Tan-Khun Farm

“แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม” ต้นแบบฟาร์มออร์แกนิค 4 ภาค

ข่าว

ต้นแบบชาวนาที่มีแนวคิดไม่ธรรมดาของ อำนาจ เรียนสร้อย ทำให้ “แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม” ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในฐานะผู้ผลิตไข่ไก่ออร์แกนิคและเนื้อไก่ ที่มีคุณภาพปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะและปลอดภัย มั่นใจได้

นอกเหนือจากการทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ ที่ให้ความสำคัญกับผืนดิน สวัสดิภาพสัตว์และผู้คนในห่วงโซ่ของฟาร์มแล้ว เป้าหมายสำคัญของอำนาจ ยังวางไว้ไกลกว่านั้น...เขาตั้งใจขยายโมเดล แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม ด้วยการสร้างระบบนิเวศน์ของชุมชนเกษตรอินทรีย์ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเพื่อหวังให้เกษตรกรรายย่อยสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน

Tan-Khun Farm

แนวคิดแบบ Circular System ของแทนคุณ

อำนาจ เกิดในครอบครัวชาวนาที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม เรียนจบปริญญาตรี และปริญญาโทจากคณะเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน ก่อนหันมาเริ่มต้นทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่บ้านเกิด เขาเคยผ่านประสบการณ์ทำงานด้านปศุสัตว์กับบริษัทเอกชนที่ประเทศจีนมาก่อน โดยแนวคิดการก่อตั้งแทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม เกิดจากความต้องการที่จะสร้างระบบเกษตรให้เป็น Circular System หรือระบบหมุนเวียน ที่สามารถส่งต่อทรัพยากรให้แก่คนรุ่นหลังโดยไม่เสื่อมคุณค่า และตอบโจทย์ในเรื่องความยั่งยืน

“เรามองว่า รูปแบบการทำเกษตรใดที่จะทำให้เราเป็นเกษตรกรที่พึ่งพาตัวเองได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเกษตรกร ที่ส่งมอบผืนดิน ผืนน้ำให้รุ่นหลังอย่างมีคุณค่า ไม่ใช่ส่งมอบผืนดินที่ตายแล้ว จึงตัดสินใจปลูกข้าวแบบออร์แกนิค พอเราต้องการพึ่งพาตัวเอง เราต้องสีข้าวสารขายเอง มันก็เกิดรำข้าว ปลายข้าว แกลบ จึงเป็นจุดตั้งต้นที่ทำให้เกิด Circular Economy โดยใช้ฟาร์มไก่ มารับช่วงต่อจากการทำนาข้าว บวกกับความรู้เรื่องเกษตรโดยตรงเราก็ได้เห็นว่า สิ่งที่เป็นจุดอ่อนของปศุสัตว์มีเยอะมาก เนื่องจากเป็นระบบการผลิตอาหารที่ใช้ทรัพยากรสูงที่สุด ถ้าเทียบกับพืชผัก ผลไม้ ข้าว เพราะต้นทุนการผลิตสัตว์ มาจากอาหารสัตว์ 70-80 เปอร์เซ็นต์

เราพบว่า รูปแบบการผลิตสัตว์แบบทั่วไป ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชีวิตผู้คนจำนวนมาก ถ้าเรามาทำปศุสัตว์ทางเลือก หรือปศุสัตว์อินทรีย์ ก็น่าจะแก้ปัญหาสิ่งต่างๆ ได้ไม่มากก็น้อย”

อำนาจ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของแทนคุณฟาร์มที่ก่อตั้งขึ้นราว 7 ปีก่อน ซึ่งถือเป็นฟาร์มแรกๆ ของเมืองไทยที่จุดประกายเรื่องการทำฟาร์มปศุสัตว์อินทรีย์จนประสบผลสำเร็จในปัจจุบัน

