a chicken next to antibiotic pills

“เชื้อดื้อยา ภัยเงียบจากฟาร์มอุตสาหกรรม” ปัญหาระดับโลกเชื่อมโยงสวัสดิภาพสัตว์และสุขภาพคน

ข่าว

ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากแบคทีเรียดื้อยากว่า 700,000 คนต่อปี และในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 30,000 คน หรือ 1 คนในทุกๆ 15 นาที สถิติอันน่ากลัวนี้ พอที่จะทำให้คนไทยหันมาใส่ใจและตระหนักถึงอันตรายของเชื้อดื้อยาหรือยัง?

“เชื้อดื้อยา : ภัยเงียบใกล้ตัวจากฟาร์มอุตสาหกรรม” ปัญหาระดับโลกที่เชื่อมโยง สวัสดิภาพสัตว์และสุขภาพคน

ในกิจกรรมเสวนา “เชื้อดื้อยา : ภัยเงียบใกล้ตัวจากฟาร์มอุตสาหกรรม” ซึ่ง องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection - Thailand)  จัดขึ้นในงาน “Happy Meat Happy Me สัตว์อยู่ดี คนอยู่ได้” ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจาก ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์เฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา สุพจน์ สิงโตศรี ประธานเครือข่ายหมูหลุม ต.ดอนแร่ จ.ราชบุรี และ โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับประเด็นนี้

หากอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เชื้อดื้อยา คือ ภาวะที่เชื้อแบคทีเรียต่อต้านยาปฏิชีวนะ (Antibiotic Resistance)  ทำให้การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไม่ได้ผลดีดังเดิม อาจต้องใช้เวลารักษานานขึ้น เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาแพงขึ้น หรือผู้ป่วยอาจเสี่ยงเสียชีวิตมากขึ้น ซึ่งแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ หรือ “ซุปเปอร์บั๊กส์” ที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินความจำเป็นในฟาร์มอุตสาหกรรม ได้เข้ามาปนเปื้อนอยู่ในเนื้อสัตว์ และแหล่งน้ำ ตลอดจนสภาพแวดล้อมรอบๆ ฟาร์ม และเมื่อส่งมาถึงคนจะทำให้ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาคนมีประสิทธิภาพลดลงหรือเรียกอีกอย่างว่าอาการ “ดื้อยา”  ซึ่งนับเป็นปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ

“เชื้อดื้อยา : ภัยเงียบใกล้ตัวจากฟาร์มอุตสาหกรรม” ปัญหาระดับโลกที่เชื่อมโยง สวัสดิภาพสัตว์และสุขภาพคน

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล เริ่มต้นเปิดประเด็นเชื้อดื้อยาในฟาร์มอุตสาหกรรมว่า จากการทำงานขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย พบว่าปัจจุบันระบบการผลิตอาหารโดยเฉพาะเนื้อสัตว์เปลี่ยนไป ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การเลี้ยงสัตว์เปลี่ยนไปสู่ระบบอุตสาหกรรมเพื่อเร่งกระบวนการผลิตให้ทันต่อความต้องการ สัตว์ที่อยู่ในระบบฟาร์มอุตสาหกรรมถูกละเลยในเรื่องของสวัสดิภาพเพื่อให้เติบโตเร็วที่สุด และมีต้นทุนถูกที่สุด

