
พินัยกรรม มี 5 แบบ มาทำความรู้จักกัน..
พินัยกรรม คือ คำสั่งครั้งสุดท้าย ซึ่งแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือ กิจการต่าง ๆ ของผู้ทำพินัยกรรม โดยพินัยกรรม มี 5 รูปแบบ ดังนี้
1.พินัยกรรมแบบธรรมดา
ผู้ทำต้องทำเป็นหนังสือ คือการพิมพ์ข้อความพินัยกรรมลงในกระดาษ มากน้อยหรือจำนวนกี่แผ่นก็ต้องแล้วแต่เนื้อหาหรือจำนวนทรัพย์สิน ลงวัน เดือน ปี ที่ทำให้ชัดเจน และผู้ทำต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน และพยานต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมในขณะทำด้วย
2.พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ
ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับ ลงวัน เดือน ปีที่ทำและที่สำคัญต้องลงลายมือชื่อผู้ทำด้วย พินัยกรรมแบบนี้จะมีพยานหรือไม่มีก็ได้
3.พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง
เป็นแบบพินัยกรรมที่ต้องอาศัยกระบวนการโดยเฉพาะที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งความประสงค์โดยให้ถ้อยคำข้อความของตนแก่นายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต พร้อมพยานอย่างน้อย 2 คน และจะอ่านข้อความให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง เมื่อเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนแล้ว ผู้ทำพินัยกรรมพร้อมพยานทั้งสอง ต้องลงลายมือชื่อไว้ ต่อจากนั้นเจ้าพนักงานจะลงลายมือชื่อ วัน เดือน ปี ที่ทำ พร้อมประทับตราตำแหน่ง
4.พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ
ผู้ทำพินัยกรรมทำพินัยกรรมแล้วปิดผนึก และนำไปแสดงต่อนายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อและพยานอีกอย่างน้อย 2 คน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดว่า เป็นพินัยกรรมของตน เจ้าหน้าที่จะบันทึกถ้อยคำลง วัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมแสดงไว้บนซองและประทับตราตำแหน่ง โดยผู้ทำพินัยกรรม พยานและเจ้าหน้าที่ต้องลงลายมือชื่อไว้หน้าซองตรงที่ปิดผนึก
5.พินัยกรรมทำด้วยวาจา
ใช้ในกรณีที่บุคคลอยู่ในอันตรายเสี่ยงแก่ความตายและไม่สามารถทำพินัยกรรมแบบอื่นได้ และต้องกระทำต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน เมื่อการทำพินัยกรรมด้วยวาจาสิ้นสุดลง พยานต้องแจ้งต่อนายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต ให้ทราบถึงข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจา วัน เดือน ปี สถานที่ทำพินัยกรรม และสาเหตุที่ไม่สามารถทำพินัยกรรมแบบอื่นได้โดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ การทำพินัยกรรมแบบที่ 1 และแบบที่ 2 ประชาชนสามารถทำได้ด้วยตนเอง ส่วนพินัยกรรมแบบที่ 3 – 5 สามารถยื่นคำร้อง ณ ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขต ได้ทุกแห่งทั่วประเทศ ข้อมูลอ้างอิง สำนักงานเลขานุการกรมการปกครอง