Tu-Do

Tu Do พ้นทุกข์จากฟาร์มรีดดีหมีในจังหวัดเซินลา ประเทศเวียดนาม แล้ว!

ข่าว

Tu Do ถูกส่งมอบให้แก่ศูนย์อนุรักษ์หมี หลังองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเข้าตรวจสอบพื้นที่ที่ Tu Do ถูกขังไว้ และแนะนำให้เจ้าของส่งเธอไปยังศูนย์อนุรักษ์เพื่อให้เธอได้ใช้ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ฟาร์มรีดดีหมีคือหนึ่งในตัวอย่างของการทารุณกรรมสัตว์ที่เลวร้ายมากที่สุดในโลกปัจจุบัน

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ร่วมกับองค์กรภาคี อาทิ Education for Nature Vietnam (ENV), Animal Asia Foundation และหน่วยงานท้องถิ่น ปฏิบัติภารกิจเข้าช่วยเหลือหมีเพศเมียชื่อ Tu Do และส่องมอบมันให้แก่บ้านหลังใหม่ที่ BEAR SANCTUARY Ninh Binh ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กร FOUR PAWS

Tu Do คือหมีตัวสุดท้ายที่ได้รับการช่วยเหลือออกจากกรงรีดดีหมีในจังหวัดเซินลา ส่งผลให้จังหวัดดังกล่าวกลายเป็นจังหวัดที่ 41 ของประเทศเวียดนามที่ปราศจากฟาร์มผลิตดีหมี

Tu-Do

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก / Nguyen Van Tuyen 

บ้านหลังใหม่ ต่อจากนี้

ในประเทศเวียดนาม การ “ครอบครอง” หมียังถือเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่การรีดน้ำดีจากหมี หรือการเพาะพันธุ์หมีเพื่อวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่น่าเศร้าที่ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทำให้มีหมีอีกนับหลายร้อยตัวถูกกักขังในฟาร์มผลิตดีหมีในประเทศเวียดนาม

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อทำการขึ้นทะเบียนและฝังไมโครชิพให้กับหมีทุกตัวที่อาศัยอยู่ในฟาร์มทั่วประเทศเวียดนาม พร้อมเฝ้าระวังและลงพื้นที่ตรวจสอบอยู่เป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีหมีตัวใหม่ตกเป็นเหยื่อของอุตสาหกรรมดีหมีอันโหดร้ายอีก

ทางองค์กรฯ​ และภาคีเครือข่ายเชื่อว่า เจ้าของของ Tu Do เป็นคนท้องถิ่นและเก็บมันไว้เป็นสัตว์เลี้ยง เจ้าของของมันเลี้ยงสัตว์หลายชนิด ทั้งสุนัข ไก่ และหมูอยู่ในสวน จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ ทางทีมเจ้าหน้าที่ได้มีโอกาสพูดคุยทำความเข้าใจเรื่องสวัสดิภาพสัตว์และศูนย์อนุรักษ์หมีกับเจ้าของของ Tu Do หลังจากนั้นไม่เพียงไม่กี่วัน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่ได้รับสายจากเจ้าของของ Tu Do และรับทราบถึงความต้องการของเขาที่อยากให้ Tu Do ย้ายไปอยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์หมี

Tu-Do

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก / Nguyen Van Tuyen

Maya Pastakia ผู้จัดการโครงการ สัตว์ป่า ไม่ใช่ยาแผนโบราณ จากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า:

การทำฟาร์มดีหมีเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศเวียดนาม แต่ข้อเท็จจริงนี้ไม่ได้ช่วยทำให้หมีนับพันตัวหลุดพ้นจากการถูกรีดเอาน้ำดีเพื่อนำไปผลิตเป็นยาแผนโบราณ Tu Do ถูกจับขังในกรงขนาดเล็ก และต้องทรมานกับวิธีการดูดเอาน้ำดี เพื่อนำไปใช้เป็นยาแผนโบราณในภายหลัง

หมีที่ถูกกักขังเพื่อรีดเอาน้ำดีต้องทุกข์ทรมานทั้งทางกายและจิตใจ พวกมันต้องทนใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพสิ่งแวดล้อมอันเลวร้าย ถูกกังขังอยู่ในกรงที่มีขนาดไม่ต่างจากตู้โทรศัพท์ และไม่ได้รับแสงจากธรรมชาติ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามอุดช่องโหว่ทางกฎหมายทั้งหมด เพื่อยุติอุตสาหกรรมดีหมีให้หมดไป”