“เราจะพบว่าระบบฟาร์มอุตสาหกรรม มีวิธีปฏิบัติหลายอย่างที่ขัดต่อหลักสวัสดิภาพสัตว์ ทำให้สัตว์ในฟาร์มทุกข์ทรมาน เช่นแม่หมู เขาจะมีหน้าที่แค่การผลิตลูก วิธีการจัดการ คือถูกขังในคอกเล็กๆ วันๆ มีหน้าที่กินและผสมพันธุ์ พอผสมพันธุ์ไม่ได้ก็จะถูกเชือด นั่นคือความทรมาน ลูกหมูก็ได้รับการปฏิบัติที่ย่ำแย่ เกิดมาไม่ถึง 72 ชม. ก็ถูกตัดตอนอวัยวะ การตัดฟัน การตัดหางหมู วิธีปฏิบัติแบบนี้เพื่อให้มันอยู่ได้ในระบบอุตสาหกรรม  และไม่สามารถแสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติได้  ไก่ก็เช่นเดียวกัน ถูกเลี้ยงในกรงตับที่ไม่สามารถกระพือปีกด้วยซ้ำ ไก่เนื้อก็ถูกเลี้ยงในพื้นที่จำกัด อยู่ในโรงเรือนปิด ไม่เห็นแสงธรรมชาติ พฤติกรรมไก่ ต้องคุ้ยเขี่ย กินหนอน แต่ไก่ในระบบอุตสาหกรรมทำไม่ได้ นั่นคือต้นตอของสวัสดิภาพสัตว์ที่โหดร้าย ด้วยวิธีการเลี้ยงแบบนี้ทำให้สัตว์เจ็บป่วยได้ง่าย ฟาร์มจึงใช้ยาปฏิชีวนะ เกินความจำเป็น เช่นผสมกับน้ำให้สัตว์กิน ป่วยไม่ป่วยก็ให้กินไว้ก่อนเพื่อป้องกันโรค มันคือต้นตอทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ทั้งนี้เราเคยสำรวจเนื้อหมูในซูเปอร์มาร์เก็ต พบว่ามีการปนเปื้อนเชื้อดื้อยาในเนื้อสัตว์ รวมถึงการสำรวจแหล่งน้ำในชุมชนใกล้ฟาร์ม ก็พบการปนเปื้อนสูง เหล่านี้คือการแพร่กระจายจากฟาร์มสู่ห่วงโซ่อาหาร ผ่านอาหาร คนงาน เนื้อสัตว์ หรือแม้กระทั่งสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้นเราพบว่าทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งเรื่องสวัสดิภาพสัตว์กับเรื่องสุขภาพของคน”

“เชื้อดื้อยา : ภัยเงียบใกล้ตัวจากฟาร์มอุตสาหกรรม” ปัญหาระดับโลกที่เชื่อมโยง สวัสดิภาพสัตว์และสุขภาพคน

ด้าน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี  เปิดเผยว่า เชื้อดื้อยากลายเป็นประเด็นสำคัญของโลก และ องค์การอนามัยโลก ตลอดจนหน่วยงานด้านสาธารณสุขในหลายประเทศได้หยิบยกมาพูดถึงมากขึ้น เนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมควรตระหนัก

“เพราะเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงและเป็นปัญหาใหญ่มาก แต่ประชาชนยังมองเป็นเรื่องไกลตัว เนื่องจากมันไม่ได้ทำให้เสียชีวิตทันที และที่สำคัญคือการสื่อสารน้อยมาก คนก็เลยไม่มีความรู้และไม่ตระหนัก นอกจากนี้การเห็นปัญหาในเชิงนโยบายก็ยังไปไม่ถึง แล้วประชาชนเองก็ยังห่างไกลจากความเข้าใจในการเลือกซื้ออาหาร ยังไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเราควรจะรู้แหล่งที่มาของอาหาร และไม่มีทางเลือก การทำให้มีตลาดที่ดี จะเป็นการช่วยทั้งผู้บริโภคและเกษตรกร เพราะระบบตลาดเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ที่ไม่สามารถมีตลาดที่มีคุณภาพและราคาไม่แพงให้ประชาชนเข้าถึงอาหารที่ดีได้”

