Chickens in factory farm, South Australia

“ฟาร์มที่แคร์ชีวิตสัตว์” อาจช่วยป้องกันมนุษย์จากการเกิดโรคระบาด

ข่าว

ถึงแม้ว่าเชื้อไวรัสโคโรนาอาจมีจุดกำเนิดมาจากตลาดสด ซึ่งเป็นที่ตั้งของแผงขายสัตว์ป่าจำนวนมากในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน แต่รู้หรือไม่ว่าสาเหตุของโรคระบาดทั้งหมดในโลกใบนี้ ไม่ได้มาจากการบริโภคสัตว์ป่าเป็นอาหารเพียงอย่างเดียว

เนื้อสัตว์ที่เราบริโภคส่วนใหญ่มาจากฟาร์มระดับอุตสาหกรรม สัตว์ส่วนใหญ่ถูกขังรวมกันหนาแน่น และถูกเลี้ยงในสภาพที่ไม่ถูกสุขอนามัย ฟาร์มที่ไม่มีการจัดการสวัสดิภาพสัตว์จึงกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคชั้นดีที่นำไปสู่การเกิดโรคระบาดจากสัตว์สู่คนครั้งใหญ่ที่ทำให้โลกต้องหยุดนิ่งหลายครั้งมาแล้วในอดีต

ฟาร์มเลี้ยงสัตว์กับโรคระบาด

ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นทุกปี จนเกิดเป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์ระดับอุตสาหกรรมเพื่อการบริโภคหรือส่งออก การเลี้ยงสัตว์จึงกลายเป็นธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการหลายเจ้าเริ่มเพิกเฉยต่อการดูแลคุณภาพชีวิตสัตว์ เพราะต้องการเร่งผลิตเนื้อสัตว์ในปริมาณมากขึ้นเพื่อคุมต้นทุนและทำกำไร

นายแพทย์ไมเคิล เกรเกอร์ (Michael Greger) ได้ย้ำเตือนถึงผลกระทบจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ไร้สุขอนามัยในหนังสือเรื่อง Bird Flu: A Virus of Our Own Hatching โดยเรียกฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีการจัดการสวัสดิภาพสัตว์และสุขอนามัยที่ดีในฟาร์มไว้ว่า “สิ่งแวดล้อมสมบูรณ์แบบต่อการเกิดเชื้อโรค”

chicken

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2563 กระทรวงเกษตรจีนรายงานการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่ฟาร์มไก่ในเมืองเชาหยาง มณฑลหูหนานของจีน ทางการสั่งฆ่าสัตว์ปีกนับหมื่นตัวเพื่อคุมการระบาดของไวรัสไข้หวัดนก ซึ่งเป็นต้นตอของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจรุนแรง ซึ่งสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนและจากคนสู่คนได้ โดยผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตมากถึง 60% (เครดิตรูปภาพ: Reuters) 

นายแพทย์ไมเคิลกล่าวว่า สองเหตุผลหลักที่ทำให้ฟาร์มเลี้ยงสัตว์กลายเป็นแหล่งกำเนิดเชื้อโรคได้ นั่นคือ สภาพแวดล้อมในฟาร์มขาดสุขอนามัย และการคัดเลือกสายพันธุ์สัตว์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค เช่น อกไก่ขนาดใหญ่ ซึ่งวิธีการนี้ทำการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสามารถติดต่อจากสัตว์ตัวหนึ่งสู่สัตว์อีกตัวได้อย่างง่ายดาย เพราะไม่มีสารพันธุกรรมที่แตกต่างกันมาช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้

“ถ้าอยากสร้างโรคระบาดที่จะแพร่ไปได้ทั่วโลก ก็แค่สร้างฟาร์มเลี้ยงสัตว์” นายแพทย์ไมเคิลกล่าว

ในขณะที่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society) เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนทางภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และโรคระบาด ไม่เช่นนั้น แต่ละประเทศจะแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อโรคจากสัตว์สู่มนุษย์ไม่ได้

โรคระบาดจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์เกิดขึ้นมาแล้วและได้คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากทั่วโลก

หากลองย้อนประวัติศาสตร์การเกิดโรคระบาดตั้งแต่ปี พ.ศ.2501 มีโรคระบาดจำนวนไม่น้อยเลยที่มีสาเหตุมาจาก “ฟาร์มเลี้ยงสัตว์” การระบาดของเชื้อโรคที่มีสาเหตุมาจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2540 นั่นคือโรคไข้หวัดนก (Avian Influenza) ในฮ่องกง ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นในสัตว์ปีก เช่น ไก่ โดยผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตมากถึง 50%

เชื้อไวรัสไข้หวัดนกสามารถแพร่เชื้อสู่คนได้ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ H5N1 และ H7N9 โดยเชื้อไวรัสจะติดต่อผ่านการสัมผัสกับสัตว์ที่ป่วย เช่น สารคัดหลั่งจากสัตว์ อุจจาระ น้ำมูก น้ำตา และน้ำลายของสัตว์ปีก หรือแม้แต่การรับประทานเนื้อสัตว์ปีกที่มีการติดเชื้อก็สามารถทำให้คนติดเชื้อไว้หวัดนกนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 พบว่ามีการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมัน และเบลเยี่ยม

ตัวเลขความสูญเสียในอดีตนั้น ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์

caged broiler chickens

การเลี้ยงไก่เนื้อในกรงอาจส่งผลเสียต่อความแข็งแรงของกระดูก เนื่องจากไก่ไม่ได้เดินคุ้ยเขี่ย ขนร่วง และถูกจำกัดไม่ให้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติอื่น ๆ (เครดิตรูปภาพ: องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก) 

การป้องกันโรคระบาดครั้งต่อไปเริ่มต้นได้จาก ‘เรา’

โรคระบาดไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกใบนี้ แต่คำถามคือเราจะมีส่วนร่วมป้องกันโรคระบาดครั้งต่อไปได้อย่างไร เหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการ Change for Chickens แห่งองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมองว่า การปรับเปลี่ยนวิธีการกินอาหาร เช่น การเลือกสรรเนื้อสัตว์จากฟาร์มที่ใส่ใจเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ หรือการรับประทานเนื้อจากพืช (Plant-based Meat) มากขึ้น อาจมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคระบาดจากสัตว์สู่คนในอนาคตได้

“ในปัจจุบัน ความต้องการการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลกมีสูงมาก และสัตว์ส่วนใหญ่ถูกเลี้ยงในระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่แอดอัดและไม่ถูกสุขลักษณะ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคระบาด ดังนั้น ในฐานะผู้บริโภค สิ่งที่เราทำได้คือ ลดการบริโภคเนื้อสัตว์หรือเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากฟาร์มหรือผู้ผลิตที่ใส่ใจสุขภาพของทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมในระบบการผลิตด้วย”

หากเรายังไม่ลงมือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์ หรือหันมาใส่ใจที่มาของอาหาร ยุคหลังยาปฏิชีวนะ หรือ Post-Antibiotic Era อาจมาถึงเร็วขึ้น นั่นหมายความว่า การติดเชื้อหรืออันตรายจากโรคภัยต่าง ๆ ที่เคยรักษาได้ในอดีต อาจกลับมาทำร้ายสุขภาพและคร่าชีวิตของมนุษย์ทั่วโลกได้อีกครั้ง

ร่วมกันป้องกันการเกิดโรคระบาดจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ครั้งต่อไป ด้วยการสนับสนุนให้ฟาร์มไก่ระดับอุตสาหกรรมในประเทศไทยหันมาปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์ให้ดีขึ้นผ่านโครงการ #ChangeForChickens ที่ด้านล่าง