Antibiotic-Footprint-Calculator

สร้างความตระหนักหยุดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น “สืบรอยเท้ายาปฏิชีวนะในตัวคุณ”

ข่าว

หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด (MORU) ร่วมมือกับ กรีนพีซ ประเทศไทย และองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เปิดตัวเว็บไซต์ “สืบรอยเท้ายาปฏิชีวนะในตัวคุณ” หรือ Antibiotic Footprint – Individual Calculator

(https://www.antibioticfootprint.net/calculator/th) ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มแบบอินเตอร์แอคทีฟ ที่มีวัตถุประสงค์ให้คนสามารถเข้ามาเรียนรู้และลดปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น 

การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นจะนำไปสู่ปัญหาเชื้อดื้อยาซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก วิกฤตเชื้อดื้อยานั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตที่สำคัญในปัจจุบัน

รศ. ดร.นพ. ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า “เว็บไซต์ “สืบรอยเท้ายาปฏิชีวนะในตัวคุณ” หรือ Antibiotic Footprint – Individual Calculator เป็นการเรียนรู้ผ่านการเล่น (Play education) ที่ได้นําแนวคิดมาจากการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของบุคคล (Carbon Footprint Individual Calculator) นํามาปรับใช้เป็นการคำนวณการบริโภคยาปฎิชีวนะของแต่ละคน จากทั้งทางตรงและทางอ้อม

อาทิ จากการรับประทานยา และการบริโภคเนื้อสัตว์ ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์สามารถวัดขนาดรอยเท้ายาปฏิชีวนะของตนเอง และเปรียบเทียบรอยเท้ายาปฏิชีวนะกับของผู้อื่นทั้งในประเทศและผู้อื่นทั่วโลก ซึ่งการวัดรอยเท้ายาปฏิชีวนะและการอ่านข้อมูลบนเว็บไซต์ในขณะที่เล่น จะกระตุ้นให้ผู้เล่นเข้าใจถึงปัญหา และลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น”

Chokedee

ในทุกประเทศทั่วโลกที่มีการเปิดเผยปริมาณการบริโภคยาปฏิชีวนะทั้งในคนและในสัตว์อย่างเป็นทางการพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการบริโภคยาปฏิชีวนะมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยจากสถิติ คนไทยมีค่าเฉลี่ยในการบริโภคยาปฏิชีวนะมากถึง 38.56 กรัมต่อคนต่อปี

โดยเมื่อเทียบกับประเทศที่มีการบริโภคต่ำสุดได้แก่ประเทศเอสโตเนีย ที่ 5.74 กรัมต่อคนต่อปี เนเธอร์แลนด์ ที่ 6.57 กรัมต่อคนต่อปี และออสเตรีย ที่ 6.59 กรัมต่อคนต่อปี การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่ถูกต้องและมากเกินไป ทั้งจากการบริโภคของมนุษย์โดยตรง การทำปศุสัตว์ และการทำการเกษตร ล้วนเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา

โดยที่เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และปรสิต ที่ทำให้เกิดโรคจะหยุดการตอบสนองต่อยา ซึ่งเป็นเหตุให้การติดเชื้อทั่ว ๆ ไปที่เคยรักษาได้ผลดี กลับรักษาได้ยากยิ่งขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรค ทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรงขึ้น และเพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตได้

Chokedee

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ายาปฏิชีวนะมักจะถูกนำมาใช้ในฟาร์มปศุสัตว์อย่างเกินความจำเป็น โดยจากข้อมูลพบว่า ร้อยละ 30 ของการใช้ยาปฏิชีวนะทั่วโลกนั้นเกิดจากการบริโภคโดยตรงจากมนุษย์ ในขณะที่อีกร้อยละ 70 นั้นมาจากสัตว์ นี่คือข้อมูลที่ขาดหายไปในระบบอาหารของเราที่ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรับรู้ว่ามีอะไรอยู่ในอาหารของเราบ้าง และการหันมาศึกษาถึงแหล่งที่มาและวิธีการเลี้ยงของฟาร์มต้นกำเนิดก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์มาบริโภคจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่อยากให้ทุกคนหันมาให้ความสนใจ”

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “การใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินไปในฟาร์มอุตสาหกรรมได้สะท้อนให้เห็นถึงสวัสดิภาพสัตว์ที่ย่ำแย่ และยังส่งผลให้เกิดการตกค้างของยา และแบคทีเรียดื้อยาที่ถูกปล่อยออกสู่ภายนอกผ่านเนื้อสัตว์ แหล่งน้ำธรรมชาติ และสู่สิ่งแวดล้อมโดยรอบ เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในชุมชนเป็นวงกว้าง ดังนั้นเราจึงเรียกร้องให้มีการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มในสัตว์ฟาร์ม ตลอดจนยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ให้สูงขึ้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตออีกด้วย”

Chokedee

เว็บไซต์ “สืบรอยเท้ายาปฏิชีวนะในตัวคุณ” หรือ Antibiotic Footprint – Individual Calculator ได้รับทุนสนับสนุนจากกรีนพีซ ประเทศไทย  องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และมูลนิธิเวลคัม (สหราชอาณาจักร) โดยเว็บไซต์นี้จะเปิดตัวในช่วงงาน“สัปดาห์ความตระหนักรู้ เรื่องยาต้านจุลชีพโลกของประเทศไทย” ในระหว่างวันที่ 18-26 พฤศจิกายน 2564

สามารถชมเว็บไซต์ “สืบรอยเท้ายาปฏิชีวนะในตัวคุณ” ได้ที่ https://www.antibioticfootprint.net/calculator/th

 

 

หมายเหตุ

 

  • เว็บไซต์ “สืบรอยเท้ายาปฏิชีวนะในตัวคุณ”: www.antibioticfootprint.net/calculator
  • www.antibioticfootprint.net
    • D Limmathurotsakul, J A T Sandoe, D C Barrett, et al, ‘รอยเท้ายาปฎิชีวนะเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ช่วยลดการใช้ยาปฎิชีวนะ, Journal of Antimicrobial Chemotherapy, Volume 74, พิมพ์  8, สิงหาคม  2562, หน้า 2122–2127, https://doi.org/10.1093/jac/dkz185
  • 'Superbugs' หรือ แบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ กลายเป็นหัวข้อข่าวในสื่อมากมาย ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้เรื่องการดื้อยาปฏิชีวนะ และนำไปสู่แผนปฏิบัติการที่หลากหลายจากผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก อย่างไรก็ตาม คำศัพท์ที่ใช้กันทั่วไป เช่น "สงครามกับซูเปอร์บั๊ก: the war against superbugs " อาจทำให้ผู้คนเข้าใจผิดว่าเราต้องขอยาปฏิชีวนะ "ชนิดใหม่" หรือ "แรงกว่าเดิม" จากแพทย์เพิ่ม  เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีการวัดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างง่ายเพื่อสื่อสารกับประชาชน ซึ่งแนวคิดของ "สื่อรอยเท้ายาปฏิชีวนะในตัวคุณ" สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารให้สาธารณชนทราบถึงขนาดการใช้ยาปฏิชีวนะในมนุษย์ สัตว์ และอุตสาหกรรม และวิธีที่จะช่วยสนับสนุนการลดการใช้ยาปฏิชีวนะเกินขนาดและการใช้ในทางที่ผิดทั่วโลกได้