ในขณะที่ Barbara van Genne, responsible for Wild Animal Rescue & Advocacy at FOUR PAWS กล่าวว่า:

Tu Do เป็นหมีตัวที่ 50 ที่องค์กร FOUR PAWS ได้เข้าช่วยเหลือในประเทศเวียดนาม เราดีใจที่เราสามารถหยิบยื่นโอกาสในการใช้ชีวิตใหม่ให้กับมันได้ การเข้าช่วยเหลือ Tu Do ทำให้เราประสบความสำเร็จในการปิดฟาร์มดีหมีในจังหวัดเซินลา

ภารกิจช่วยเหลือผ่านไปด้วยดี Tu Do ถูกส่งมอบให้แก่ BEAR SANCTUARY Ninh Binh เพื่อใช้ชีวิตใหม่อย่างปลอดภัย Tu Do สงบ เป็นมิตร และดูขี้สงสัย ทีมผู้เชี่ยวชาญของเราจะดูแลมันเป็นอย่างดีในระหว่างที่มันฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กลับมาแข็งแรง เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นี่ จากข้อมูลการตรวจสุขภาพเบื้องต้น เราพบนิ่วในถุงน้ำดี และปัญหาในบริเวณตับและฟัน ซึ่งทีมผู้เชี่ยวชาญของเราจะรักษามันอย่างเต็มที่ Tu Do จะได้ใช้ชีวิตร่วมกับหมีอีก 39 ตัวที่อาศัยอยู่ภายในศูนย์อนุรักษ์แห่งเดียวกัน ถ้า Tu Do แสดงท่าทีอยากมีเพื่อน เราจะปล่อยให้มันเริ่มเข้าสังคมกับหมีตัวอื่นในอนาคต Tu Do จะได้ใช้ชีวิตอย่างที่มันสมควรได้รับสักที”

ยุติความโหดร้ายในการทำฟาร์มดีหมี

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกทำงานร่วมกับองค์กร Education for Nature Vietnam (ENV) มานานกว่า 10 ปี เพื่อช่วยให้หมีในประเทศเวียดนามหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานของอุตสาหกรรมดีหมี และป้องกันไม่ให้มีหมีตัวใหม่ถูกนำมากักขังในฟาร์มดีหมีอีก เพราะเราเชื่อว่า หมีควรได้ใช้ชีวิตอยู่ในป่า ซึ่งเป็นสถานที่ที่เป็นบ้านของพวกมันโดยแท้จริง

เราสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐในการฝังไมโครชิพหมีทุกตัวที่อยู่ในฟาร์ม เพื่อตรวจสอบหมีที่อาจถูกลักลอบออกมาจากป่า ตรวจยึด ส่งมอบหมีให้แก่ศูนย์อนุรักษ์

Bui Thi Ha รองผู้อำนวยการ องค์กร Education for Nature (ENV) ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า:

“เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นหมีจากฟาร์มดีหมีตัวสุดท้ายของจังหวัดเซินลา เราไม่ได้ดีใจเพียงเพราะว่าจังหวัดเซินลาเป็นจังหวัดต่อไปที่ปราศจากฟาร์มดีหมี แต่การช่วยเหลือ Tu Do ครั้งนี้ช่วยยกระดับความก้าวหน้าของภารกิจนี้ทั่วประเทศเวียดนาม อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลสามารถยุติอุตสาหกรรมดีหมีได้ หากมีความตั้งใจจริง องค์กร ENV ขอแสดงความยินดีกับหน่วยงานภาครัฐของจังหวัดเซินลา และเราขอเรียกร้องให้หน่วยงานในจังหวัดอื่นที่ยังพบฟาร์มดีหมีปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน”

ร่วมปกป้องสัตว์กับเรา

ร่วมลงชื่อรับข่าวสารเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเพื่อขับเคลื่อนภารกิจยุติการทารุณกรรมสัตว์ให้หมดไป

Tu Do คือหมีตัวสุดท้ายที่ได้รับการช่วยเหลือออกจากกรงรีดดีหมีในจังหวัดเซินลา ส่งผลให้จังหวัดดังกล่าวกลายเป็นจังหวัดที่ 41 ของประเทศเวียดนามที่ปราศจากฟาร์มผลิตดีหมี