เบื้องหลัง “วันไก่ทอด” ต้อง "ไม่ทอดทิ้งไก่"

บล็อก

By

เบื้องหลัง “วันไก่ทอด” ต้อง "ไม่ทอดทิ้งไก่"

Broiler chicken.

วัฒนธรรมการกินไก่ทอด

“ไก่ทอด” ถือเป็นเมนูยอดนิยมที่มีอยู่ในแทบทุกวัฒนธรรมการบริโภคกระแสหลัก[1] คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไก่ทอดหนังกรอบ เนื้อนุ่มฉ่ำ มาพร้อมกลิ่นหอมที่เย้ายวนใจ คือเมนู “Comfort Food” ที่เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆสำหรับหลายคนที่ต้องการอาหารมาช่วยพักใจจากวันที่เหนื่อยล้า ปาร์ตี้กับครอบครัวและเพื่อนฝูง หรือแม้กระทั่งเป็นอาหารจานด่วนในวันที่รีบเร่ง

สำหรับในบ้านเราเอง วัฒนธรรมการกินไก่ทอดก็ไม่ได้แปลกใหม่อะไรและยังพบเห็นได้ทั่วไปอีกด้วย ย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว สมัยเด็กๆเราคุ้นเคยกับการกินไก่ทอดที่เป็นสไตล์ “ไทยๆ” มาตั้งแต่จำความได้ อย่างไก่ทอดหาดใหญ่ ที่มักซื้อทานคู่กับข้าวเหนียว หรือ ไก่ทอดน้ำปลาและไก่ทอดสมุนไพรที่พบได้ตามร้านอาหาร พอโตขึ้นมาหน่อยยุคสมัยเปลี่ยนไป

มีการนำเข้าวัฒนธรรมการกินจากต่างประเทศ ทำให้เรามีตัวเลือกมากขึ้น แต่ไก่ทอดก็ยังคงครองตำแหน่งเมนูฮิต ทั้งไก่ทอดสไตล์เกาหลี ไก่ทอดคาราเกะแบบญี่ปุ่น ไปจนถึงไก่ชุบแป้งทอดแบบอเมริกันหรือที่หากินได้ตามร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด[2] และถ้ามาลองดูตัวเลขกันเล่นๆ จะพบว่าในประเทศไทย “ตลาดธุรกิจฟาสต์ฟู้ดไก่ทอดเป็นเซ็กเมนต์ใหญ่สุดในตลาดร้านอาหารจานด่วน (QSR-quick service restaurants) ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่มากถึง 50% หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวม 4 แสนล้านบาท” เลยทีเดียว[3]

“วันไก่ทอด” เกิดขึ้นได้อย่างไร

ว่าแต่ กว่าไก่ทอดฟาสต์ฟู้ดจะมีอยู่เกลื่อนและได้รับความนิยมทั่วโลกแบบสมัยนี้ มันมีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจเลยทีเดียว ว่ากันว่า ตำรับไก่ทอดแบบ Southern Fried Chicken เกิดจากการฟิวชั่นระหว่างสูตรของชาวสก๊อต ที่นิยมนำสัตว์ปีกไปคลุกเครื่องเทศและแป้งก่อนนำไปทอด กับสูตรของชาวแอฟริกาตะวันตก ที่นิยมนำสัตว์ปีกไปคลุกแป้งแล้วนำไปเคี่ยวกับน้ำซุปจนเปื่อย สองสูตรนี้เกิดการผสมผสานกันขึ้นในช่วงลัทธิจักรวรรดินิยมที่มีการค้าทาสชาวแอฟริกันในทวีปอเมริกาเหนือทางตอนใต้ แต่การกินไก่ทอด ณ ตอนนั้นก็ยังไม่ได้แพร่หลายมากนัก เพราะการเลี้ยงไก่สมัยนั้นยังเป็นการเลี้ยงเชิงเกษตรกรรมขนาดย่อมและเลี้ยงเพื่อกินไข่มากกว่า [3]

ภายหลังเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเริ่มมีการเลี้ยงไก่เชิงอุตสาหกรรมมากขึ้นจนเมนูไก่ทอดถูกพัฒนาต่อยอดเป็นที่นิยมไปทั่วประเทศอเมริกา โดยร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อดังหลายเจ้าได้ขยายตัวในวงกว้างและมีการขายแฟรนไชส์ไปทั่วโลกในช่วงปี ค.ศ. 1950-1970 ปัจจุบันความคลั่งไคล้ไก่ทอดยังทำให้มีการยกวันที่ 6 กรกฎาคมเป็นวันไก่ทอดแห่งชาติหรือ National Fried Chicken Day อีกด้วย[4] วันไก่ทอดแห่งชาติของชาวอเมริกันถูกเฉลิมฉลองในหลายประเทศแม้กระทั่งในประเทศไทยเองที่จะเห็นร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด หรือ แอพสั่งอาหาร จัดกิจกรรมโปรโมชั่นหรือส่วนลด ออกมามากมายในช่วงวันที่ 6 กรกฎาคมของทุกปี

เบื้องหลังไก่ที่นำมาทำเป็น “เมนูไก่ทอด”

วันไก่ทอดทั้งที หลายคนตั้งหน้าตั้งตารอฉลองความรักที่มีต่อการกินไก่ทอด แต่อย่าลืมว่า กว่าจะมาเป็นไก่ทอด ก็ต้องมีไก่มาก่อน และไก่ในฟาร์มโรงงานที่มาจากการเลี้ยงเชิงอุตสาหกรรมที่ว่านั้น ก็ไม่ได้มีชีวิตที่น่าเฉลิมฉลองเท่าไหร่นัก ดั่งชะตาชีวิตของไก่ตัวนี้และเพื่อนกว่าอีก 6 หมื่นล้านตัวที่ถูกเลี้ยงเพื่อการบริโภคในทุกๆปี…….”

Broiler chicken.

ไก่ที่ดูน่าสงสารตัวนี้ไม่ได้มีชื่อหรือมีหมายเลข เพราะเธอเป็น 1 ในอีก  30,000 ตัวที่ถูกเลี้ยงในโรงเลี้ยง ในฟาร์มโรงงาน แห่งหนึ่งและเป็น 1 ใน 60,000 ล้านตัว ที่ถูกเลี้ยงและฆ่าเพื่อการบริโภค ในทุกๆ ปี เธอไม่ได้ตื่นนอนตอนเช้าเหมือนไก่ทั่วๆไป เพราะเธอไม่เคยเห็นแสงตะวัน โรงเลี้ยงที่เธออาศัยอยู่ไม่มีหน้าต่าง มีแค่ไฟหลอดที่ทำให้ช่วงเวลากลางวันนั้นยาวนานกับกลางคืนอันแสนสั้น ส่งผลให้เธอไม่สามารถพักผ่อนได้อย่างเพียงพอ ในโรงเลี้ยงนั้นไม่สามารถหาความสงบสุขได้เนื่องจาก พัดลมขนาดใหญ่ทำงานตลอดทั้งวันเพื่อหมุนไล่อากาศ รวมถึงรางน้ำและรางอาหารที่มีเสียงดังรบกวน และยังมีเพื่อนๆ รอบตัวเธออีกนับหมื่นๆตั วที่ส่งเสียงร้องตลอดเวลา

ในขนาดตัวและน้ำหนักที่เกือบโตเต็มวัย โรงเลี้ยงที่เคยรู้สึกเหมือนกว้างขวางในวัยลูกเจี๊ยบ กลายเป็นโรงเลี้ยงที่แออัดคับแคบเธอพยายามจะยืนขึ้นแต่ด้วยขาที่เจ็บจากการต้องแบกรับน้ำหนักตัวและหน้าอกที่ใหญ่เกินไป ทำให้การเดินเป็นไปได้อย่างยากลำบาก เธอเกือบจะโตเต็มที่ด้วยระยะเวลาอันแสนสั้นเพียงแค่ 5 สัปดาห์ ผลของการถูกคัดเลือกสายพันธุ์ให้โตเร็วผิดธรรมชาตินี้ ได้กระทบต่อสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของเธอ ให้ใช้งานไม่ได้อย่างปกติ เธออยากเดินคุ้ยเขี่ยหาอาหาร อาบฝุ่น และขึ้นไปเกาะบนคอน เพื่อพักผ่อน ตามนิสัยธรรมชาติของไก่ แต่ก็ไม่สามารถทำได้

