Too Meh

“ตูเม” ผู้อาวุโสแห่งมูลนิธิหัวใจรักษ์ช้าง

ข่าว

ระยะเวลา 60 ปี ย่อมเป็นช่วงชีวิตยาวนานที่ผ่านพบเรื่องราวมาแล้วมากมาย การได้มีชีวิตบั้นปลายที่สุขสงบในวิถีทางธรรมชาติของตัวเอง ย่อมเป็นชีวิตวัยเกษียณในฝัน ไม่ใช่เฉพาะสำหรับมนุษย์เท่านั้น แต่สัตว์บกขนาดใหญ่ที่สุดอย่างช้าง ก็ควรได้รับสิทธิ์นั้นเช่นกัน

ทุกวันนี้ “ตูเม” ช้างพังวัย 61 ปี ปลอดจากตารางเวลาและทุกพันธนาการ ได้เป็นช้างตามชีวิตที่ช้างควรเป็นมากว่า 7 ปีแล้ว แต่กว่าจะเป็นอิสระอย่างทุกวันนี้ ตูเมก็ไม่ต่างจากช้างไทยจำนวนมาก ที่ผ่านการทำงานหนักมามากกว่าครึ่งชีวิต

Toomeh
Toomeh

หนักและนาน

ด้วยอายุที่ผ่านมาแล้วถึงหกทศวรรษของตูเม นั่นหมายความว่าช้างอาวุโสเชือกนี้มีชีวิตวัยเด็กและวัยสาว

ในยุคที่บ้านเรายังอนุญาตให้มีการทำสัมปทานป่าไม้ ชีวิตในช่วง 20 ปีแรกของตูเมจึงเป็นช้างในอุตสาหกรรมป่าไม้ ทำงานลากซุงในพื้นที่ป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนวันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า จนกระทั่งพื้นที่ป่าลดลงรวดเร็วอย่างน่าใจหาย รัฐบาลจึงยกเลิกการทำสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศ โดยตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2532 เป็น
ต้นมา การตัดไม้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย 

แม้ป่าจะถูกปิด แต่ไม่ได้หมายความว่าตูเมได้พักจากงานลากซุง เพราะทั้งช้างและควาญเจ้าของช้างจำเป็นต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เมื่อบวกกับลักษณะทางกายภาพขนาดใหญ่ของช้าง ซึ่งต้องการอาหารมากกว่าวันละหนึ่งร้อยกิโลกรัม (ช้างกินอาหารราว 10 % ของน้ำหนักตัว) ขณะที่ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้สวนทางกับปริมาณอาหารที่ช้างต้องการ ช้างจำนวนหนึ่งจึงถูกพาเดินเท้าเข้ามากรุงเทพฯ เดินเร่ร่อนให้นักท่องเที่ยวซื้ออาหารให้ และช้างอีกส่วนหนึ่งก็ได้เปลี่ยนผ่านสู่ช่วงชีวิตในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ตูเมก็เช่นกัน

จากป่าสู่ปาง

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปางช้างในจังหวัดทางภาคเหนือ คือแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั้งไทย

และต่างชาติ โดยรูปแบบการให้บริการของปางช้าง คือการสร้างความบันเทิงแก่นักท่องเที่ยวด้วยการแสดงโชว์ช้าง มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวป้อนอาหาร ถ่ายรูป หรือ ขี่หลัง โดยช้างแต่ละตัวรับหน้าที่แตกต่างกันไป

ตูเมวัย 20 กลางๆ ในตอนนั้นยังเป็นช้างวัยสาว แข็งแรง จึงถูกให้ประจำงานแบกนักท่องเที่ยวเดินป่า เคอร์รี่ แม็คเครีย ผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง “มูลนิธิหัวใจรักษ์ช้าง” หรือ Kindred Spirit Elephants Sanctuary เล่าย้อนกลับไปถึงวันที่เธอได้เจอตูเมเมื่อราว 10 ปีก่อน ซึ่งเธอทำงานเป็นอาสาสมัครโครงการอนุรักษ์ช้างในเมืองไทยว่า

“ช้างในแคมป์ท่องเที่ยวต้องทำงานทุกวัน โดยแต่ละวันต้องแบกนักท่องเที่ยวมากกว่าวันละ 6 เที่ยว หรือจนกว่านักท่องเที่ยวจะหมด ซึ่งที่ผ่านมาปางช้างไม่ค่อยมีกฎระเบียบเรื่องการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวมากนัก ช้างจึงมีชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน ตูเมต้องแบกน้ำหนักที่นั่งเหล็กไว้บนหลัง และแบกน้ำหนักนักท่องเที่ยวอีกมากกว่าหนึ่งร้อยกิโลกรัม ครั้งแรกที่ได้เจอตูเม เธอก็อายุ 50 กว่าแล้ว การที่ต้องเดินท่ามกลางแดดร้อน แบกนักท่องเที่ยวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เธอดูเหนื่อยมากๆ”

