ChangChill_110723_1

บันทึกการเดินทาง ณ “ช้างชิล” จากมุมแม่เลี้ยงลูกแบบวินัยเชิงบวก

บล็อก

By

“แม่ดู Happy elephants สนุกไหมคะ?” คำถามแรกจากลูกสาววัยสามขวบหลังจากแม่เดินทางไปปาง ‘ช้างชิล (ChangChill)’ จังหวัดเชียงใหม่ ว่าแล้วแม่ก็เล่าถึงความสนุกของทริปแอบดูช้างที่ช้างชิลให้เจ้าตัวเล็กที่ดูสนอกสนใจ เพราะนางชอบช้างเป็นทุนเดิม...

Changchill_campaigner_2

แม่เริ่มเล่าตั้งแต่ที่ว่าทั้งแม่และนักท่องเที่ยวที่ไป ‘ช้างชิล’ ต่างก็ไปเป็นแขกของช้าง เพราะที่นี่ช้างไม่ได้มีหน้าที่เอนเตอร์เทนนักท่องเที่ยวด้วยกิจกรรมต่างๆ อย่างการขี่ ป้อนอาหาร หรือ แสดงโชว์  แต่ช้างได้เป็น ‘ช้าง’ ได้เป็น ‘ตัวเอง’ มีอิสระที่จะเดินเตร็ดเตร่ในหุบเขา กินหญ้า อาบน้ำในแม่น้ำ ในโคลน หรือคลุกฝุ่น
 

ลูกคน vs ลูกช้าง 

ในอีกมุมหนึ่ง การมีลูกน้อยก็ทำให้คนเป็นแม่อย่างเราคิดว่า ลูกคนหรือลูกช้าง ความรักที่แม่มีให้ ก็ไม่ต่างกันสักเท่าไหร่ เราก็เป็นหนึ่งในคุณแม่ (Gen Y) ที่เลี้ยงลูกเชิงบวก สร้างความสัมพันธ์ พัฒนา EF  (Executive Functions) เล่นกับลูกให้มากในช่วงวัยที่สำคัญที่สุด ไม่ให้ดูหน้าจอ กำหนดกิจวัตรประจำวันชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจ (หรือ sense of security) และการสร้างแรงจูงใจด้วยการให้รางวัลแทนการตี ซึ่งหลักการบางส่วนในนี้เป็นแนวทางที่นำไปใช้ที่ ‘ช้างชิล’ เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพช้างด้วยเหมือนกัน อย่างเรื่องความสัมพันธ์แม่ลูก การจัดตารางเวลา และการเลิกใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ  
 

Mayura en haar moeder bij ChangChill

ที่ ‘ช้างชิล’ เราเห็นช้างสองแม่ลูก ก๊อแก๊ (50 ปี) และมยุรา (ลูกสาววัยกลางคน 32 ปี) สองตัวเดินตัวติดกันตลอดเวลา เห็นแม่ต้องเห็นลูก เห็นลูกต้องมีแม่ หลายครั้งยังส่งเสียงเหมือนคุยกัน งอนกัน เล่นกัน แต่แขกอย่างพวกเราแค่ฟังไม่ออกเท่านั้น  

ความจริงภาพสองช้างแม่ลูกคู่กันเป็นภาพที่ไม่ค่อยจะเห็นบ่อยสักเท่าไหร่ เพราะช้างเลี้ยงในธุรกิจการท่องเที่ยว ตัวแม่และลูกมักจะถูกแยกจากกันตั้งแต่เด็ก เพื่อตัดความสัมพันธ์ แล้วเข้าสู่การฝึกเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ช้างไม่ได้เต้นเป็นตั้งแต่เกิด ไม่ได้เตะบอลหรือรักงานศิลปะ ชอบวาดรูป แต่พวกเขาถูกบังคับและทำตาม เพราะกลัวโดนแทงด้วยขอปลายแหลม  

