ปฐม ออร์แกนิก

“ปฐม ออร์แกนิก” เชื่อมโยงเครือข่ายเกษตกรสู่ผู้บริโภค เพื่อสุขภาพดีอย่างยั่งยืน

ข่าว

ทายาทรุ่นที่สาม “สวนสามพราน” ผู้ก่อตั้ง Patom Organic Living คุณฟี่-อนัฆ นวราช กับภารกิจปลายน้ำที่นำผลผลิตจากเกษตรกรเครือข่าย “สามพรานโมเดล” มายกระดับให้เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก พร้อมขยายฐานสู่ผู้บริโภคให้กว้างขึ้น นอกจากนี้ยังต่อยอดความร่วมมือกับ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ในการพัฒนาอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากฟาร์มที่ส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน

ปฐม ออร์แกนิก

จากสามพรานโมเดล สู่ ปฐม ออร์แกนิก

จากจุดเริ่มต้นของสวนสามพราน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรมไทยตั้งแต่ปี 2505 สู่ยุคปัจจุบัน สวนสามพราน พัฒนากลายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้จากการสะสมประสบการณ์ในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และได้ริเริ่มการขับเคลื่อนระบบอาหารยั่งยืน ภายใต้ “สามพรานโมเดล” โครงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเครือข่ายเกษตรกรและผู้บริโภคด้วยการผลิตพืชระบบอินทรีย์ ที่มี คุณโอ-อรุษ นวราช เป็นผู้บุกเบิกกับแนวคิดธุรกิจเกื้อกูลสังคม โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์และทุกภาคส่วนบนฐานของการค้าที่เป็นธรรม ในขณะที่น้องชาย คุณฟี่-อนัฆ นวราช ช่วยขยายฐานให้กว้างขึ้นด้วยการนำวัตถุดิบของเกษตรกรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก และก่อตั้งแบรนด์ “Patom Organic Living” (ปฐม ออร์แกนิก ลิฟวิ่ง) คาเฟ่สายเขียวที่ตั้งอยู่ภายในสวนสามพราน จ.นครปฐม และใจกลางเมืองย่านทองหล่อ จ.กรุงเทพฯ

“เราขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์มาเป็นสิบปีในนามของสามพรานโมเดล และมูลนิธิสังคมสุขใจ โดยพี่ชายผมเป็นคนเริ่มต้น (อรุษ นวราช) ส่วน ปฐม ออร์แกนิก เกิดขึ้นเมื่อเรามีวัตถุดิบจากเกษตรกรจำนวนมากขึ้น เราก็เลยนำวัตถุดิบ อาทิ  ผัก ผลไม้ มาแปรรูปเป็นของกินของใช้ ที่สำคัญคือสามารถเชื่อมโยงถึงต้นน้ำได้ รู้ว่าใครเป็นคนปลูกใครเป็นคนผลิต ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจมากขึ้น”

คุณฟี่ ทายาทรุ่น 3 สวนสามพรานกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการต่อยอดผลิตภัณฑ์ในเครือข่ายเกษตรกรในกลุ่มสามพรานโมเดลที่มีมากถึง 200 ราย

ทุกๆ วันเสาร์-อาทิตย์ เครือข่ายเกษตรอินทรีย์จะนำสินค้าที่ผลิตได้มาจำหน่ายถึงมือผู้บริโภค ณ ตลาดสุขใจ จ.นครปฐม นอกจากนี้ยังเกิดการรวมตัวของผู้ประกอบการและผู้บริโภค ในนามสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย หรือ TOCA (Thai Organic Consumer Association) เพื่อเชื่อมโยงคนทั้งห่วงโซ่ คือ เกษตรกรอินทรีย์ ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ให้มารู้จักกัน โดยเฉพาะผู้บริโภค ที่ TOCA  จะมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับให้ผู้บริโภคมีความรู้ มีความเข้าใจ และมามีส่วนร่วมเป็น Active Consumers รวมถึงมีการอัพเดทข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์ ตลอดจนช่วยบริหารจัดการ TOCA Platform เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งอาหารอินทรีย์ ซื้อผลผลิตตรงจากเกษตรกร หรือจองทริปท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ เป็นต้น

“ปัจจุบัน TOCA Platform อาจจะเชื่อมโยงกับ B2B (Business-to-Business) อย่างเดียว แต่อนาคตจะทำกับ B2C (Business-to-Customer) ด้วย โดยเครือข่ายสามารถนำผลิตภัณฑ์ขึ้นบนแพลทฟอร์มนี้ แล้วคนซื้อก็สั่งผ่านแพลทฟอร์มได้โดยตรง”

ผู้ก่อตั้ง ปฐม ออร์แกนิก กล่าวถึงแพลทฟอร์มที่กำลังพัฒนาเพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น  

ปฐม ออร์แกนิก

ภารกิจต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

หากสามพรานโมเดล คือภารกิจต้นน้ำ ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร การปลูกพืช และการสรรหาวัตถุดิบคุณภาพ “ปฐม” ย่อมเป็นเสมือนผู้ทำหน้าที่ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์อินทรีย์เหล่านั้นส่งไปยังผู้บริโภค และหาช่องทางการจำหน่าย ซึ่งทุกอย่างล้วนขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยคุณฟี่ กล่าวว่า

“แม้เกษตรกรจะปลูกผลผลิตออกมาจำนวนมาก แต่หากไม่มีช่องทางการตลาด สินค้าก็ไม่ไปไหน สามพรานโมเดล ทำให้เกษตรแข็งแรงขึ้นและมีมาตรฐานที่ดีขึ้น ส่วนปฐมจะเป็นตัวเชื่อมผู้บริโภคให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านั้นในรูปแบบต่างๆ ได้มากขึ้น”

ทั้งนี้สินค้าภายใต้แบรนด์ ปฐม ออร์แกนิก มีทั้งอาหารและของใช้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ สบู่ แชมพูสระผม เจลแอลกอฮอลล์ ซึ่งยึดการปลูกตามหลักมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ ของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือ IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) และผลิตตามมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ในอนาคตอันใกล้จะมีอาหารแปรรูปที่ใช้วัตถุดิบหมู และไก่ คุณภาพจากฟาร์มที่ส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) จำหน่ายด้วย  

“ความเปลี่ยนแปลง คือสิ่งสำคัญ ที่เราต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เปลี่ยนทั้งผู้ผลิต เปลี่ยนทั้งผู้บริโภค เพราะทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการมีสุขภาพที่ดี ฉะนั้นถ้าเรายกระดับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มได้ หรือเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ที่มาจากฟาร์มที่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ก็จะทำให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้นได้”

การเปลี่ยนแนวความคิดเกษตรกรจากที่เคยทำมาสมัยอดีต อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ อาจต้องใช้เวลาและการดูแลมากกว่า ดังนั้นการทำให้เกษตรกรเห็นถึงความต้องการของผู้บริโภค และช่องทางการจำหน่าย ย่อมทำให้เกิดกำลังใจและแรงผลักดันในการเปลี่ยนแปลง โดยผู้บริหารหนุ่ม เผยว่า

“ความยากของต้นน้ำคือ เกษตรกรมีความไม่แน่ใจ บางคนก็ลังเล ซึ่งเราเองมีฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่สามพรานเหมือนกัน ก็เห็นความยาก แต่สุดท้ายแล้ว คือมันมีความปลอดภัยมากกว่า และเกษตรกรก็ได้รับรายได้เต็มๆ ส่งตรงถึงผู้บริโภคได้  ส่วนปัญหาของปลายน้ำที่ผมเจอ อาจเป็นความเข้าใจของผู้บริโภค ในการเลือกใช้ คนที่เข้าใจหรือมาสายสุขภาพที่ต้องการของดี เขาก็จะเข้าใจอยู่แล้วว่านี่คือของที่เชื่อมโยงกัน แต่บางคนก็อาจไม่เข้าใจ เราจึงพยายามขับเคลื่อนทำให้เข้าใจมากขึ้น ทุกคนห่วงสุขภาพตัวเองอยู่แล้ว ไม่ใช่พอไม่สบายแล้วหันมากินอาหารที่ปลอดภัย”

ปฐม ออร์แกนิก

พัฒนาอาหารแปรรูปจากวัตถุดิบส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์

ล่าสุด องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้ทำงานร่วมกับสามพรานโมเดล ด้วยการสนับสนุนและร่วมขับเคลื่อน High Welfare Meat หรือผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่มาจากฟาร์มที่ส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งคุณฟี่เล่าถึงความเชื่อมโยงในการทำงานว่า

“ในส่วนของต้นน้ำ เรามีเกษตรกรเครือข่ายหลายท่านที่ทำงานร่วมกัน อย่างฟาร์มคิดดี หรือ คุณสุพจน์ จากฟาร์มหมูหลุมดอนแร่ จ.ราชบุรี  ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสามพรานโมเดล ก็เลยคุยกันว่า ในเมื่อเขาทำเรื่องสัตว์อยู่แล้ว เราก็นำแนวทางขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ซึ่งมีกฎเกณฑ์ที่ดีอยู่แล้วให้เขานำไปใช้เพื่อเป็นมาตรฐานที่ดีขึ้น นั่นเป็นภารกิจต้นน้ำที่พี่ชายผมไปดำเนินการและทดลองด้วยกัน เพื่อให้ได้ High Wellfare Meat ที่ดี ถ้าเรามีตรงนี้ ผู้บริโภคก็ได้ของกินที่ดีขึ้น และมั่นใจได้ว่าว่าวัตถุดิบเหล่านั้นมาจากที่ไหน 

ในขณะที่ ‘ปฐม’ เอง เป็นปลายน้ำ พอเรามีผักผลไม้ และเนื้อสัตว์ที่ดีแล้ว ก็นำวัตถุดิบเหล่านี้มาทำอาหารแปรรูปเป็น High Wellfare Meat ที่ส่งตรงถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น หาซื้อได้ง่ายขึ้น ตรงนี้เป็นการเริ่มต้นจากกลุ่มที่เราทำ พอมีวัตถุดิบที่ดีมากขึ้น เราก็สามารถนำมาทำของกินที่มากขึ้นได้”

ทั้งนี้ คุณฟี่ ได้วางแผนทำ Plant-based (อาหารจากพืช) ที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่าวัตถุดิบนั้นมาจากแหล่งไหน ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาว่าพืชผักชนิดไหนที่จะนำมาทำเป็นอาหาร Plant-based ได้ พร้อมกันนี้ยังเตรียมพัฒนาอาหารแปรรูป ที่นำวัตถุดิบจากฟาร์มปศุสัตว์เครือข่ายที่ใส่ใจในสวัสดิภาพสัตว์ โดยคาดว่า เมนูอาหารเหล่านี้จะออกจำหน่ายในปีหน้า

“สำหรับกลุ่มลูกค้า B2C เราอาจจะทำอาหารแช่แข็งที่เข้าไมโครเวฟได้ โดยเรามีพาร์ทเนอร์ทำด้านนี้อยู่ เมนูหนึ่งเป็น Plant-based อีกเมนูเป็นอาหารที่มาจากฟาร์มที่มีสวัสดิภาพสัตว์ดี ส่วนบรรจุภัณฑ์ก็จะมีรายละเอียดขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก มีที่มาที่ไปจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ เราอยากทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย เพราะชีวิตคนกรุงเทพฯ ต้องการความเร่งรีบ แทนที่จะไปซื้ออาหารแช่แข็งอื่นๆ ก็มาซื้อจากเรา ทั้งยังได้ช่วยเหลือเกษตรกรด้วย ซึ่งพอเป็นอาหารแช่แข็งผมว่าการจัดการน่าจะง่ายขึ้น และจากนั้นจึงค่อยขยายเป็น B2B ซึ่งคิดว่าจะขายประมาณปี 2566”

ปฐม ออร์แกนิก

มนุษย์กินเนื้อสัตว์มากกว่าผักเสียอีก

แม้ผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจละเลยประเด็นสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มที่ถูกนำมาเป็นอาหาร หรือขาดความเข้าใจอย่างแท้จริง ดังนั้นการที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ออกมาให้ข้อมูลและสร้างการรับรู้แก่สังคมในวงกว้าง ย่อมจุดประกายให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของอาหารและใส่ใจในสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น

“ในเมื่อมนุษย์กินเนื้อสัตว์มากกว่ากินผักเสียอีก”

คุณฟี่ กล่าว

“ถึงเราจะเลี้ยงเขาเพื่อกิน ผมเชื่อว่าถ้าสัตว์มีความสุข คุณภาพชีวิตเขาและคุณภาพชีวิตเราก็จะดีด้วย เมื่อก่อนก็ไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้ แต่พอมาได้คุยกับ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และทำโครงการด้วยกัน ก็ทำให้เราฉุกคิดว่า ตรงนี้มันสำคัญ ปฐมสนับสนุนและร่วมขับเคลื่อนสามพรานโมเดล ทำให้เราได้เห็นฟาร์มไก่ที่เป็น free range คือเลี้ยงปล่อยแบบอิสระ หรือฟาร์มหมูหลุม เราก็เห็นว่ามันดี เนื้อของเขามันก็ดีกว่าจริงๆ และยิ่งผมมีลูก ผมก็ไม่อยากให้ลูกกินไก่ที่มียาปฏิชีวนะเยอะ มันไม่ใช่เลี้ยงเขาดี แล้วเราไม่ได้สิ่งที่ดีด้วย มันส่งผลต่อผู้บริโภคแน่ๆ”

ไม่เพียงการส่งต่อความคิดในการดำเนินธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมจากรุ่นสู่รุ่น แต่ทายาทรุ่น 3 “สวนสามพราน” ยังสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ของระบบอาหารอย่างยั่งยืนรวมทั้งให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ที่ถูกนำมาเป็นอาหารอีกด้วย

สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ของระบบอาหารอย่างยั่งยืน