เรียกร้องหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเร่งยุติความโหดร้ายทารุณต่อโลมาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ข่าว
กรุงเทพฯ, 17 มกราคม 2566 จากกรณีการแสดงเพลง "ทรงอย่างแบด" คู่กับโลมา ณ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังซาฟารีเวิร์ด ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติปี 2566 ที่ได้มีการแชร์และถกเถียงทางโลกโซเชียลกันอย่างกว้างขวาง สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยังขาดความตระหนักรู้เรื่องความโหดร้ายทารุณของการนำสัตว์ป่ามาใช้งานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตลอดจนปัญหาด้านสวัสดิภาพมากมายที่พวกมันต้องเผชิญ เรียกว่าโลมาเหล่านี้ต้องมีชีวิตที่ 'แซดอย่างบ่อย' เพียงเพื่อความบันเทิงของมนุษย์ก็คงไม่ผิดนัก
'โลมา' เป็นสัตว์เลือดอุ่นและเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นเดียวกับมนุษย์ พวกมันเป็นสัตว์สังคมที่มีความชาญฉลาด สามารถสื่อสารกันเองด้วยการส่งเสียงรูปแบบต่างๆ โลมาตามธรรมชาติ มีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลระบบนิเวศ และเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญของความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทรทั่วโลก โลมาแต่ละฝูงมีอาณาเขตกว้างขวางมาก เฉลี่ยราวๆ 100 ตารางกิโลเมตร
ในทางกลับกัน ปัจจุบันนี้มีโลมามากกว่า 3,000 ตัวที่ถูกจับจากธรรมชาติและผสมพันธุ์โดยมนุษย์เพื่อใช้งานเชิงพาณิชย์ทั่วโลก รายงานขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกพบว่าพวกมันต้องถูกแยกลูกแยกแม่ตั้งแต่เด็ก ถูกขังในพื้นที่ที่แคบกว่าอาณาเขตตามธรรมชาติของพวกมันหลายหมื่นเท่า ถูกฝึกให้แสดงท่าทางที่ไม่ใช่พฤติกรรมตามธรรมชาติของพวกมันด้วยวิธีการที่โหดร้ายทารุณ ซึ่งรวมถึงการทำให้โลมาอดอาหาร นอกจากนี้ โลมายังสามารถเกิดความเครียดได้จากเสียงดังของผู้ชมและดนตรีประกอบในพื้นที่อีกด้วย โดยพวกมันจะต้องใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบนี้ไปตลอดอายุขัย
นายฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า
“การนำสัตว์ป่ามาใช้งาน ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังไม่มีประโยชน์ด้านการศึกษาหรือการอนุรักษ์อย่างที่หลายฝ่ายกล่าวอ้างอีกด้วย เนื่องจากสัตว์ป่าที่ถูกใช้งานโดยมนุษย์มาตลอดชีวิตนั้นจะกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติได้ยากมาก ยิ่งไปกว่านั้น สถานที่ท่องเที่ยวอาจจะไม่ได้ให้ข้อมูลด้านผลกระทบต่อสวัสดิภาพสัตว์ตามความเป็นจริงกับผู้ชมโดยเฉพาะเด็กๆ ความโหดร้ายทารุณจึงไม่เป็นที่รับรู้ของสังคมมากนัก”
ปัจจุบัน ภาครัฐและเอกชนทั่วโลกให้ความสำคัญกับการปกป้องโลมามากขึ้น แพลตฟอร์มท่องเที่ยวรายใหญ่อย่าง TripAdvisor และ Booking.com มีแผนที่จะยุติการขายกิจกรรมโชว์โลมาและการสัมผัสกับโลมาแล้ว ด้านรัฐบาลแคนาดาประกาศแบนการกักขังโลมาเพื่อความบันเทิง เช่นเดียวกับฝรั่งเศสที่แบนการผสมพันธุ์โลมาเชิงพาณิชย์แล้ว ขณะที่รัฐบาลอีกหลายประเทศกำลังเร่งผลักดันกฎหมายปฏิรูปสวัสดิภาพโลมา เช่น บราซิล โบลีเวีย ชิลี คอสตาริกา อินเดีย ลักเซมเบอร์ก นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการร่วมมือกันยุติความโหดร้ายทารุณต่อโลมา ตลอดสัตว์ป่าอื่นๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ยุติการบังคับแสดงโชว์ที่ไม่ใช่พฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์ ยุติการผสมพันธุ์เชิงพาณิชย์ และหันมาดูแลสัตว์ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีสวัสดิภาพที่ดี ตลอดจนปรับปรุงกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องสัตว์ป่าอย่างแท้จริง
“เราขอถือโอกาสนี้ส่งสารไปยังสถาบันการศึกษาและพ่อแม่ผู้ปกครองทุกท่านด้วยเช่นกัน ให้ฉุกคิดและตั้งคำถามต่อกิจกรรมที่เป็นการทำร้ายสัตว์ป่าเหล่านี้มากขึ้น และหันมาสนับสนุนการศึกษาเรียนรู้สัตว์ป่าตามถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติแทน เพื่อให้บุตรหลานของท่าน ในฐานะเยาวชนของชาติ ได้เติบโตพร้อมกับความรู้ความเข้าใจด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่ถูกต้อง ไม่มองสัตว์ป่าเป็นเครื่องมือสร้างความบันเทิงของมนุษย์อีกต่อไป”
นายฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ กล่าวสรุป