VGI_0

Global Vision International เชื่อมโยงโลกของช้างและคนทั่วโลก

ข่าว

Global Vision International เชื่อมโยงโลกของช้างและคนทั่วโลก

ไม่ว่าด้วยลักษณะทางกายภาพหรือชีวภาพ ช้างได้กลายเป็นสัญลักษณ์อันหลากหลาย ทั้งทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ความน่าทึ่งของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนนี้ ดึงดูดความสนใจผู้คนทั่วโลกให้ศึกษา ค้นคว้า และวิจัย รวมไปถึงให้การช่วยเหลือ เพื่อยกระดับสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ ดังเช่นเครือข่ายอาสาสมัครระดับโลก ที่ทำงานด้านสัตว์และสิ่งแวดล้อมอย่าง Global Vision International ได้สร้างฐานและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้โลกของช้างและโลกของคน เชื่อมโยงชิดใกล้ แบบมีระยะห่าง  

VGI_1

หนึ่งความมุ่งหมาย กระจายสู่ทั่วโลก

สำหรับคนหนุ่มสาวชาวตะวันตกที่สนใจเรื่องสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม องค์กรอาสาสมัครที่มีสำนักงานอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกอย่าง Global Vision International หรือ GVI เป็นหนึ่งในตัวเลือกอันดับต้นๆ ในใจ สำหรับการใช้เวลาในต่างแดน เพื่อเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และผู้คน ไปพร้อมๆ กัน 

ย้อนหลังไปในปี 1988 ริชาร์ด วอลตัน เด็กหนุ่มอายุเพียง 18 ปี มีความตั้งใจอยากทำอะไรสักอย่างที่มีความหมายต่อชีวิต เขาจึงเดินทางออกจากความสะดวกสบายในประเทศอังกฤษบ้านเกิด ไปเป็นอาสาสมัครยังหมู่บ้านห่างไกลในปาตาโกเนีย แน่นอนว่าสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมที่แตกต่าง ได้มอบประสบการณ์ล้ำค่าให้เขามากมาย แต่มีบางคำถามที่ริชาร์ดค้างคาใจ 

“ทำไมคนท้องถิ่นถึงไม่มีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ” 

“แล้วสิ่งที่ทำๆ กันไปจะส่งผลยั่งยืนในระยะยาวได้หรือ”

หลายปีผ่านไป เมื่อริชาร์ดเดินทางไปยังเกาะแห่งหนึ่งในทะเลสาบมาลาวี ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในทวีปแอฟริกา ข้อกังขาเดิมกลับมากวนใจเขาอีกครั้ง และเมื่อไม่สามารถสลัดข้อข้องใจนั้นออกไปได้ ความคิดริเริ่มโครงการอาสาสมัครที่ทำงานร่วมกับชาวบ้าน ชุมชน และองค์กรท้องถิ่นจึงผุดขึ้น เมื่อเขาแชร์ไอเดียนี้กับ เบน เครก เพื่อนนักชีววิทยาร่วมวิทยาลัย โปรเจ็กต์แรกทางทะเลของ GVI ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยมีผู้ร่วมโครงการครั้งแรก 21 คน 

จากความตั้งใจเล็กๆ แต่แรงกล้าในเป้าหมายยิ่งใหญ่ ปัจจุบัน GVI มีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการต่างๆ แล้วกว่า 35,000 คน กระจายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ซึ่ง GVI เน้นศึกษา 2 ประเด็นใหญ่ คือชีววิทยาทางทะเล มีฐานการทำงานที่จ.พังงา และชีวิตช้าง มีฐานการทำงานที่จ.เชียงใหม่

