Boon Lott’s Elephant Sanctuary (BLES) หรือ ศูนย์บริบาลช้างบุญรอด

"ศูนย์บริบาลช้างบุญรอด" บ้านที่ปลอดภัยของเหล่าช้างไทย

ข่าว

พังสวย พังน้อย พังร่ม พังบัวงาม พังวาสนา พังดาวนำโชค สีดอสมโภช พลายหมู สีดอนวล อาจเคยเป็นช้างที่ถูกมนุษย์ใช้งานอย่างทารุณเพื่อประโยชน์ทางการค้า แต่ปัจจุบันสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดมหึมาเหล่านี้ ได้ใช้ชีวิตที่เหลืออย่างสงบสุขและเป็นอิสระตามวิถีธรรมชาติของช้างอย่างแท้จริง ด้วยการช่วยเหลือของคุณแคทเธอรีน คอนเนอร์ และคุณอนนท์ พิมพ์เหมือน ผู้ก่อตั้ง Boon Lott’s Elephant Sanctuary (BLES) หรือศูนย์บริบาลช้างบุญรอด

Boon Lott’s Elephant Sanctuary (BLES) หรือศูนย์บริบาลช้างบุญรอด

ผู้หญิงคนนั้นชื่อ “แคทเธอรีน”

แม้ช้างจะเป็นสัตว์ที่คนไทยให้ความสำคัญ และในอดีตเคยเป็นสัญลักษณ์อยู่บนธงชาติ แต่สัตว์ที่เคยได้รับการยกย่องและมีตำนานยิ่งใหญ่ กลับถูกเอาเปรียบและถูกทำร้ายโดยมนุษย์มายาวนาน โชคดีที่ช้างจำนวนไม่น้อยได้รับการช่วยเหลือจากศูนย์บริบาลช้างบุญรอด ชีวิตที่เคยยากลำบากจึงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจวบจนวันสิ้นอายุขัย เช่นเดียวกับคุณแคทเธอรีนในวัย 21 ปี ที่คงไม่รู้ว่าชีวิตของเธอจะเปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อตัดสินใจบินมาเมืองไทยเพื่อมาดูช้างตัวเป็นๆ ตัวจริงๆ ให้เห็นกับตาตัวเองเมื่อ 16 ปีที่แล้ว

ย้อนกลับไปยังวัยเริ่มต้นเลขสอง คุณแคทเธอรีนเล่าว่าเธอมีงานที่ดี มั่นคง รายได้ดี สามารถดูแลพ่อแม่และจับจ่ายใช้สอยได้ตามใจต้องการ แต่จู่ๆ เธอก็หันหลังให้กับชีวิตสุขสบายที่ลอนดอน ลาออกจากงาน ขายสมบัติทุกอย่าง แล้วบินมาเมืองไทย

“ตอนนั้นฉันทำงานเป็นผู้จัดการร้าน GAP ที่ลอนดอน ฉันรักงานและชีวิตของตัวเองมาก คิดเสมอว่าโชคดีที่งานทั้งสนุก รายได้ก็ดี คือไม่มีอะไรผิดปกติเลย ทุกอย่างดีหมด ถ้ามองจากภายนอกก็ดูยิ้มแย้ม มีความสุขดี แต่ในใจลึกๆ กลับรู้สึกไม่มีความสุขเลย ชีวิตวนเวียนอยู่กับวัตถุนิยม ซื้อเสื้อผ้า หาเงิน รู้สึกว่าไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้สังคม ตอนนั้นก็เลยตัดสินใจลาออกจากงาน ขายบ้าน ขายรถ เพื่อไม่ให้มีอะไรมาฉุดรั้งให้กลับไป”

คุณแคทเธอรีนเล่าว่า ตอนนั้นเธอก็ไม่รู้หรอกว่าจะทำอะไรต่อไป แต่เชื่อมั่นว่าต้องมีอะไรที่เธอทำเพื่อโลกได้บ้าง และด้วยความที่ชอบช้างมาก แอนิเมชั่นในดวงใจตั้งแต่เป็นเด็กหญิงตัวเล็ก ไม่ใช่เทพนิยายอย่างสโนไวท์หรือซินเดอเรลลา แต่คือเรื่องราวช้างดัมโบ้ของวอลต์ ดิสนีย์ เธอจึงบินมาเมืองไทย และไปเที่ยวปางช้างทุกที่ในเชียงใหม่ตามไกด์บุ๊กแนะนำ แต่ภาพช้างตัวเป็นๆ ที่ได้มาเห็นกับตา ทำให้เธอทั้งตกใจ เศร้าใจ และไม่เข้าใจ  