ก๊อแก๊ และ มยุรา ก็เป็นช้างแม่ลูกไม่กี่ตัวที่มีโอกาสได้อยู่ด้วยกัน และจากนี้จะได้ใช้ชีวิตปั้นปลายด้วยกันที่ปาง ‘ช้างชิล’ หลังจากต้องผ่านคืนวันที่โหดร้าย ถูกใช้งาน ให้บริการนักท่องเที่ยว กักขัง ล่ามโซ่ และอีกสารพัดมาแทบครึ่งชีวิต บ้านถาวรของ ก๊อแก๊ และ มยุรา หรือ ‘ช้างชิล’ เป็นปางช้างที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจจากที่เคยให้นักท่องเที่ยวขี่ช้าง และอาบน้ำช้าง มาเป็นปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง ซึ่งได้รับการสนับสนุนและร่วมออกแบบโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection)

อ่านต่อเกี่ยวกับปางช้างชิลได้ที่นี่

Changchill_110723_3

วินัยเชิงบวกกับกิจกรรม ‘เป็นตัวเองได้ทั้งวัน’ 

ทุกวันช้างสองแม่ลูกจะมีกิจกรรมหลักๆ ที่ทั้งสองทำคือ กิน และ เดิน (aka. ออกกำลังกาย) อยากอาบน้ำเมื่อไหร่ก็แล้วแต่ เช้ากินอาหารในป่า กลางวันกินแถวลำธารซึ่งเป็นจุดที่จัดไว้ให้นักท่องเที่ยวเอาอาหาร ผลไม้ มาวาง ไม่ป้อน หรือยื่นอาหารให้ตรงๆ เพื่อความปลอดภัยของทั้งคนและช้าง ตกเย็นกลับไปนอนในบริเวณที่จัดไว้ใกล้ๆ กับบ้านของควาญ และทำกิจวัตรเวียนไปแบบนี้ทุกวันไม่ว่าวันนั้นจะมีหรือไม่มีนักท่องเที่ยวก็ตาม 

Changchill_110723_5

ใครว่ารักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี - นี่มันล้าสมัยไปแล้ว! 

เราเชื่อในหลักการไม่ลงโทษลูกด้วยการตีแบบไหน ที่ ‘ช้างชิล’ ก็เหมือนกัน เพราะควาญไม่ใช้ตะขอแหลมควบคุมช้าง แต่ใช้อาหารเป็นตัวช่วยสร้างแรงจูงใจ ช้างก็พร้อมจะทำตามและเชื่อฟัง การสร้างแรงจูงใจแบบนี้เองทำให้ช้างรู้ตารางกิจกรรมของตัวเองในแต่ละวัน อยู่ที่นี่ช้างได้ชิลสมชื่อ  

“แล้วแม่รู้ได้ยังไงว่าช้าง Happy?” ภาพตัดมาที่เจ้าตัวเล็กที่ยังทำหน้าสงสัย 

แม่ตอบ : เหมือนคนเราเลย ลูกคงไม่ชอบเวลาถูก Time out ใช่มั้ย? ช้างที่นี่ไม่โดนล่ามโซ่หรืออยู่ในที่แคบๆ พวกเขา relax ได้เดินเล่นและทำอะไรที่อยากทำ แล้วเวลาช้างไม่เครียด หูของพวกเขาจะพัดโบกไปมา พริ้วเลย~ ช้างก็มีชีวิตจิตใจเหมือนเรานั่นแหละ  

แม่จบบทสนทนาโดยตั้งใจไม่เล่าให้เจ้าตัวเล็กฟังว่า ควาญช้างเล่าว่า มีครั้งหนึ่งที่ลูกช้างมยุรากำลังถือหญ้าใบเขียวกวัดแกว่งอย่างเริงร่า แม่ก๊อแก๊เดินมาแล้วฉกหญ้าของลูกไปกินอย่างสบายใจ 

/Me แม่คนหรือแม่ช้างก็เหมือนกัน 
รักลูกนะ แต่เรื่องกิน อดไม่ไหว... 

อ่านต่อและร่วมสนับสนุนปางช้างที่เป็นมิตรกับช้างได้ที่นี่
 

PYam_WL_campaigner_1

หทัย ลิ้มประยูรยงค์ 
ผู้จัดการโครงการสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย 

 

*หมายเหตุ ในบทความนี้ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนายัดเยียดแนวทางการเลี้ยงลูกแบบใดแบบหนึ่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของแต่ละบ้าน แต่หัวใจสำคัญที่สุด คือ ไม่สนับสนุนให้มีการทำร้ายร่างกาย และจิตใจ ต่อเด็ก 

 

 

More about