Tan-Khun Farm

ปศุสัตว์อินทรีย์เต็มรูปแบบ

แนวทางการเลี้ยงสัตว์แบบปศุสัตว์อินทรีย์ ปัจจัยสำคัญคือการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare5 ประการ ซึ่งประกอบด้วย อิสระจากความหิวกระหาย, อิสระจากความไม่สบายกาย, อิสระจากความเจ็บปวดและโรคภัย, อิสระจากความหวาดกลัวและความเครียด และ อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติที่ควรเป็น หรืออธิบายง่ายๆ แบบให้เห็นภาพ การเลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อและเป็ดไข่ของที่นี่ มีโรงเรือนกว้างขวางให้ไก่อยู่แบบไม่แออัด ไก่ 5 ตัวต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ด้านนอกโรงเรือนเป็นพื้นที่เปิดโล่งให้ไก่ได้ออกมาเดินเล่น คุ้ยเขี่ยหาอาหารหนอนแมลงหรือจิกกินใบพืชที่ขึ้นตามธรรมชาติ ไก่จึงสุขภาพดี อารมณ์ดี ไม่เครียด ในขณะที่อาหารของไก่ ล้วนเป็นผลผลิตที่เกิดจากฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็น แกลบ ปลายข้าว รำข้าวที่ได้จากการสีข้าวอินทรีย์ซึ่งไม่มีสารเคมีเจือปน เสริมด้วยส่วนผสมอื่น อย่างข้าวโพดที่ปลูกแบบอินทรีย์ มันสำปะหลังที่ปลูกเอง รวมถึงผลพลอยได้จากสัตว์น้ำจากโครงการประมงพื้นบ้านสัตว์น้ำอินทรีย์ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน อีกทั้งเครือข่ายเกษตรกรปลูกพืชไร่อินทรีย์ในห่วงโซ่ Supply Chain ผลผลิตทั้งไข่ไก่ เนื้อไก่ และไข่เป็ด จึงมีคุณภาพและปลอดภัยอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ฟาร์มขนาดพื้นที่ 9 ไร่ใน อ.บางเลน จ.นครปฐม นอกเหนือจากการปลูกข้าวและพันธุ์พืชต่างๆ แล้ว ยังถูกแบ่งสรรปันส่วนไว้สำหรับการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ไก่ไข่ และเป็ดไข่ รวมถึงไก่เนื้อพันธุ์พื้นบ้าน ส่วนฟาร์มแห่งที่สองใน จ.กาญจนบุรี นั้นมีขนาดใหญ่กว่าบางเลน 3 เท่า เน้นผลิตไก่เนื้อพันธุ์พื้นบ้าน ไก่เนื้อพันธุ์ลูกผสม และไก่ไข่ ซึ่ง แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์มได้มาตรฐานรับรองจากกรมปศุสัตว์ทั้งฟาร์มปศุสัตว์อินทรีย์ และ Eco-farming (ฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) ซึ่งมีเพียงไม่กี่ฟาร์มในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันในจังหวัดใกล้เคียงจนสามารถส่งผลผลิตออกสู่ตลาด อาทิ ไก่ไข่  8,000-10,000 ฟองต่อสัปดาห์  เนื้อไก่จำนวน 500 ตัวต่อสัปดาห์ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ อาทิ ลูกชิ้นไก่ ไส้กรอกไก่ โดยมีลูกค้าหลักอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นลูกค้าทั่วไปในจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เขาหันมาเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้บริโภคตัวจริงมากกว่า จึงทำให้ยอดขายดีขึ้นและสามารถจำหน่ายในราคาที่ดีขึ้นด้วย

Tan-Khun Farm

เริ่มจากผู้บริโภคเปลี่ยนการกิน... สุดท้ายการกินเปลี่ยนโลกได้

ในระยะ 2-3 ปีมานี้ เทรนด์การดูแลสุขภาพของผู้บริโภคมีมากขึ้น ผู้บริโภคให้ความสนใจกับข้อมูลของแหล่งผลิตอาหาร และให้ความสำคัญกับที่มาของวัตถุดิบ ระบบการเลี้ยง รวมถึงการผลิต สิ่งเหล่านี้ย่อมถือเป็นข้อมูลที่เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เพราะอย่างน้อยผู้บริโภคมีโอกาสและทางเลือกในการตัดสินใจมากขึ้น ในฐานะผู้ผลิตสินค้าออร์แกนิค จึงเป็นเรื่องดีหากการส่งต่อข้อมูลเหล่านี้จะไปถึงผู้บริโภคในหลากหลายช่องทาง โดยอำนาจย้ำจุดยืนในการเคารพการตัดสินใจของผู้บริโภค เพราะสิ่งที่เขาตั้งใจนำเสนอ คือการถ่ายทอดประสบการณ์และความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภครับรู้สิ่งที่ถูกต้องโดยไม่บิดเบือน