“ทุกที่เรียกตัวเองว่าแซงชัวรี (sanctuary) แต่ภาพที่เห็นมันไม่ใช่ ช้างถูกล่ามด้วยโซ่เส้นใหญ่ ยืนส่ายหัวไปมาซ้ายขวาๆ หน้าผากมีเลือดไหลเป็นทางจากตะขอ ฉันเป็นแค่นักท่องเที่ยว ไม่รู้อะไรหรอกว่าจริงๆ ควรต้องเป็นยังไง รู้แต่ว่าสัตว์ที่น่าทึ่งอย่างช้างไม่ควรถูกปฏิบัติแบบนี้ แต่เมื่อมองไปรอบๆ กลับเห็นนักท่องเที่ยวถ่ายรูปกับช้าง ยิ้มแย้ม ส่งเสียงดัง ฉันสงสัยว่าตัวเองผิดปกติหรือเปล่า ทำไมคนอื่นถึงไม่รู้สึกว่าภาพที่เห็นมันน่าเศร้า แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมยังกลับไปที่ปางเหล่านั้นทุกวัน ฉันไม่สามารถเดินจากไปเฉยๆ ได้ ได้แต่กลับไปซื้อกล้วยให้ช้างกินทุกวันๆ เพราะไม่รู้จะทำยังไง”

Boon Lott’s Elephant Sanctuary (BLES) หรือศูนย์บริบาลช้างบุญรอด

ลูกช้างตัวนั้นชื่อ “บุญรอด”

ด้วยความสนใจในโรงพยาบาลช้าง คุณแคทเธอรีนจึงเดินทางจากเชียงใหม่ไปลำปาง เพื่อไปยังศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ที่นั่นเองเธอได้พบกับบุญรอด ลูกช้างคลอดก่อนกำหนดวัยสามเดือน การพบกันครั้งแรกของทั้งคู่ได้สร้างความผูกพันที่แน่นแฟ้น และค่อยๆ นำพาคุณแคทเธอรีนไปสู่การช่วยเหลือช้างมากมายในเวลาต่อมา

“บุญรอดตัวเล็กมาก มีขนเต็มตัว พอฉันเดินไปที่คอก บุญรอดก็ยื่นงวงมา แล้วพ่นลมใส่หน้าฉันแรงมาก ฉันหัวเราะแล้วเป่าลมใส่หน้ากลับไปบ้าง ทำเอาบุญรอดงง วิ่งกลับไปหาแม่ แต่ดวงตาโตๆ จ้องมองมาที่ฉันจากใต้ท้องแม่ คงเป็นโมเมนต์นั้นเองที่เราตกหลุมรักซึ่งกันและกัน”

คุณแคทเธอรีนเล่าต่อว่า กรรมการผู้จัดการศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยในตอนนั้น ชวนเธออยู่ช่วยงานที่โรงพยาบาลช้าง จากหนึ่งเดือนที่คิดว่าจะลองทำงานอาสาสมัครดู ล่วงเลยกลายเป็นสองปีครึ่งอย่างรวดเร็ว โดยตลอดช่วงเวลานั้น เธอและบุญรอดไม่เคยห่างจากกันเลย จวบจนลมหายใจสุดท้ายของลูกช้าง

