BEES

ที่นี่ BEES Elephants Sanctuary คือที่ที่ช้างได้เป็นช้าง

ข่าว

กว่าครึ่งชีวิตตลอดอายุขัยราว 100 ปีของสิ่งมีชีวิตที่น่าทึ่งอย่างช้างต้องทำงานหนักในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จำนวนหนึ่งบาดเจ็บและพิการเพราะไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม โชคดีที่การท่องเที่ยวเกี่ยวเนื่องกับช้างเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่การส่งเสริมวิถีความเป็นอยู่ตามธรรมชาติ ดังเช่นที่ BEES Elephants Sanctuary ได้เปิดโอกาสให้ช้างที่ปางได้กลับคืนสู่ความเป็น “ช้าง” ในช่วงชีวิตที่เหลือ

BEES

มอบวันพักให้ช้างวัยเกษียณ

หากไม่นับวาฬซึ่งอาศัยในท้องทะเล เราทราบกันดีว่าช้างคือสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ด้วยพละกำลังมหาศาล ช้างจึงถูกนำมาใช้งานในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะงานหนักอย่างการลากซุง การบรรทุกนักท่องเที่ยวไว้บนหลังพาเดินเที่ยวป่า หรือถูกฝึกให้แสดงโชว์ต่างๆ ซึ่งเบื้องหลังการทำตามคำสั่งนั้น คือการถูกบังคับ และบ่อยครั้งถูกกระทำทารุณเพื่อฝึกให้เชื่องและเชื่อฟังคำสั่ง จากสภาพความเป็นอยู่ที่บั่นทอนสวัสดิภาพสัตว์ ทำให้คุณพรชัย รินทร์แก้ว หรือคุณเบิ้ม และคุณเอมิลี โรส แมควิลเลียม ก่อตั้ง “BEES” หรือ Burm and Emily’s Elephants Sanctuary ขึ้น

ปางช้างของคุณเบิ้มและคุณเอมิลีเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2011 ในเวลานั้นนักท่องเที่ยวสาวชาวออสเตรเลียซึ่งอายุเพียง 18 ปีเดินทางมาเที่ยวเมืองไทย แต่กลับพบว่าช้างที่อยู่ในระบบการท่องเที่ยวนอกจากต้องทำงานอย่างหนักแล้ว ยังมีสภาพความเป็นอยู่ยากลำบาก ทั้งถูกบังคับให้รับนักท่องเที่ยวและทำการแสดงเพื่อขออาหาร แม้ชีวิตของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ซึ่งถูกลิดรอนอิสรภาพ และไม่ได้รับการดูแลอย่างเคารพให้เกียรติอย่างที่ควรเป็น จะทำให้คุณเอมิลีเศร้าใจ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เด็กสาวต่างชาติตัดสินใจย้ายมาลงหลักปักฐานในเมืองไทย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือช้างให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

คุณเบิ้ม หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง BEES พาย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นเมื่อราว 11 ปีก่อนเพื่อบอกเล่าที่มาของปางช้างแห่งนี้ว่า

“เราเห็นช้างในระบบการทำงานเพื่อการท่องเที่ยวแล้วตระหนักถึงความเป็นอยู่ในช่วงบั้นปลายของพวกเขา ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับคน เมื่อถึงวัยเกษียณก็ย่อมต้องการเวลาพักผ่อนให้มากที่สุด เรามองว่าทั้งคนและช้างมีความต้องการขั้นพื้นฐานคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่อยู่อาศัย รวมถึงได้รับการรักษาในยามเจ็บป่วย แต่สิ่งที่ช้างต่างจากคนก็คือ ช้างต้องการพื้นที่ในการหาอาหารตามวิถีธรรมชาติ BEES จึงก่อตั้งด้วยจุดยืนที่อยากเห็นช้างทุกเชือกได้รับสิทธิคล้ายๆ กัน คือในช่วงบั้นปลายชีวิตไม่ว่าจะสั้นหรือยาว เราอยากให้เขาได้มีเวลาที่เป็นอิสระมากขึ้น ได้ใช้ชีวิตตามวิถีธรรมชาติ เราอยากเห็นช้างมีอิสรภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

