โชคชะตาของ “วาสนา”
ข่าว
ไม่เกินจริงเลยที่ชีวิตของ “วาสนา” ช้างพังวัย 50 ปี นั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวสะเทือนอารมณ์ปนดรามา ขณะเดียวกันก็ลึกซึ้งจับใจ การพบกันระหว่างพังวาสนา และแคทเธอรีน คอนเนอร์ ผู้ก่อตั้งศูนย์บริบาลช้างบุญรอดเมื่อราว 15 ปีที่แล้ว คือโชคชะตาฟ้าลิขิต
ดวงตาสีน้ำผึ้งกับเท้าซ้ายที่แหว่งเหวอะ
ย้อนกลับไปเมื่อกว่าสิบปีก่อน ในยุคเริ่มก่อตั้งศูนย์บริบาลช้างบุญรอด หรือ Boon Lott’s Elephant Sanctuary (BLES) ในวันที่แคทเธอรีน และอนนท์ พิมพ์เหมือน สามีผู้ล่วงลับของเธอกำลังขับรถอยู่บนถนนในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อตั้งใจไปรับพลายมีโชค ลูกช้างวัย 20 เดือน ทั้งคู่เลี้ยวผิดและขับหลงไปบนถนนที่มีปางช้างเงียบๆ แห่งหนึ่งตั้งอยู่ จุดหมายที่แคทเธอรีนและอนนท์ตั้งใจไปไม่ใช่ปางช้างแห่งนั้น แต่การเลี้ยวผิดกลับกลายเป็นโชคชะตาที่ทำให้ได้พบกับพังวาสนา
“มันเป็นถนนที่ค่อนข้างเงียบ เราเห็นวาสนากำลังเดินออกมาจากปาง ที่คอมีควาญช้าง บนหลังมีที่นั่งสำหรับนักท่องเที่ยวผูกอยู่ เมื่อขับเข้าไปใกล้ๆ วาสนาสบตากับฉัน มันเป็นดวงตาสีน้ำผึ้งอันทรงพลัง เราเห็นว่าหน้าผากเธอมีเลือดไหลคล้ายเป็นแผลจากการถูกขอสับ จึงขอให้ควาญหยุด และเอาอาหารให้เธอ”
แคทเธอรีนนำสับปะรด กล้วย และหน่อไม้ จากท้ายรถมาวางที่พื้นเพื่อให้วาสนาหยิบกินเอง ในจังหวะนั้น เธอพบว่า เนื้อบริเวณด้านหน้าเท้าซ้ายของวาสนาแหว่งหายไปเกือบครึ่งเท้า
“เท้าของเธอสกปรก เป็นแผลติดเชื้อ มีแมลงวันตอม เจ้าของปางเดินออกมาพอดี เขาบอกว่าเธอเหยียบกับระเบิดตอนทำงานลากซุงในป่าตะเข็บชายแดน ตอนที่ซื้อเธอมา เท้าก็พิการแบบนี้แล้ว แต่เธอโอเค ทำงานได้ ไม่มีปัญหา ฉันบอกว่าเธอไม่โอเค เธอบาดเจ็บ ต้องได้รับการรักษา เขาจึงถามเราว่าต้องการซื้อวาสนามั้ย”
สัญญาว่าจะต้องเจอกันอีกแน่นอน
แคทเธอรีนบอกว่าเธออยากช่วยช้างตัวนี้เหลือเกิน แต่ ณ ตอนนั้น ศูนย์บริบาลช้างบุญรอดเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน ยังไม่เป็นที่รู้จัก และไม่มีองค์กรใดให้การสนับสนุน เงินที่เตรียมไปในวันนั้น ก็ได้นัดหมายกับอีกปางหนึ่งแล้วว่าจะนำไปช่วยพลายมีโชค เธอจำต้องหาทางกลับมาตั้งหลัก แต่ได้ให้คำมั่นสัญญากับวาสนาว่า “เราจะต้องได้เจอกันอีกแน่นอน ฉันไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ และอย่างไร แต่เราจะต้องพบกันอีกแน่ๆ”