TooMeh

สูญเสียลูกสาวในปางช้าง

ตูเมเป็นแม่ของลูกช้าง 2 ตัว หนึ่งในสองคือแม่ดูม ซึ่งปัจจุบันเป็นช้างในการดูแลของมูลนิธิหัวใจรักษ์ช้าง

เช่นกัน แต่น่าเศร้าที่ลูกของเธออีกตัวเสียชีวิตในปางช้างท่องเที่ยว เพราะรังต่อร่วงลงมาใส่หัวขณะถูกล่าม
ทำให้ถูกตัวต่อรุมต่อยจนทนพิษบาดแผลไม่ไหว

แม้อุบัติเหตุครั้งนั้นจะทำให้ตูเมต้องสูญเสียลูกไปหนึ่งตัว แต่ยังโชคดีที่พลายเจนตง หลานของเธอ
ซึ่งตอนนั้นยังเป็นลูกช้างวัยเพียง 2 ขวบ สามารถวิ่งหนีการรุมต่อยของกองทัพตัวต่อได้ แต่เจนตงก็ต้องกลายเป็นช้างกำพร้าแม่ และทำงานแบกนักท่องเที่ยวอยู่อีกหลายปี ก่อนจะมีชีวิตอิสระในป่าตามธรรมชาติกับยายและน้า

สู่อิสรภาพ

หลังจากทำงานหนักมาตลอดชีวิตกว่า 50 ปี ตูเมก็ได้ใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายอย่างมีอิสระที่มูลนิธิหัวใจรักษ์

ช้างโดยไม่ต้องเป็นอะไรมากไปกว่าเป็นช้าง และไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าทำในสิ่งที่ช้างทำ ไม่ว่าจะเป็นการหาอาหารกินเองในป่าตามธรรมชาติ อาศัยอยู่ในป่า คลุกทราย เล่นน้ำ และอยู่ร่วมกับฝูงช้างกับลูกสาวของเธอ คือแม่ดูม และเจนตง หลานของเธอ

“ตูเมเป็นช้างที่แข็งแรงมาก ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้

ชัดเมื่อไม่ต้องทำงานรับนักท่องเที่ยวแล้ว ก็คือเธอดูมีความสุขมากๆ แม้จะเป็นช้างแก่ที่มีอายุ 61 ปีแล้ว
แต่ยังชอบเดินขึ้นลงเขา และเดินได้อย่างคล่องแคล่ว ความแข็งแรงของเธอสร้างความประหลาดใจให้พวกเรา”

Toomeh

“ตูเมเป็นช้างที่มีความตั้งใจแน่วแน่ เป็นตัวของตัวเองมากๆ ถ้าอยากทำอะไร ก็จะทำ อาจเป็นเพราะ

เธอแก่แล้ว และรู้จักตัวเองดีว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร ตูเมชอบทำอะไรเอง ไม่ชอบให้ใครมาบอกว่าต้องทำอะไร เธอรู้ว่าพื้นที่ตรงไหนมีอาหาร เธอคอยสอนช้างเด็กๆ ว่าต้นไม้ชนิดใดกินได้ บอกได้เลยว่าเธอเป็นช้างอาวุโสที่มีความสุขมากๆ” 

ชีวิต 60 ปีของตูเม แม้จะเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่เมื่อได้รับการดูแลจากมูลนิธิหัวใจรักษ์ช้าง ซึ่งมีจุดยืนที่เป็นมิตรต่อช้าง ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจาก องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection Thailand)  ให้ช้างได้ใช้ชีวิตของตัวเองในป่าตามธรรมชาติ ไม่มีการสัมผัสหรือรบกวนจากนักท่องเที่ยว ผู้มาเยือนเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์  ไม่ต้องถูกฝึกให้แสดงโชว์ ถูกล่ามโซ่ หรือถูกแยกตัวออกจากฝูง เรื่องราวของตูเมจึงจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง โดยหวังว่าคุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของช้างไทยจะได้รับการดูแล และความเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อช้าง จะขยายออกไปในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ใช้ชีวิตที่มีความสุขและมีสวัสดิภาพที่ดีแบบเดียวกับตูเม