“บุญรอดประสบอุบัติเหตุลื่นล้มสองครั้ง ครั้งแรกที่ตีนเขา สัตวแพทย์และควาญบอกว่าไม่รอดแน่ๆ บอกลาลูกซะแคท ฉันบอกว่าไม่ๆ ต้องพาไปโรงพยาบาล ห้ามยอมแพ้เด็ดขาด ทุกคนไม่เชื่อว่าบุญรอดจะรอด แต่ก็ยอมพาขึ้นรถกระบะไปโรงพยาบาล ตั้งแต่คืนนั้น ฉันก็ไม่กลับที่พัก นอนเฝ้าบุญรอดที่คอกจนอาการค่อยๆ ดีขึ้น แต่การล้มครั้งที่สองทำให้กระดูกหักและอาการทรุดหนัก บุญรอดตายในอ้อมกอดของฉัน ก่อนหมดลมหายใจ ฉันให้สัญญากับบุญรอดว่าจะไม่ยอมแพ้ จะต่อสู้เพื่อช่วยเหลือช้างไทย”

Boon Lott’s Elephant Sanctuary (BLES) หรือ ศูนย์บริบาลช้างบุญรอด

จากฝรั่งผีบ้า สู่นางฟ้าของช้าง

แม้ความตายของลูกช้างวัย 14 เดือนทำให้คุณแคทเธอรีนหัวใจสลาย แต่ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอร่วมกับคุณอนนท์ก่อตั้งแหล่งพักพิงที่ปลอดภัยแก่ช้างขึ้น โดยตั้งชื่อปางเพื่อรำลึกถึงลูกช้างที่จากไป

ตลอดระยะเวลา 16 ปีนับตั้งแต่เปิดประตูต้อนรับช้างและนักท่องเที่ยว ศูนย์บริบาลช้างบุญรอดแห่ง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ได้ช่วยเหลือช้างไทยมาแล้วถึง 30 เชือก คุณแคทเธอรีนและคุณอนนท์กำหนดจุดยืนของ BLES ไว้ชัดเจนตั้งแต่วันแรก และแน่วแน่มั่นคงในแนวทางที่ตั้งไว้ตลอดมา ที่นี่ไม่มีการแสดงโชว์ช้าง นักท่องเที่ยวเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ไม่มีการแสดงความรักด้วยการสัมผัสแตะต้อง เพราะทั้งสองเชื่อว่านี่คือวิถีชีวิตตามธรรมชาติที่ดีที่สุดสำหรับช้าง เป็นการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) อย่างแท้จริง

แต่หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 16 ปีก่อน ปางช้างที่ไม่มีโชว์ช้างจะอยู่รอดได้อย่างไร เพราะกิจกรรมท่องเที่ยวเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่นำช้างมาใช้งาน คือการขี่ช้าง โชว์ช้าง ถ่ายรูปกับช้าง และซื้อกล้วยป้อนช้าง

คุณแคทเธอรีนเล่าถึงช่วงแรกเริ่มของการก่อสร้างปางว่า

“เมื่อ 16 ปีก่อน นอกจากงานลากซุงผิดกฏหมายแล้ว สุโขทัยไม่มีการท่องเที่ยวเกี่ยวกับช้างเลย อนนท์ไม่อยากให้ช้างในจังหวัดบ้านเกิด ต้องถูกขายไปที่อื่นเพื่อให้นักท่องเที่ยวขี่ หรือเดินขออาหารตามถนน เราจึงตั้งใจกันว่าจะสร้างที่นี่ให้เป็นบ้านสำหรับช้างเกษียณ ตอนก่อสร้างปาง มีเจ้าหน้าที่อบต.แวะมา เขาถามว่าตรงนี้เป็นลานโชว์ช้างเหรอ ฉันตอบว่าไม่ๆๆ ที่นี่ไม่มีโชว์ช้าง นักท่องเที่ยวที่มาก็แค่มาดูว่าช้างกินอยู่ยังไง พวกเขาพากันหัวเราะและบอกว่า ใครจะซื้อตั๋วเครื่องบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาดูช้างเดินหาอาหารในป่า ผู้คนพากันพูดว่าฉันเป็นฝรั่งผีบ้า ทำปางช้างแบบนี้ไม่รอดหรอก”