“เราก็เคยทำการทดลองหลายๆ อย่าง เช่นเอาไก่พันธุ์เดียวกับที่อุตสาหกรรมเลี้ยง มาเลี้ยงในแบบของเรา แค่ไก่พันธุ์เดียวกัน รูปแบบการเลี้ยงต่างกัน อาหารต่างกัน ทำให้ได้เนื้อสัมผัส ความเหนียวนุ่ม ความชุ่มฉ่ำ แตกต่างกัน เนื่องจากเราทำงานกับเชฟหลายๆ คน เขาก็จะบอกว่าไก่เรามีความ Juicy มากกว่า แล้วรสชาติชัดเจน ทานได้โดยไม่ต้องปรุงอะไรเยอะ เรียกว่าเป็น Real Food Life Force ที่ใส่แค่เกลือก็สามารถดึงรสชาติของวัตถุดิบออกมาได้แล้ว ซึ่งอันนั้นก็เป็นทางกายภาพ ส่วนอีกด้านก็เป็นเรื่องทางความรู้สึก ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนที่ทานได้ฟังเรื่องราว หรือรูปแบบการเลี้ยงแบบนี้ ซึ่งเป็นที่มาทำให้เกิดเป็น Chef’s table ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง ฟาร์มเมอร์ และเชฟ”

เจ้าของแทนคุณฟาร์ม อธิบายให้เห็นถึงผลผลิตที่มีคุณภาพซึ่งแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ของท้องตลาดทั่วไป เช่นเดียวกับราคาต้นทุนที่สะท้อนตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหารสัตว์ หรือ ระยะเวลาในการเลี้ยงไก่เพื่อให้ได้ขนาดตามมาตรฐาน ราคาขายจึงเป็นไปตามความเหมาะสมที่ผู้บริโภคต่างยอมรับได้

นอกจากนี้การเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่ดี ยังสามารถสร้างความยั่งยืนทางอาหารได้จริงหรือ?

อำนาจ ให้มุมมองต่อประเด็นนี้ว่า:

“อันดับแรกผมมองว่า ยั่งยืนต่อชีวิตเขาเอง เพราะเนื้อสัตว์ที่ผลิตในระบบปลอดภัย ไม่มียาปฏิชีวนะ ก็ไม่มีความเสี่ยง แน่นอนชีวิตคุณก็ยืนยาวขึ้น มีสุขภาพดี อันดับที่สอง ผู้บริโภคก็จะได้สนับสนุนชุมชน เกษตรกรรายย่อยให้มีอาชีพ มีเกียรติ มีกินได้ และแน่นอนว่าคนพวกนี้เขาก็ไปช่วยคุณดูแลสิ่งแวดล้อม เขาทำการเกษตรที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมพูดง่ายๆ นอกจากได้กับตัวคุณเอง สิ่งที่คุณเองไปซัพพอร์ต อาทิ เกษตรกร ก็ไปดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลสัตว์อย่างมีสวัสดิภาพ เป็นวงเล็กๆ ที่ขยายเป็นวงใหญ่ไปเรื่อยๆ เพียงแค่เริ่มจากผู้บริโภคที่เปลี่ยนการกิน เพราะสุดท้ายการกินมันเปลี่ยนโลกได้

Tan-Khun Farm

สัตว์ควรได้รับการดูแลอย่างดี แม้จะต้องกลายเป็นอาหาร

แม้สัตว์หลายชนิดต้องกลายเป็นอาหารให้กับมนุษย์ แต่การสละชีวิตหนึ่งเพื่อต่ออายุให้อีกชีวิตหนึ่ง ย่อมควรต้องปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีหากการมีส่วนผลักดันให้สัตว์เหล่านั้นได้รับการดูแลที่ดี