BEES

ที่ที่ช้างได้เป็นช้าง 

เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตทุกประเภท ช้างแต่ละตัวย่อมมีนิสัยแตกต่างกันไป แต่ลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมตามธรรมชาตินั้น ไม่ว่าช้างป่าหรือช้างบ้านย่อมมีพฤติกรรมไม่แตกต่างกัน นั่นคือการเดินหาอาหารกินเอง คลุกฝุ่น เล่นน้ำ ถูตัวกับต้นไม้ และอยู่รวมกันในลักษณะสัตว์สังคม หากแต่ช้างบ้านเมื่อถูกนำมาใช้แรงงาน จึงถูกกำจัดลิดรอนโอกาสในการแสดงพฤติกรรมตามวิถีธรรมชาติที่ควรจะเป็น

“เราตั้งใจให้ BEES เป็นบ้านที่ปลอดภัยของช้าง ให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ มีอิสระในการหาอาหารกินเอง ในแต่ละวันเราจะปล่อยให้เขาเดินสำรวจพื้นที่ตามที่เขาอยากไป มีควาญคอยเดินตามเพื่อคอยกันไม่ให้เข้าไปในเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน แต่จะไม่บังคับหรือออกคำสั่งว่าต้องทำอะไร ให้เขาได้เป็นตัวเอง ได้เป็นช้างจริงๆ”

BEES

นโยบาย Hands off ดูแต่ตา มืออย่าต้อง

ช่วงปีแรกๆ ของการก่อตั้งนั้น คุณเบิ้มเล่าว่า BEES ยังคงให้บริการนักท่องเที่ยวในรูปแบบที่ไม่แตกต่างจากปางช้างทั่วไป นั่นคือนักท่องเที่ยวสามารถทดลองอาบน้ำให้ช้าง สัมผัสลูบไล้เนื้อตัว และป้อนอาหาร อย่างไรก็ตาม ด้วยความตั้งใจที่จะให้ช้างได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติมากที่สุดตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ดังนั้นตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ปางช้างของคุณเบิ้มและคุณเอมิลีจึงเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการท่องเที่ยว จากที่เคยให้สัมผัสปฏิสัมพันธ์กับช้าง มาเป็นการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมอยู่ห่างๆ งดการสัมผัสแตะต้องเนื้อตัว งดป้อนอาหาร

ในส่วนของกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวและนโยบาย Hands off ของปางนั้น คุณเบิ้มอธิบายเพิ่มเติมว่า

“นักท่องเที่ยวที่มาเป็นชาวต่างชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีคนไทยเลย ส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก ที่ผ่านมาเราอยากให้นักท่องเที่ยวมาใช้เวลาเพื่อเรียนรู้และศึกษาพฤติกรรมของช้างอย่างน้อยหนึ่งอาทิตย์ แต่เนื่องจากแต่ละคนมีเวลาไม่เท่ากัน เราจึงปรับโปรแกรมสั้นยาวตามระยะเวลาที่เขาสะดวก โดยกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวจะได้ทำนั้น ส่วนมากเน้นไปที่การมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือช้าง และศึกษาพฤติกรรมตามวิถีชีวิตของช้างจริงๆ โดยเดินตามช้างเข้าไปในป่าหรือตามแม่น้ำ ไม่มีการอาบน้ำให้ สัมผัส กอดหอม หรือป้อนอาหารอีกแล้ว เรามองว่าในเมื่อเขามีงวงมีงา และยังมีแรงหยิบอาหารกินเอง เราก็แค่เป็นตัวช่วยหาอาหารเสริมบางอย่างมาให้ เอาตัวเราเองออกมาเพื่อให้เขาได้อยู่อย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด ซึ่งก็ดีต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวด้วย เพราะช้างเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างใหญ่ การกระทบกระทั่งต่อร่างกายคนเรา แม้เพียงเล็กน้อยก็อาจเป็นอันตรายรุนแรงได้”