คุณแคทเธอรีนเชื่อว่า แนวคิดการทำปางช้างของเธอถูกต้องและดีสำหรับช้าง แต่ยอมรับว่ามีบ้างบางครั้งที่เคยคิดว่า...หรือพวกเขาพูดถูก ฉันโง่หรือเปล่า ฉันคิดผิดมั้ยนะ...แม้จะเคยตั้งคำถามแบบนั้นกับตัวเอง แต่เธอไม่เคยเปลี่ยนความตั้งใจ และแม้ว่าสถานะของเธอจะเป็น ‘ฝรั่ง อายุน้อย และเป็นผู้หญิง’ ซึ่งไม่ใช่โลกของคนทำงานด้านช้างเลย แต่เธอก็เดินหน้าช่วยชีวิต และมอบวันพักผ่อนตลอดอายุที่เหลือให้กับช้างมาแล้วถึง 30 เชือก

ไม่ผิดนักที่บางคนเรียกเธอว่านางฟ้าของช้าง

Boon Lott’s Elephant Sanctuary (BLES) หรือศูนย์บริบาลช้างบุญรอด

Just Food, Friends, and Freedom

ปัจจุบัน BLES มีช้างทั้งหมด 9 เชือก อาวุโสสุดอายุ 65 ปี ชื่อสีดอนวล เด็กสุด 19 ปี ชื่อพังร่ม คุณแคทเธอรีนเล่าว่า ช้างแต่ละเชือกมีที่มาต่างกัน มีทั้งเจ้าของติดต่อมาเพื่อขาย เพื่อบริจาค และบางเชือกคุณแคทเธอรีนและคุณอนนท์ก็เจอระหว่างเดินทางขณะไปช่วยเหลือช้างตัวอื่น ทั้งสองขับรถหลายพันกิโลเมตรข้ามจังหวัดครั้งแล้วครั้งเล่า จากสุโขทัยไปอุตรดิตถ์ พัทยา เชียงใหม่ หัวหิน หรือแม้กระทั่งประเทศลาว เพื่อช่วยเหลือช้างที่ถูกใช้งานอย่างหนักจนบาดเจ็บและพิการ ให้มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ และเรียนรู้ที่จะหวนกลับมาเป็นช้างอย่างแท้จริงอีกครั้ง

คุณแคทเธอรีนเล่าต่อว่า การปรับตัวของช้างแต่ละเชือกใช้เวลาไม่เท่ากัน บางเชือกเมื่อมาถึง BLES ก็สามารถเดินไปหาอาหารได้อย่างอิสระ แต่บางเชือกเลือกอาหารไม่เป็น ไม่รู้ว่าต้นไหนกินได้ เพราะทั้งชีวิตแทบไม่เคยเลือกอาหารจากธรรมชาติกินเอง ขณะที่บางเชือกมีภาวะเครียดเพราะถูกทำร้ายซ้ำๆ แต่ในที่สุดเมื่อได้รับการดูแลอย่างดี และมีชีวิตอย่างอิสระ ทุกเชือกก็ค่อยๆ ปรับตัวสู่วิถีชีวิตที่แท้จริงของช้างได้

“ทุกเชือกมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเมื่อได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ อย่างบัวงามอยู่กับเรามา 12 ปีแล้ว ตอนมาแรกๆ บัวงามชอบเดินเข้าหาคนแล้วเอางวงวางไว้บนหัว เพราะเคยชินกับสร้างความบันเทิงเพื่อขออาหาร แต่เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว เวลาเจอคน บัวงามจะเดินไปทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งฉันภูมิใจมาก เธอกลับมาเป็นช้างจริงๆ ไม่ต้องขออาหารใคร เธอรู้ว่าหาอาหารกินเองได้ หรือพังดาว ตอนมาแรกๆ กลัวคนมาก มีแผลเต็มตัว ขาหน้าพิการ ไม่ยอมให้ใครเข้าใกล้ ไม่ว่าใครก็แตะตัวไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้แข็งแรงมาก เดินขึ้นลงเขาอย่างมั่นใจ ช้างทุกเชือกค่อยๆ เรียนรู้วิถีชีวิตของช้างที่แท้จริง และอยู่รวมกันเหมือนแก๊งเพื่อนสาว ซึ่งเป็นลักษณะตามธรรมชาติของช้าง”

Boon Lott’s Elephant Sanctuary (BLES) หรือศูนย์บริบาลช้างบุญรอด

การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับช้าง คือคำตอบสำหรับอนาคต