“เขาสละชีวิตเพื่อต่อชีวิตให้กับคนอีกหลายๆ คน เราก็ควรจะบริโภคเขาอย่างเคารพ และก่อนที่เขาจะต้องตาย หรือในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ คนที่มีหน้าที่ดูแลเขา ก็ควรปฏิบัติต่อเขาดีๆ ในฐานะอีกชีวิตหนึ่ง”

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม จะดูแลสัตว์อย่างมีสวัสดิภาพด้วยความเอาใจใส่ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แม้บางครั้งอาจต้องเผชิญปัญหาที่ไม่คาดคิด อาทิ โรคระบาด และสัตว์ป่วยในฟาร์ม โดยสิ่งแรกที่ต้องปฏิบัติคือ การแยกสัตว์ป่วยออกจากสัตว์ปกติตามหลักมาตรฐาน ซึ่งจะมีโรงเรือนแยกสัตว์ป่วยที่ต้องดูแลเป็นพิเศษต่างหาก รวมถึงมีการใช้ยาสมุนไพร อาทิ หากเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ก็มักใช้ฟ้าทะลายโจร โรคทางเดินอาหารใช้ขมิ้นชัน แต่สำคัญที่สุดคือการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือ การคัดเลือกสายพันธุ์สัตว์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและระบบการเลี้ยงในพื้นที่

“ต้องยอมรับว่าฟาร์มอินทรีย์ในปัจจุบันหลายฟาร์ม พันธุ์สัตว์ที่นำมาใช้ก็มาจากอุตสาหกรรม ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ได้ถูกผสมมาเพื่อให้มาเลี้ยงแบบนี้ พอเราเลี้ยงแบบนี้ก็เท่ากับฝืนธรรมชาติของมัน แน่นอนมันก็ไม่แปลกที่จะเจ็บไข้ได้ป่วยตลอดเวลา ดังนั้นผมก็เลยคิดว่า เราควรกลับมาแก้ที่ต้นเหตุ คือการคัดเลือกสายพันธุ์ เราก็มีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ตอบโจทย์มากขึ้น เราก็พบว่าสัตว์ดีขึ้น แข็งแรงขึ้น แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ เราดูแลมันถึงที่สุดจริงๆ สุดท้ายก็ใช้หลักธรรมชาติ ดังนั้นเราเข้าใจตรงนั้นก็ปล่อยให้เขาไป”

Tan-Khun Farm

ขับเคลื่อนแทนคุณโมเดลทั่วภูมิภาค

กล่าวได้ว่า ธุรกิจของแทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม ถือเป็น Social Enterprise หรือ SE ซึ่งหมายถึงธุรกิจที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับการสามารถสร้างผลกำไรที่เหมาะสม เพื่อให้ธุรกิจนั้นสามารถดำเนินกิจการไปได้อย่างยั่งยืน และสร้างผลลัพธ์ทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันเขามีเครือข่ายสมาชิกหลายพื้นที่ในการขับเคลื่อนแทนคุณโมเดลภายใต้ชื่อ “ปศุสัตว์อินทรีย์พึ่งตน คนนอกกรอบ” โดยตั้งเป้าขยายเครือข่ายไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อหวังว่าเกษตรกรรายย่อยจะสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งยังมี Supply Chain หรือห่วงโซ่ทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของการปลูกพืชอาหารสัตว์อินทรีย์ คนเลี้ยงไก่ และประมง ราว 100 ครอบครัวกระจายตัวตามภูมิภาคต่างๆ อาทิ ภาคกลาง จ.ราชบุรี, จ.สุพรรณบุรี, จ.กาญจนบุรี ภาคเหนือ จ.น่าน เชียงใหม่ และแถบจังหวัดชายฝ่ายทะเล ได้แก่ จ.เพชรบุรี และจ.สมุทรปราการ เป็นต้น