ผู้จัดการศูนย์เฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กล่าว

ส่วนการใช้ยาปฏิชีวนะในระบบปศุสัตว์นั้น ผศ.ภญ.นิยดา ให้ความเห็นว่า

“เป้าหมายแรก ยาใช้กับคน จนกระทั่งฟาร์มปศุสัตว์ที่มีปัญหาก็อยากรักษาและป้องกัน จึงมีการนำไปใช้ จากเดิมที่อาจจะใช้เป็นตัวกระตุ้นการเจริญเติบโต เพราะสัตว์ที่ตัวโต ตัวใหญ่จะขายได้ดี โดยการให้ยาปฏิชีวนะน้อยๆ ซึ่งมันจะไปปรับจุลินทรีย์ทำให้ไก่ตัวโตเร็วขึ้น ตอนหลังพอทำให้เกิดปัญหา หลายประเทศจึงห้ามใช้ จนมีการนำยาปฏิชีวนะในการรักษาอาการบาดเจ็บ หรืออาการป่วงของสัตว์ ซึ่งเขาก็จะให้กันล่วงหน้า ใส่ในน้ำในอาหาร เนื่องจากเขาทำเป็นระดับอุตสาหกรรม คือเลี้ยงจำนวนมาก เกษตรกรก็อาศัยฉีดพ่นไปทั่ว ผสมอาหารก็จะอาศัยผสมอาหารให้สัตว์กินไปทีเดียว อ้างว่าเพื่อการรักษาป้องกันโรคไว้ก่อน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เราเริ่มเจอเชื้อดื้อยาในระบบปศุสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น หมู ไก่ ประมง และขยายไปสู่พืชผักชนิดอื่น ซึ่งเราพบยาปฏิชีวนะตกค้าง สารพันธุกรรมตกค้าง เชื้อดื้อยาตกค้าง นอกจากนี้ยังพบในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ดังนั้นระบบอาหารจึงเป็นเรื่องใหญ่มากที่ทุกคนเป็นห่วง”    

“เชื้อดื้อยา : ภัยเงียบใกล้ตัวจากฟาร์มอุตสาหกรรม” ปัญหาระดับโลกที่เชื่อมโยง สวัสดิภาพสัตว์และสุขภาพคน

ด้าน สุพจน์ สิงโตศรี อดีตสัตวบาล ที่เคยทำงานในฟาร์มปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรม สำหรับหน้าที่ของสุพจน์ในขณะนั้นคือ ต้องคอยฉีดวัคซีน และฉีดยารักษาโรคแก่หมูในฟาร์ม ทำเช่นนี้ทุกวันทุกสัปดาห์ จนกระทั่งพบว่าตนเองมีอาการไอ จาม ต่อเนื่อง และบางครั้งไอเป็นเลือด จึงต้องขอย้ายไปอยู่แผนกอื่น ก่อนจะหันหลังให้ฟาร์มอุตสาหกรรม และเริ่มทำฟาร์มหมูหลุมของตัวเองที่ ต.ดอนแร่ จ.ราชบุรี

“ประมาณปี 2548 ชาวบ้านเขาตามภรรยาผมไปทำคลอดหมู ผมจึงตามไปด้วย พอเข้าไปถึงก็พบว่าฟาร์มหมูที่ชาวบ้านเลี้ยงไม่มีกลิ่นเลย ผมก็ถามว่าเขาเรียนรู้จากที่ไหน เขาบอกเรียนกับอ.โชคชัย สารากิจ ที่ศูนย์การเรียนรู้การพัฒนายั่งยืน จ.เชียงราย ผมก็ตามไปดูเพื่อเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงหมูที่ไม่มีกลิ่นก่อน จากนั้นจึงนำแนวคิดการเลี้ยงหมูโดยไม่มีกลิ่น และลดต้นทุนโดยใช้หยวกหมักเป็นอาหารมาพัฒนาต่อ เพื่อพิสูจน์ว่าถ้าเราเลี้ยงหมูโดยไม่เป็นระบบอุตสาหกรรม แต่ผลิตได้แบบระบบอุตสาหกรรม โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเลยจะสามารถเลี้ยงได้หรือเปล่า เราก็เลยทดลองโดยนำลูกหมูของเราเอง แล้วสร้างฟาร์มที่มีวัสดุรองพื้นโดยใช้แกลบซึ่งหาได้ง่าย แล้วนำจุลินทรีย์ท้องถิ่นมาราด ปรากฏว่า หมูอยู่ได้ โดยไม่มีกลิ่นเหม็นและไม่มีน้ำเสียเลย”