ค่ำวันนั้นหลังจากรับพลายมีโชคมายังศูนย์ฯ เรียบร้อยแล้ว เธอได้โพสต์รูปและเรื่องราวการพบพังวาสนา ซึ่งกำลังทุกข์จากเท้าซ้ายที่พิการ ซ้ำยังถูกบังคับให้ทำงานแบกนักท่องเที่ยว เพียงสองวัน ความช่วยเหลือจากมิตรสหายและผู้สนับสนุนก็หลั่งไหลมา จนสามารถไปรับพังวาสนามาอยู่ด้วยได้แล้ว
แต่โชคชะตาไม่ยอมให้อิสระแก่พังวาสนาง่ายๆ เมื่อสองสามีภรรยาขับรถจากสุโขทัยเพื่อไปรับวาสนาที่เชียงใหม่ กลับพบว่าวาสนาถูกขายให้ปางช้างอีกแห่งใน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอนไปแล้ว แม้จะผิดหวัง แต่แคทเธอรีนไม่ยอมถอดใจ เธอบอกสามีว่าจากเชียงใหม่ไปแม่ฮ่องสอน ขับรถไม่กี่ชั่วโมง ไปรับวาสนากันเถอะ อนนท์ทักท้วงว่าไม่รู้เจ้าของใหม่จะยอมขายวาสนามั้ย ถ้าเขาไม่ยอม เงินบริจาคที่ได้มา ก็น่าจะนำไปช่วยช้างตัวอื่นแทน
“ฉันตอบว่าไม่ได้ ฉันสัญญากับวาสนาแล้ว เจ้าของคนใหม่อาจใจดีก็ได้ เมื่อเราไปถึงปางช้างที่ปาย เจ้าของคนใหม่ก็ออกมาต้อนรับและพูดคุยกับเราอย่างดี เขายินดีขายวาสนาให้ แต่ขอบวกเพิ่มอีกหนึ่งแสนบาท เราทำอะไรไม่ได้นอกจากขับรถกลับบ้าน และขอระดมทุนอีกครั้ง”
วันนี้ที่รอคอย
อีกราวสองสัปดาห์เมื่อได้เงินครบ อนนท์และควาญช้างก็ขับรถไปรับวาสนาจาก อ.ปาย มายังศูนย์บริบาลช้างบุญรอด จ.สุโขทัย บ้านหลังใหม่ที่มีจุดยืนที่เป็นมิตรต่อช้าง ที่นี่ไม่มีการล่ามโซ่ ปลอดการสัมผัสจากมนุษย์ ช้างอาศัยอยู่ในป่าและหาอาหารกินเอง แม้เวลาตีสี่ของเช้าวันที่วาสนาเดินทางมาถึงบ้านใหม่แห่งนี้จะผ่านมาเกือบ 15 ปีแล้ว แต่เช้ามืดวันนั้นยังแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำของแคทเธอรีน เธอเล่าว่าตอนนั้นเธอไม่ได้ไปรับวาสนาด้วยเพราะกำลังตั้งครรภ์ แต่เตรียมต้อนรับอยู่ที่ศูนย์พร้อมบุฟเฟต์ผลไม้
“ทันทีที่เดินลงจากรถ สิ่งแรกที่วาสนาทำคือสบตากับฉัน แล้วยกเท้าซ้ายข้างที่บาดเจ็บขึ้น เอางวงถูเท้าไปมา แล้วร้องเสียงแหลมดังไม่ยอมหยุด เวลาช้างส่งเสียงแบบนี้คือเขาต้องการพูดคุย ซึ่งมีความหมายแตกต่างกันออกไป ฉันคิดว่าเธอพยายามบอกพวกเราว่าเท้าเธอเจ็บ ทำงานไม่ไหว ฉันลูบงวงของวาสนาแล้วบอกเธอว่า เธอเป็นอิสระแล้ว ไม่มีงานอะไรต้องทำอีกต่อไป ฉันรู้ว่าเท้าเธอเจ็บ เราจะรักษาให้ ไม่ต้องกังวล นี่คือบ้านของเธอ เธอไม่ต้องไปไหนอีกแล้ว”