“สิ่งที่แทนคุณอยากส่งต่อ เราอยากเป็นโมเดลต้นแบบธุรกิจ ฟาร์มปศุสัตว์อินทรีย์ ที่เกษตรกรสามารถมีศักดิ์และสิทธิ์ในการที่จะทำได้อย่างยั่งยืน”

อำนาจกล่าวย้ำ พลางบอกต่อว่าจากประสบการณ์ในการทำเกษตรอินทรีย์มาหลายปี เขาค้นพบว่า มีเกษตรกรที่มีแนวคิดแบบเดียวกับเขาจำนวนมาก แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้เกษตกรรายย่อยไม่สามารถดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรได้ ไมว่าจะเป็น ปัญหาด้านบริหารจัดการการตลาด การสร้างแบรนด์ และโดยเฉพาะข้อกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อเกษตรกรรายย่อย

บ้านเรา เราใช้กฎหมายตัวเดียวกันในการควบคุม คนตัวใหญ่และคนตัวเล็ก ในความเท่าเทียมกันคือดีมาก แต่มองในจรรยาบรรณ ความเป็นมนุษย์ คือไม่ใช่ ยกตัวอย่าง เช่น คุณจะสร้างโรงเชือดไก่ได้ ต้องผ่านขั้นตอนขออนุญาตมากมาย ถามว่าเกษตรกรตัวเล็กๆ มีปัญญาไหมครับ ไม่มี แค่นี้ก็จบแล้ว ก็จะไปเข้าทางคนที่มีศักยภาพทำได้ ดังนั้น เกษตกรรายย่อยถูกจำกัดเยอะมาก และเรื่องการผูกขาดหลายๆ อย่างทำให้เกษตรกร ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้

ยกตัวอย่างง่ายๆ เกษตรกรเลี้ยงหมูหลังบ้าน 10 ตัว ถ้าไม่ซื้ออาหารหมูจากเจ้านี้ หรือไม่ซื้อลูกหมูมาจากเขียงนี้ คุณจะไม่สามารถขายหมูเนื้อออกไปได้ เพราะว่าคุณไม่มีพันธะสัญญาอะไรกัน ถ้าคุณจะทำ คุณก็ต้องทำให้ได้จบทั้งวงจรซึ่งเกษตรกรส่วนมากไม่มีใครทำได้แบบผมทั้งหมด พูดง่ายๆ มันมีการผูกขาดอยู่ทุกสเกล ตั้งแต่เล็ก กลาง ใหญ่ ไม่มีสเกลไหนไม่ผูกขาด แทนคุณทำมา 4-5 ปี แล้วพบว่าโมเดลนี้มันอยู่ได้ เราจึงอยากให้โมเดลนี้เกิดขึ้นหลายๆ จุดในประเทศไทย เพื่อให้คนตัวเล็กตัวน้อยที่อยากทำฟาร์มสามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้”

Tan-Khun Farm

ดังนั้นเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายในการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่มีแนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์ อำนาจ จึงเตรียมที่จะตั้งโรงเชือดไก่อินทรีย์แห่งแรกในประเทศไทย ที่ยึดหลัก Animal Welfare อย่างแท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาการเชือดไก่ที่ต้องไปรวมกับโรงเชือดทั่วไป จึงทำให้กรมปศุสัตว์ไม่รับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคขั้นสุดท้าย (แค่รับรองการเลี้ยงไก่แบบออร์แกนิค) ส่วนเหตุผลอื่น เนื่องจากไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้อย่างที่ใจต้องการ อำนาจจึงตัดสินใจตั้งโรงเชือดไก่ที่ถูกต้องเพื่อรองรับเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงไก่แบบอินทรีย์

เพราะอย่างน้อยก็เพื่อสนับสนุนความตั้งใจในการทำปศุสัตว์อินทรีย์ และส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์อย่างมีสวัสดิภาพ ของเกษตรกร ให้ดำเนินการได้ครบวงจรอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าเมื่อผู้บริโภครับรู้ถึงความตั้งใจและเข้าถึงทางเลือกของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย การกินจะเปลี่ยนโลกได้อย่างแน่นอน...

“เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนการกิน... สุดท้ายการกินเปลี่ยนโลกได้