ประธานหมูหลุมแห่งประเทศไทย เผยถึงจุดพลิกผันที่หันมาทำฟาร์มหมูชีวภาพ 

นอกเหนือจากวัสดุรองพื้นจากธรรมชาติที่สามารถดูดซับน้ำที่ใช้กับหมู 3-5 ลิตรต่อตัวต่อวัน ซึ่งทำให้ไม่เกิดน้ำเสียปล่อยออกจากฟาร์มแล้ว ความนุ่มและยืดหยุ่นของวัสดุ ยังทำให้หมูสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข กีบเท้าไม่แตกหรือเป็นแผล ส่งผลให้หมูอารมณ์ดี และไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรค ขณะเดียวกันจุลินทรีย์หมักที่ใช้สำหรับพ่นในคอกทุกสัปดาห์ ยังช่วยขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ แมลงวัน และป้องกันโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหมู โดยเฉพาะโรคผิวหนังได้เป็นอย่างดี

“หมูมีอาวุธอยู่ 2 อย่างคือ จะงอยปาก กับ กีบ ซึ่งในระบบฟาร์ม มันจะไม่สามารถแสดงออกพฤติกรรมทางธรรมชาติได้เลย เพราะระบบฟาร์มคือเป็นพื้นปูน ปัญหาคือ เขาไม่สามารถขุดพื้นปูนได้ ที่สำคัญคือ หมูมีปัญหาเรื่องกีบ ข้อบวม ระบบฟาร์มต้องการให้หมูโตเร็ว แต่ขามันรับน้ำหนักไม่ไหว ดังนั้น สารที่ผสมในสูตรอาหาร เขาจะใช้ฟอสฟอรัสผสมในอาหาร และฉีดยาเพื่อรักษาอาการอักเสบ แต่สำหรับหมูหลุมไม่ต้อง เพราะเขายืนได้ เมื่อมันยืนในพื้นที่นิ่มได้ เขาไม่จำเป็นต้องสร้างกล้ามเนื้อที่เหนียว ขาก็ไม่อักเสบ กีบไม่แตก และไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

นอกจากนี้หมูหลุมไม่จำเป็นต้องตัดหาง หางจะเป็นตัววัดพฤติกรรมความเครียด ในระบบฟาร์มถ้าไม่ตัดหาง เขาจะวิ่งไล่กัดหางกัน ทำให้เกิดบาดแผล และทำให้ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่สำรับหมูหลุมที่อยู่ในพื้นที่นุ่ม เขาไม่มีความเครียด ที่สำคัญหมูหลุมของเราไม่มีการใช้เข็มฉีดยาเลย เรามีคอนเซ็ปต์ว่า คอหมูต้องไม่เจอเข็ม”

สุพจน์ กล่าวและย้ำการเลี้ยงหมูหลุมที่คำนึงถึงสวัสดิภาพ โดยมีพื้นที่ไม่แออัด และสัตว์สามารถแสดงพฤติกรรมอย่างเป็นธรรมชาติได้

Pigs crowded in industrial farming pens look onto the camera

จะเห็นได้ว่า การพัฒนาและยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มระบบอุตสาหกรรมจึงเป็นทางออกในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน การจัดสภาพแวดล้อมอย่างเหมาะสมให้สัตว์ได้อยู่อย่างไม่แออัด และเอื้อต่อการแสดงพฤติกรรมได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่ตัดตอนอวัยวะ เช่น การตัดหาง หรือการตอนสดกับลูกหมู หรือแม้แต่การคัดเลือกสายพันธุ์ไก่ที่โตช้าลง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้สัตว์ในระบบฟาร์มอุตสาหกรรมมีสุขภาพกายและใจที่ดีขึ้น และลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินความจำเป็น อันจะส่งผลกระทบต่อสัตว์ คนและสิ่งแวดล้อม