VGI_2

ป่าคือบ้านของช้าง

รูปแบบการท่องเที่ยวของ GVI อาจแตกต่างจากปางช้างโดยทั่วไป ซึ่งโจนาธาน เบอร์รี ผู้จัดการโครงการ GVI เชียงใหม่ บอกว่า คือการมาทำงานอาสาสมัคร ที่ได้ทั้งการเรียนรู้ ได้ศึกษาวิจัย และได้สัมผัสความสวยงามของธรรมชาติที่โอบล้อมหมู่บ้านชาวเขาในจ.เชียงใหม่ ไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตทั้งของช้างและชุมชน

GVI ประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นในปี 2012 เราทำงานร่วมกับเจ้าของช้าง โดยเสนอทางเลือกให้เขา แทนที่จะให้ช้างทำงานในปางท่องเที่ยว ซึ่งต้องแสดงโชว์ หรือให้นักท่องเที่ยวขี่ เจ้าของช้างสามารถพาช้างกลับบ้าน ให้ช้างได้มาใช้ชีวิตในป่า โดย GVI ช่วยเหลือด้านรายได้ นั่นหมายความว่า เราไม่ได้ซื้อหรือเป็นเจ้าของช้าง ชาวบ้านยังคงเป็นเจ้าของช้างเหมือนเดิม”

 

Ethical Elephant Tourism

ย้อนกลับไปราวสิบปีก่อน เมื่อนึกถึงปางช้างท่องเที่ยว ภาพที่ตามมาคือนักท่องเที่ยวขี่ช้าง ช้างวาดรูป ช้างแสดงโชว์ต่างๆ โดยมีควาญนั่งอยู่บนคอช้าง มือถือตะขอ บางที่ฝึกลูกช้างให้เดินทรงตัวบนเชือกเพียง 2 เส้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป โจนาธานบอกว่าการท่องเที่ยวรูปแบบเดิมที่ทรมานช้างเริ่มลดน้อยลง ปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้างเพิ่มจำนวนขึ้น ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวก็เข้าใจมากขึ้นว่า ทั้งหมดข้างต้นนั้นคือการเอาเปรียบและทรมานช้าง ให้ทำในสิ่งที่ไม่ใช่พฤติกรรมตามธรรมชาติ ซึ่งขัดต่อหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) 

“โดยส่วนตัวผมมองว่าการท่องเที่ยวในเมืองไทย ถูกกำหนดทิศทางโดยนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ถ้านักท่องเที่ยวอยากขี่ช้าง ปางช้างก็จะให้บริการขี่ช้าง แต่ถ้านักท่องเที่ยวอยากมาดูช้างใช้ชีวิตจริงๆ ในป่า ปางช้างก็จะพัฒนาไปสู่รูปแบบนั้น ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด ได้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ปางช้าง ปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวปางช้าง ไม่ได้มาเพราะอยากขี่ช้างอีกแล้ว แต่อยากมาดูช้างแสดงพฤดติกรรมตามธรรมชาติของตัวเอง”

VGI_3

เตาหลอมใบใหญ่ จากช้างสู่คน 

หลักการทำงานของ GVI คือการทำงานร่วมกับคนท้องถิ่น โดยนำประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ ทั้งจากชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ของ GVI และอาสาสมัครที่มาฝึกงาน ซึ่งมาจากหลากหลายอาชีพทั่วโลก มาแลกเปลี่ยนและร่วมกันทำงาน โดยมีเป้าหมายคือความยั่งยืนในทุกมิติ 

“เราเปิดกว้างต้อนรับอาสาสมัครจากทั่วโลก คนที่มาก็มีแบ็กกราวนด์แตกต่างกันไป มีทั้งเด็กไปจนถึงคนสูงอายุ แต่ส่วนใหญ่อาสาสมัครจะเป็นคนที่เรียนทางด้านชีววิทยา สิ่งแวดล้อม หรือสัตววิทยา และตั้งใจจะทำงานด้านนี้”

ระยะเวลาการเข้าร่วมโครงการนั้น คุณโจนาธานบอกว่าขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล บางคนมาเดือนเดียว แต่บางคนใช้เวลาคลุกคลีอยู่ถึงครึ่งปี ผู้คนรู้จัก GVI จากการบอกต่อ และสามารถเสิร์ชหาข้อมูลได้ทาง www.gvi.co.uk และ Facebook Fanpage: GviThailandChiangMai โดยกิจกรรมที่อาสาสมัครทำนั้น คือการตื่นแต่เช้า เดินขึ้นเขาเข้าไปในป่า ไปเฝ้าดูและสังเกตพฤติกรรมช้าง ทั้งการกิน การอยู่ และการเข้าสังคมกับโขลง เก็บรวบรวมเป็นข้อมูล ซึ่ง GVI ยังทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการวิจัยพฤติกรรมและอนุรักษ์ช้างด้วย 

นอกจากเก็บข้อมูลช้างแล้ว อาสาสมัครยังมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือชุมชน เช่น สอนภาษาอังกฤษ ให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะ ขณะที่ชาวบ้านก็สอนภาษากะเหรี่ยง และการทำอาหารพื้นบ้าน บ้านห้วยผักกูด ในอ้อมกอดของขุนเขาของอ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ จึงไม่ต่างอะไรจากเตาขนาดใหญ่ ที่ความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม หลอมรวมเพื่อร่วมกันทำงานไปสู่จุดมุ่งหมาย คือการยกระดับสวัสดิภาพช้างให้ดียิ่งขึ้น เป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น

VGI_4

ชีวิตที่มีอิสระ คือชีวิตที่ดี

ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ไหน ย่อมไม่ต้องการการถูกกักขัง จองจำ และใช้งานหนัก การดูแลส่งเสริมให้สัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุดอย่างช้าง ได้มีชีวิตที่มีอิสระ ได้เป็นช้างอย่างเต็มที่ ค่อยๆ กระจายไปสู่ควาญช้าง ปางช้าง และตัวแปรสำคัญที่กำหนดทิศทางท่องเที่ยว ดังเช่นที่คุณโจนาธานกล่าวไว้ในตอนต้น คือนักท่องเที่ยว 

ปัจจุบัน GVI มีช้างอยู่ในความดูแลของโครงการทั้งสิ้น 8 เชือก ได้แก่ ทองดี คามูล ลาล่า ซาจ๊ะ ลูลู่ ดีดี้ โบโลวัน และน้องไหม โดยช้างอาวุโสสุดคือพังทองดี อายุ 65 ปี เคยทำงานลากซุง ขณะที่ลาล่าคือช้างอายุน้อยสุด เพิ่งฉลองอายุ 3 ปีไปเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
 

VGI_5

“ช้างทุกเชือกเมื่อได้ใช้ชีวิตในป่าอีกครั้ง เราเห็นว่าเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป สามารถปรับตัวได้ดีมาก จากที่เคยทำงานในปางช้าง รับนักท่องเที่ยว เข้าหาคนเพื่อขออาหาร เดี๋ยวนี้ไม่สนใจคนแล้ว อย่างหน้าฝนเป็นฤดูที่อาหารอุดมสมบูรณ์ ช้างสามารถหาอาหารได้อย่างเป็นธรรมชาติมากๆ มีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องถูกบังคับให้ทำงานรับนักท่องเที่ยว ไม่ต้องโดนขี่” 

“ปัจจุบันที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อช้างเพิ่มมากขึ้น ผู้คนมีความเข้าใจมากขึ้น ว่าการที่ช้างไม่ต้องสัมผัสกับมนุษย์ แค่เฝ้าดูให้ช้างได้หาอาหารกินเองอย่างอิสระ ได้แสดงพฤติกรรมที่แท้จริงตามวิถีธรรมชาติ คือสิ่งที่เป็นประโยชน์กับช้าง คนที่ได้มาเห็นช้างในป่า ผมคิดว่าพวกเขามีความสุขนะครับ ช้างก็ไม่เครียด และมีความสุขเช่นกัน” คุณโจนาธาน กล่าวทิ้งท้าย