ในบรรยากาศโรงเลี้ยงที่แสนน่าเบื่อในโรงเลี้ยงที่เธออาศัยอยู่ไม่มีอะไรให้ทำมากนัก มีแค่น้ำ อาหาร และสิ่งปฏิกูล เท่านั้น ซึ่งการขาดแสงแดดจากธรรมชาติบวกกับสภาพแวดล้อมที่น่าเบื่อนี้ ทำให้เธอทำได้แค่กินๆ นอนๆ เธอจึงมีชีวิตอยู่อย่าง ทุกข์ทรมาน ไปวันๆ การที่ต้องนอนทับสิ่งปฏิกูลบวกกับนั่งๆ นอนๆ ทับขาตัวเองอยู่ตลอดนั้นส่งผลให้ขา และ เท้า ของเธอเป็นแผลกด ทับ รวมถึงเกิดการระคายเคืองจากความสกปรกและมูลที่สั่งสม ทำให้เป็นแผลตามร่างกายและหน้าอก เวลาที่เธอพยายามเดินไปกินอาหาร หัวใจของเธอทำงานอย่างหนัก เธอเหนื่อยจนต้องนั่งพัก ร่างกายของเธอ เจ็บปวดแสนสาหัส หัวใจดวงน้อยๆ ของเธอและเพื่อนๆ เต้นอย่างแผ่วเบา จนถึง วันสุดท้ายของชีวิต …ที่กลายมาเป็นเมนูไก่ทอดสุดฮิตของคุณ

เฉลิมฉลอง “เมนูไก่ทอด” ด้วยการให้ความสุขแก่ไก่กัน

เมื่อคุณอ่านถึงตรงนี้แล้ว..เราไม่ได้บอกกำลังบอกว่าให้คุณเลิกกินไก่ แต่เราต้องสนับสนุนให้การเลี้ยงไก่ในโรงงานที่ป้อนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมอาหารนั้น ต้องใส่ใจและคำนึงถึงสวัสดิภาพของไก่ การมีชีวิตที่ดี การที่ไก่ได้มีความสุข ได้ใช้ชีวิตตามพฤติกรรมธรรมชาติ ไม่ทุกข์ทรมานตลอดชีวิตตั้งแต่เป็นลูกเจี๊ยบจนมาอยู่บนอาหารจานโปรด คือ “เมนูไก่ทอด” ของคุณ  เมื่อคุณรู้ถึงเบื้องหลังชีวิตไก่แต่ละตัวแล้ว! เราเชื่อว่าคุณคงไม่อยากเฉลิมฉลองความอิ่มท้องและความอร่อย โดยลืมความทุกข์ทรมานตลอดวงจรชีวิตของเธอ เพราะเมื่อเธอมีคุณภาพชีิวิตที่ดี อาหารจานโปรดของคุณก็จะเป็นอาหารที่มีคุณภาพ มีมนุษยธรรม และไม่ส่งผลกระทบกับทั้งสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และโลก ด้วยการเลือกการบริโภคและสนับสนุนไก่ที่มีการเลี้ยงหรือแหล่งที่มาที่คำนึงถึงสวัสดิภาพของไก่ได้

เราควรหันมาเฉลิมฉลองวันไก่ทอดนี้ ด้วยการเพิ่มความสุขแก่ไก่ทั้งหลาย ให้มีสวัสดิภาพที่ดีชึ้น โดยร่วมกันสนับสนุนได้ทางด้านล่าง