amr_21apr_0

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกระดมผู้เชี่ยวชาญ เดินหน้าผลักดันข้อเสนอแนะเชิงนโยบายยุติหายนะเชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรม

ข่าว

เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย World Animal Protection ร่วมกับภาคีเครือข่าย เร่งระดมความคิดเห็นจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องเดินหน้าจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาหายนะเชื้อดื้อยาในภาคปศุสัตว์ (Thailand expert consultation on AMR from livestock) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมนำเสนอรายงานล่าสุดชี้ข้อมูลที่น่ากังวลของหายนะชื้อดื้อยาจากยาปฏิชีวนะในฟาร์มอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์

AMR_21Apr_3

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ได้นำเสนอรายงานล่าสุด เรื่อง“ผลกระทบด้านสาธารณสุขทั่วโลกจากเชื้อดื้อยาอันเนื่องมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มอุตสาหกรรม”

ที่จัดทำโดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ชี้ถึงประเด็นที่สำคัญว่า...
“ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตกว่า
1.6 ล้านคนเนื่องจากแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปในฟาร์มอุตสาหกรรม ซี่งมากกว่าการเสียชีวิตจากมะเร็ง HIV/AIDS หรือมาลาเรีย โดยองค์การอนามัยโลกคาดว่าแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนเสียชีวิตภายในปีพ.ศ. 2593 แต่เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะมาก่อน ก็ย่อมจะไม่รับรู้ถึงความจริงที่ว่า การทำฟาร์มอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งสร้างผลกำไรจากการผลิตเนื้อสัตว์จำนวนมหาศาลอย่างโหดร้ายทารุณนั้น เป็นตัวเร่งให้เกิดวิกฤตเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ”

AMR_21Apr_1

การพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์คือทางออกที่สำคัญของวิกฤตเชื้อดื้อยา แต่องค์กรฯ พบว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาปัจจุบันยังขาดการให้ความสำคัญที่เรื่องนี้ เราเรียกร้องให้มีการพิจารณาทบทวนกฎหมายเพื่อห้ามใช้ยาปฏิชีวนะทุกชนิดในการป้องกันโรคในฟาร์ม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในฟาร์มและแพร่กระจายออกมาภายนอก โดยองค์กรฯจะมีการผลักดันประเด็นนี้เข้าสู่วาระที่สำคัญระดับชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยที่กำลังพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพระดับชาติฉบับใหม่อยู่

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล กล่าวเสริม

AMR_21Apr_2

ผศ.ภญ.ดร. นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) หนึ่งในภาคีเครือข่ายและที่ปรึกษาคณะทำงานจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาในภาคปศุสัตว์ กล่าวว่า...  

“ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็นในคนและสัตว์ต้องได้รับความสนใจอย่างจริงจัง นอกจากปัญหาที่พบบ่อยว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคที่ไม่จำเป็น เช่น หวัดจากไวรัส เรายังพบว่ายังมีการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคปศุสัตว์ ประมง รวมถึงการเกษตรในปริมาณมหาศาล และเรากำลังเผชิญปัญหาใหม่ที่ไม่ใช่การไม่มียาปฏิชีวนะใช้แต่คือการขาดความรู้ในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งความไม่รู้นี้เป็นภัยร้ายต่อทั้งตัวเกษตกร สัตว์ ผู้บริโภค รวมถึงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ดังนั้นภาครัฐมีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนการทำงานระดับชาติที่ชัดเจนพร้อมเร่งสร้างบทบาทที่สำคัญทั้งในการควบคุมและดูแลการใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างเหมาะสม”

AMR_21Apr_4

ทั้งนี้การระดมความคิดเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหามีทั้งหมด 6 ด้านที่ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรม ดังนี้

  1. พัฒนาระบบการตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อดื้อยาในเนื้อสัตว์และการจัดการเนื้อสัตว์ที่มีการปนเปื้อนอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. จัดทำระบบเพื่อเปิดเผยข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะบนผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพ
  3. ทำลายการผูกขาดของระบบอุตสาหกรรมจากทุนใหญ่และจัดให้มีนโยบายส่งเสริมฟาร์มทางเลือกของเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้เกิดการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและราคาถูกในท้องถิ่น
  4. การพัฒนาและบังคับใช้กฎหมายควบคุมการขายยาปฏิชีวนะที่เข้มงวด เพื่อลดการเข้าถึงยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้อง
  5. สร้างความตระหนักต่อผู้บริโภคในเรื่องที่มาของอาหารและความสำคัญของสวัสดิภาพสัตว์เพื่อนำไปสู่การสร้างอุปสงค์ของอาหารที่มาจากแหล่งที่ดีและปลอดภัย
  6. บูรณาการการทำงานเรื่องการแก้ไขเชื้อดื้อยาจากภาคปศุสัตว์อย่างเป็นระบบและมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
AMR_21Apr_5

 

ซึ่งข้อเสนอแนะจากที่ประชุมนั้น สอดคล้องกับผลการรายงานขององค์กรฯ ที่พบว่าหากรัฐบาลยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ในประเทศให้สูงขึ้นและกำหนดให้เป็นแนวทางปฏิบัติ พร้อมมีมาตรการควบคุมการใช้ปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่ม จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยทั่วโลกลงร้อยละ 67 ภายในปีพ.ศ. 2593 นอกจากการควบคุมดูแลระบบอุตสาหกรรมที่มีอยู่ให้ดีขึ้นแล้ว รัฐบาลต้องสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอาหารที่มีมนุษยธรรมและยั่งยืน เช่นโปรตีนทางเลือกอื่นๆ หรือเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช เป็นต้น เพื่อลดการขยายตัวของระบบอุตสาหกรรมและผลกระทบในมิติต่างๆ รวมถึงการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ต้องเกิดขึ้นในประเทศที่ประชาชนมีการบริโภคเนื้อสัตว์จำนวนมหาศาล และเลือกสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มาจากแหล่งที่มีสวัสดิภาพดีและยั่งยืนเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของทุกคน

AMR_21Apr_5

ข้อเสนอแนะที่ได้จากเวทีนี้จะถูกส่งมอบต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคณะกรรมการแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพระดับชาติ เพื่อให้เกิดการพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่มาจากฟาร์มอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกัน

 

          สามารถศึกษารายงาน “ผลกระทบด้านสาธารณสุขทั่วโลกจากเชื้อดื้อยาอันเนื่องมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มอุตสาหกรรม” ได้ที่..
คลิกอ่านรายงานฉบับเต็ม