แม้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่นำช้างมาใช้งาน จะทำให้ช้างสูญเสียสัญชาตญาณความเป็นช้าง และขาดสวัสดิภาพจนร่างกายทรุดโทรม แต่คุณแคทเธอรีนบอกว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะในส่วนของปางช้างหรือนักท่องเที่ยว

“ย้อนกลับไปสมัยที่ฉันเพิ่งมาเมืองไทย ภาพโฆษณาบนโบรชัวร์ของปางช้างทุกที่ คือรูปควาญนั่งอยู่ที่คอช้าง มือถือตะขอ ส่วนช้างก็แบกที่นั่งไว้บนหลัง แต่เดี๋ยวนี้แทบไม่มีรูปโฆษณาแบบนั้นแล้ว ทุกที่เขียนว่าไม่มีการขี่ช้าง ไม่มีการทำร้ายช้าง ปางช้างเข้าใจ และให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น นักท่องเที่ยวเองก็มีความรู้เกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์เช่นกัน แม้การสร้างความเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับช้าง ยังมีงานท้าทายที่ต้องทำรออยู่อีกมาก แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ก็ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นมากมายเช่นกัน”

Boon Lott’s Elephant Sanctuary (BLES) หรือศูนย์บริบาลช้างบุญรอด

บ้านที่ปลอดภัยของเพื่อนร่วมโลกทุกชีวิต

ตลอดสองปีครึ่งที่โควิด-19 ระบาด แน่นอนว่าทุกธุรกิจได้รับผลกระทบหมด โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ไม่ต่างจากกิจการท่องเที่ยวอื่นๆ BLES ต้องงดรับนักท่องเที่ยวยาวนานกว่า 30 เดือน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น คิวจองมาพักที่ BLES เต็มยาวล่วงหน้าถึงสองปี 

คุณแคทเธอรีนยอมรับว่า ช่วงโควิดระบาดเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก แต่ด้วยความช่วยเหลือจากองค์กรพันธมิตรทั่วโลก รวมถึงองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ซึ่งให้การช่วยเหลือและสนับสนุนตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ BLES ผ่านช่วงเวลายากลำบากนั้นมาได้ ทั้งยังส่งพลังให้เธอแข็งแกร่งขึ้น เพื่อที่จะรับมือสถานการณ์ยากๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

สถานการณ์การระบาดที่คลี่คลาย จนหลายประเทศประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น ทำให้ BLES สามารถเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวได้อีกครั้ง คุณแคทเธอรีนบอกว่า ในยุคที่โลกเชื่อมต่อกันผ่านโซเชียลมีเดีย ช่วยให้การเชื่อมโยงกับผู้คนทั่วโลกสะดวกรวดเร็วกว่ายุคเริ่มก่อตั้ง รูปและเรื่องราว รวมถึงการจองเพื่อมาพักที่ปางนั้น สามารถจัดการผ่านโลกออนไลน์ได้ทุกช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ https://www.blesele.org, IG: blesele แต่ช่องทางที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดคือ Facebook Fanpage : BLESelephants

“แน่นอนว่า BLES เป็นธุรกิจท่องเที่ยว แต่สำหรับเราแล้ว สิ่งสำคัญสุดไม่ใช่เรื่องการหารายได้หรือการทำกำไร แต่เป็นการมอบประสบการณ์ส่วนตัวที่พิเศษและมหัศจรรย์ให้แขกที่มาใช้เวลาที่ BLES เมื่อแขกมาถึง เราจะบอกพวกเขาว่า ที่นี่ไม่ได้เป็นบ้านที่ปลอดภัยเฉพาะช้างเท่านั้น แต่เป็นบ้านที่ปลอดภัยของคุณด้วย ฉันต้องการให้ที่นี่เป็นที่ที่ทุกชีวิตรู้สึกปลอดภัย เป็นที่รัก และได้เป็นตัวของตัวเอง”

คุณแคทเธอรีนกล่าวทิ้งท้าย

ที่นี่ไม่ได้เป็นบ้านที่ปลอดภัยเฉพาะช้างเท่านั้น แต่เป็นบ้านที่ปลอดภัยของคุณด้วย