BEES

ที่ที่คนทำงานให้ช้าง

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ช้างถูกเอาเปรียบโดยถูกนำมาใช้แรงงานในหลากหลายรูปแบบ แม้จะเป็นสัตว์ตัวโตและแข็งแรง แต่หากถูกใช้แรงงานอย่างหนัก บวกกับได้กินอาหารไม่เพียงพอ ทั้งยังไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมเมื่อบาดเจ็บจากการทำงานหนัก ส่งผลให้ช้างจำนวนไม่น้อยมีแผลเรื้อรัง ทั้งติดเชื้อไปจนถึงขั้นพิการ ช้างส่วนใหญ่ผอมและป่วยเพราะได้รับอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งทั้งหมดนี้คุณเบิ้มและคุณเอมิลีมองว่าคือการเอาเปรียบและหาผลประโยชน์จากช้างอย่างไม่เป็นธรรม

“ที่ผ่านมาเขาต้องทำงานหนักรับใช้คนมาหลายสิบปี แต่เมื่อมาอยู่ที่ BEES จะกลับกัน คือคนเป็นฝ่ายทำงานให้เขา ตั้งแต่ทำความสะอาดคอกโรงนอน หาอาหารเสริมอย่างกล้วย อ้อย หญ้า ข้าวโพดมาให้ ซึ่งเป็นงานของควาญ และเป็นหนึ่งในการเรียนรู้พฤติกรรมช้างที่นักท่องเที่ยวจะได้มีส่วนร่วมด้วย”

BEES

แม่คำ พังทองดี แม่หางดอก สามผู้อาวุโสแห่ง BEES

คุณเบิ้มเล่าว่าสนนราคาซื้อขายสัตว์ขนาดใหญ่อย่างช้างแตกต่างกันไปตามเพศและอายุ ช้างหนุ่มสาวราคาสูงกว่าช้างชรา ช้างพังหรือช้างตัวเมียมีราคามากกว่าช้างพลาย และช้างพลายที่มีงาราคาแพงกว่าพลายไม่มีงา ด้วยราคาซื้อขายหลักหลายแสนบาทต่อเชือก ในช่วงเริ่มต้น BEES จึงใช้วิธีการเช่าช้างจากเจ้าของเป็นรายปีเพื่อให้ช้างเชือกนั้นได้ปลดระวางจากการทำงานหนัก พูดง่ายๆ ก็คือจ่ายค่าเช่าช้างเพื่อให้ช้างสูงอายุได้รับสิทธิพักผ่อน และเกษียณจากการทำงานทุกประเภท 

“ปีแรกเราเช่าช้างเดือนละ 3,000 บาท แต่เมื่อเวลาผ่านไป ค่าเช่าสูงขึ้นเป็นหลักหลายหมื่นบาทต่อเดือน บวกกับสิทธิในการครอบครองยังเป็นเจ้าของเดิม บางครั้งเขาต้องการพาช้างกลับบ้านหรือไปทำงานที่อื่น ซึ่งเราไม่รู้ว่าเมื่อกลับไปแล้วชีวิตช้างจะเป็นอย่างไร ต่อมาเราจึงเปลี่ยนเป็นการซื้อขาดเพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องทำงานหนักที่ไหนอีกแล้วตลอดชีวิตที่เหลือ”

ปัจจุบันปางช้าง Burm and Emily’s Elephants Sanctuary บนพื้นที่ 20 ไร่ในอ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นบ้านของช้างอาวุโส 3 เชือก ได้แก่ แม่คำ พังทองดี และพังแม่หางดอก อายุ 65, 70 และ 61 ปีตามลำดับ ทั้งสามเชือกมีแหล่งที่มาเดียวกันคือจ.แม่ฮ่องสอน