แคทเธอรีนนั่งอยู่กับวาสนาจนถึงเช้าอีกวันหนึ่ง เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น วาสนาก็เดินไปยังบึงน้ำใกล้ๆ ใช้งวงดูดน้ำแล้วพ่นไปทั่ว พร้อมส่งเสียงร้องแหลมอีกครั้ง จากนั้นก็หันกลับมามองแคทเธอรีนราวกับจะขออนุญาต
“ฉันบอกเธอว่า เอาเลย ที่รัก เล่นน้ำให้เต็มที่ สนุกให้เต็มที่ ทำตามใจอย่างที่อยากทำ และทันใดนั้นเธอก็ไถลก้นลงไปในบึง เกลือกกลิ้งไปมา พ่นน้ำ ส่งเสียงดังอย่างมีความสุข”
เชื่อใจมนุษย์อีกครั้ง
กว่า 30 ปีที่วาสนาต้องทำงาน ทั้งลากซุงและแบกนักท่องเที่ยวทั้งๆ ที่เท้าพิการ ถูกทำร้ายและถูกบังคับให้ทำงานหนัก โดยไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ความเครียดและความเจ็บปวดส่งผลต่อสภาพจิตใจ ทำให้วาสนาค่อนข้างก้าวร้าว แต่ด้วยการดูแลของควาญบุญลอย ซึ่งรัก เมตตา และเอาใจใส่วาสนาอย่างดี ทำให้เธอกลับมาไว้ใจมนุษย์อีกครั้ง แคทเธอรีนเรียกทั้งสองว่าคู่ฮันนีมูน เพราะต่างรักซึ่งกันและกันมากๆ
“สำหรับเท้าซ้ายของวาสนา เธอต้องได้รับการทำความสะอาดแผล และใส่ยาทุกวันตลอดชีวิต เราทำถุงเท้าพิเศษให้เธอสวม ด้านในบริเวณเนื้อส่วนที่หายไป มีผ้าพันแผลรองไว้ ฉันคิดว่าเธอไม่เจ็บแล้ว แต่คงมีบ้างบางวันที่น่าจะรู้สึกอัดอัด”
“ฉันเชื่อว่าการพบกันของเราในวันนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว วาสนาปรับตัวแทบจะทันทีที่มาถึง สำหรับฉัน เธอคือแชมเปี้ยน ถ้าเป็นคน เท้าพิการขนาดนั้นคงต้องนั่งวีลแชร์ แต่เธอร่าเริง ขี้เล่น และแม้เท้าจะพิการ แต่ก็ชอบวิ่ง เธอมีแก๊งเพื่อนสาวคือพังดาวและบัวงาม ทั้งสามชอบส่งเสียงดังคุยกัน ทุกวันนี้เธอมีความสุขมากและอ้วนมาก”
แคทเธอรีนเชื่อว่าหากวาสนาไม่ได้รับการช่วยเหลือ ช้างพังวัย 30 เศษในเวลานั้น คงเสียชีวิตในเวลาอีกไม่นาน ไม่มีโอกาสใช้ชีวิตอิสระในป่าตามวิถีที่แท้จริงของช้าง และเติบโตอย่างมีความสุขจนเป็นช้างในวัยกว่า 50 ปีเช่นทุกวันนี้ การปกป้องและส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ จึงเป็นงานที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย รณรงค์ ส่งเสริม ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งกับผู้ประกอบการปางช้าง อย่างศูนย์บริบาลช้างบุญรอด คนในชุมชน บริษัททัวร์ และนักท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมให้การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อช้าง เกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน