มอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 20,100 เข็ม ให้กรมปศุสัตว์พร้อมสนับสนุนงบพัฒนาระบบฐานข้อมูลประชากรสัตว์
ข่าว
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection) นำโดย นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรฯ พร้อมตัวแทนองค์กรฯ ร่วมส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 20,100 เข็ม ให้แก่กรมปศุสัตว์ เพื่อนำไปฉีดให้กับสุนัขจรจัด โดยมี น.สพ.ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นผู้แทนรับมอบวัคซีน ณ กรมปศุสัตว์
น.สพ.ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า “ในนามของกรมปศุสัตว์ รู้สึกยินดีมากที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเล็งเห็นถึงความสำคัญของสัตว์ทุกชนิด โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางกรมปศุสัตว์เองก็มีความร่วมมือในหลายมิติกับทางองค์กรฯ ในการให้ความช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ มาหลายครั้ง โดยเฉพาะปัญหาของโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งยังมีการระบาดในประเทศไทย โครงการต่างๆ จะสำเร็จลุล่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน”
นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “ตลอดหลายปีที่ผ่านมาทางองค์กรฯ บริจาควัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่กรมปศุสัตว์อย่างต่อเนื่องแล้วกว่า 40,000 เข็ม มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการช่วยเหลือให้สัตว์ในชุมชนปลอดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องสู่ประชาชนโดยตรงในวงกว้าง ที่ผ่านมาเราให้การช่วยเหลือตลอดจนทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการระงับการฆ่าและทารุณสุนัขจรจัดอย่างไม่จำเป็น รวมถึงการส่งเสริมความรู้สำหรับประชาชนทั่วไปให้มีความรับผิดชอบในการเลี้ยงสัตว์ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการประชากรสุนัขอย่างมีมนุษยธรรม”
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ดำเนินโครงการสำคัญระดับโลก ได้แก่ โครงการ “Life’s Better with Dogs” ขึ้นในประเทศไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของสุนัขให้ดีขึ้นผ่านการรณรงค์ และปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า เพราะปัจจุบันในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าระบาดในวงกว้าง หากแต่ในความเป็นจริงการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนในหลายประเทศนั้น ล้วนเกิดจากการไม่เอาใจใส่ของผู้เลี้ยงสุนัขและการจัดการที่ไม่ถูกต้องทั้งสิ้น
นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาเกิดการระบาดของกาฬโรคแอฟริกาในม้า ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่สัตว์จะแสดงอาการแบบเฉียบพลันหรือเฉียบพลันรุนแรง มีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 95 เป็นเหตุให้ม้าในประเทศไทยตายเป็นจำนวนมาก องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จึงสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำไปใช้พัฒนาระบบจัดเก็บฐานข้อมูลม้า ลา ล่อ และม้าลาย เพื่อช่วยส่งเสริมและผลักดันให้ประเทศไทยปลอดจากกาฬโรคแอฟริกาในม้าภายในปี พ.ศ.2566