“แม่ก้ำหรือที่พวกเราเรียกว่าแม่คำเป็นช้างเชือกแรกของปาง เคยถูกใช้งานให้แบกนักท่องเที่ยวเดินป่า แต่ด้วยนิสัยที่ถ้าไม่อยากทำ ก็ไม่ชอบให้ใครบังคับ บางทีก็เลยไม่ยอมเดิน หรือไม่ก็เดินส่ายหัวไปมาจนทำให้นักท่องเที่ยวตกลงมา ก็เลยไม่ได้ทำงานและลูกล่ามโซ่นานถึง 18 เดือน เราจึงติดต่อเจ้าของเพื่อขอให้แม่คำมาอยู่ที่ปาง แม่คำฉลาดมาก หากินเก่ง แต่กลัววัวควาย เชือกที่สองคือพังทองดี เจ้าของได้ยินว่าเราเลี้ยงช้างแบบเป็นมิตร จึงขอให้รับพังทองดีมาอยู่ด้วย ทองดีนิสัยดีมาก แต่ร่างกายทรุดโทรมกว่าวัยเพราะผ่านการทำงานหนักมาตลอด และเชือกสุดท้ายคือพังแม่หางดอก ได้รับมาจากครอบครัวคุณยายมีหลังจากคุณยายเสียชีวิต แม่หางดอกนิสัยดีมาก ไม่ชอบสุนัข และเดินเร็ว”

BEES

สร้างเครือข่ายชุมชนการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับช้าง

นอกจากเป็นบ้านที่ปลอดภัยเพื่อสวัสดิภาพบั้นปลายชีวิตที่ดีของช้างแล้ว คุณเบิ้มและคุณเอมิลียังให้การช่วยเหลือหมาและแมว รวมถึงสอนภาษาอังกฤษให้เด็กๆ ในชุมชน อีกทั้งยังลงมือปลูกป่ามากกว่า 10,000 ต้นนับตั้งแต่ก่อตั้งปางช้างขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ทั้งคู่มองว่า การมีส่วนร่วมกับชุมชนโดยเติบโตไปพร้อมกัน คือความยั่งยืนที่จะช่วยยกระดับการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับช้าง 

และแม้ว่าตลอด 11 ปีของการช่วยเหลือช้างให้หลุดพ้นจากการแสวงหาผลประโยชน์ และความทุกข์ทรมานจากการทำงานหนัก จะเต็มไปด้วยปัญหาเข้ามาท้าทายไม่รู้จบ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง จึงทำให้ปางขาดรายได้ในการดำเนินงาน ในฐานะเครือข่ายพันธมิตร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย จึงได้สนับสนุนงบช่วยเหลือฉุกเฉินรายเดือนให้แก่ BEES ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 เป็นต้นมา เพื่อประคับประคองให้ BEES ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ผนวกกับเครือข่ายที่คุณเบิ้มและคุณเอมิลีสร้างไว้ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ https://bees-elesanctuary.org และ Facebook Fanpage: BEESElephants เรื่องราวของปางและการระดมทุนในวาระต่างๆ จึงยังคงได้รับการสนับสนุน

“ปางช้างเป็นธุรกิจที่ยากมาก ไม่ใช่ว่ามีเงินอย่างเดียวแล้วจะทำได้ แต่ต้องเข้าใจถึงความรักและความเมตตาอย่างแท้จริง เมื่อเอาเขามาเลี้ยง ก็ต้องดูแลเขาอย่างดีที่สุด ให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ แม้จะเป็นงานที่เหนื่อย แต่เราก็จะทำงานให้ช้างต่อไป เพราะเราเชื่อว่าการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับช้าง ไม่เอารัดเอาเปรียบ จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ครับ”

BEES

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกก็เชื่อมั่นเช่นเดียวกับคุณเบิ้มและคุณเอมิลี ว่าการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพช้างอย่างแท้จริงจะเพิ่มขึ้น และผนึกเป็นเครือข่ายที่แข็งแกร่งเพื่อช่วยรณรงค์และสร้างความรู้ความเข้าใจต่อรูปแบบท่องเที่ยวที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของช้าง ทั้งในกลุ่มนักท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อไป