรเคลื่อนไหว เธอจะหยุดทันที แล้วเดินหนีไปเลย ดังนั้นนักท่องเที่ยวจึงเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ ไม่มีการสัมผัส และป้อนอาหารช้าง เป็นการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบและใส่ใจในสวัสดิภาพสัตว์อย่างแท้จริง

“แม่สงกรานต์เป็นช้างที่ชอบความเป็นส่วนตัว และไม่ชอบให้ใครไปยุ่งกับเขา” แม้กระทั่งเพื่อนช้างด้วยกันก็ยากที่จะเข้าหาแม่สงกรานต์ อาจเพราะช่วงวัยสาว แม่สงกรานต์เคยถูกช้างพังด้วยกันกัดหางจนกลายเป็นบาดแผลในใจ ทำให้กลัวช้างด้วยกัน กระทั่งได้มาเจอเพื่อนใหม่อย่าง “แม่คำสูง” ช้างพังที่เพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในวันช้างโลก 12 สิงหาคม 2566

FG2

ความสุขเล็กๆ ในปาง Following Giants

แม่คำสูง เป็นช้างอีกตัวที่อยู่ที่ Following Giants พื้นเพเป็นช้างจาก จ.เชียงใหม่ อายุราว 42 ปี มีรูปร่างเล็กน้ำหนักเพียง 2.4 ตัน บริเวณบ่ามีผิวที่ด้านหนาชัดเจน น่าจะมาจากผลพวงของการแบกหามทำงานมาอย่างหนัก ซึ่งคุณชเร รับแม่คำสูงมาจากปางช้าง จ.ภูเก็ต ตลอดทั้งชีวิตแม่คำสูงเป็นช้างลากไม้ ผ่านความทุกข์ยาก และการย้ายถิ่นฐานอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่ เชียงใหม่ พัทลุง ปัตตานี  และยะลา (ที่ยะลา เธอเคยโดนช้างป่าบาลาฮาลาทำร้ายบาดเจ็บสาหัสบริเวณสะโพกด้านซ้าย) จนกระทั่งโคจรเข้ามาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต แม่คำสูงเป็นช้างที่ฉลาดและมีความสามารถ จึงถูกฝึกให้เป็นช้างขี่สำหรับบริการนักท่องเที่ยว แต่จะเชื่อฟังควาญที่ดูแลและผูกพันกันมาคนเดียวเท่านั้น หากเป็นควาญคนอื่นก็จะไม่ฟัง และทำร้ายด้วยเช่นกัน

“ปกติ ควาญช้างต้องอยู่กับเราเดือนนึงเพื่อทำความคุ้นเคย โดยเราจะนำควาญช้างมาทำความรู้จักกัน เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมา ที่แม่คำสูงเป็นช้างที่ชอบเข้าฝูง ตอนแรกก็กลัวๆ อยู่ แต่พอสักพัก เขาจะดมกลิ่น เช็คกัน สักพักเขาก็ส่งเสียงร้อง ควาญช้างก็บอกว่าเขาอยู่ได้แล้ว เดี๋ยวพรุ่งนี้ผมกลับเลย”

คุณชเร เล่าด้วยน้ำเสียงประหลาดใจกับพฤติกรรมของช้างน้องใหม่ที่สามารถเข้ากับควาญและช้างตัวอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะแม่ทองสุข ช้างพังรุ่นพี่วัย 49 ปีที่ไม่เคยจับคู่กับช้างเชือกไหน แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นเพื่อนคู่หูและเติมเต็มความสดใสมีชีวิตชีวาให้แก่กัน

ชีวิตที่ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอย่างเป็นอิสระ ทำให้แม่คำสูง มีพฤติกรรมร่าเริง กินอาหารได้มาก เดินเที่ยวเล่นได้ตามปกติ และเข้ากับควาญช้างของปางได้ดี คุณชเร ผู้ซึ่งคลุกคลีกับช้างและทำงานร่วมกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทยมานานหลายปี ให้ข้อมูลชัดเจนว่า

“ช้างที่เครียดและโดนบังคับให้ทำงานมาตลอดอายุขัย หรือช้างที่เคยทำร้ายคนมาก่อน จนคนหรือควาญไม่สามารถเข้าใกล้ได้ และไม่เป็นเป็นมิตร ตอนนี้เปลี่ยนพฤติกรรมไปเป็นคนละอย่างเลย การได้มาอยู่นี่ เขาได้ใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในบ้านโดยไม่ต้องทำงาน การให้ช้างได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุดผ่านโครงการปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมช้างที่มีความดุ ก้าวร้าวให้มีนิสัยดี เป็นมิตรกับทุกคน เพราะเขาไม่เครียดจากการทำงาน หรือโดนบังคับ เขาตัดสินใจได้ว่าอยากจะทำอะไร และสามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ มีปางช้างหลายปาง และควาญช้างหลายคนที่มาดูช้าง เขาบอกเหลือเชื่อเลย จริงๆ ด้วย ถ้าช้างไม่เครียดมันก็ไม่ทำร้ายคน”

และนี่คือตัวอย่างของการดูแลสวัสดิภาพของช้างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ปล่อยให้ “ช้าง” ได้ใช้ชีวิตในแบบที่เป็น “ช้าง” จริงๆ