CFC

เผยรายงานการดูแลสวัสดิภาพไก่ของธุรกิจฟาสต์ฟู้ด ยังต่ำกว่ามาตรฐาน

ข่าว

นับเป็นปีที่สองขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกที่มีการจัดทำรายงานการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ของบริษัทฟาสต์ฟู้ดทั้งต่างประเทศและในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อเนื้อไก่ และจัดทำ The Pecking Order เพื่อเป็นการรณรงค์แบรนด์ร้านอาหารชื่อดังอย่าเพิกเฉยในการดูแลคุณภาพชีวิตไก่ และให้สาธารณะได้รับทราบถึงปัญหาของผลกระทบในเรื่องนี้

The Pecking Order

ในปีนี้ นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) พร้อมนางสาวเหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ฟาร์ม (ไก่) ได้ยื่นรายงาน The Pecking Order หรือรายงานการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ไก่ในอุตสาหกรรมฟาร์ม ให้แก่บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ผู้บริหารแฟรนไชส์แบรนด์ KFC หวังการยื่นในครั้งนี้นำไปสู่ความร่วมมือการดูแลสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตไก่ให้กับประเทศไทยได้

FFC

นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และ นางสาวเหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการด้านสวัสดิภาพไก่

นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรฯ ได้แสดงความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิตต่อผู้บริโภคว่าเนื้อไก่เป็นเนื้อสัตว์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่น เพราะมีราคาที่ถูกกว่า และมีไขมันน้อยกว่า แต่ก็ต้องมาดูเรื่องของความสะอาด ถูกสุขลักษณะอนามัย นั่นหมายถึงเนื้อไก่จะต้องมาจากฟาร์มที่สะอาด ปลอดภัย มีการดูแลคุณภาพชีวิตไก่ที่เหมาะสม มีการเปิดเผยแหล่งที่มาให้กับผู้บริโภคเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเอง

ในฐานะที่ดูแลเรื่องคุณภาพชีวิตสัตว์ เราตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ทุกชนิด รวมถึงสัตว์ในฟาร์ม จึงเป็นที่มาในการเรียกร้องให้บริษัทฟาสต์ฟู้ดทั้งหลายที่รับซื้อเนื้อไก่ ต้องเริ่มรณรงค์สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อยกระดับสวัสดิภาพของไก่ หรือแม้สัตว์อื่นๆ ให้ดีขึ้น ซึ่งเริ่มจากฟาร์มที่เป็นที่อยู่อาศัย การดูแลที่ดี ปลอดโรคต่าง ๆ ก็จะสามารถยกระดับบริษัทเหล่านี้ในเรื่องสวัสดิภาพไก่ไปสู่สากล อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคด้วย” นางสาวโรจนากล่าว

43 Day old caged meat chicken

รายงาน The Pecking Order  มีการเปิดเผยมาตรการการดูแลสวัสดิภาพไก่ในหลายๆบริษัทอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง ไก่ส่วนมากมาจากฟาร์มไก่ที่มีสภาพแวดล้อมไม่ได้มาตราฐานและมีชีวิตอยู่อย่างแออัด และยิ่งไปกว่านั้น บริษัทส่วนใหญ่ยังเพิกเฉยที่จะแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานในการเลือกซื้อไก่จากฟาร์มที่มีคุณภาพอีกด้วย

นางสาวเหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการด้านสวัสดิภาพไก่ ได้ย้ำวัตถุประสงค์ของการรณรงค์ ปีนี้เราได้นำชูประเด็นเรื่องไก่ เพราะเนื้อไก่มีการบริโภคค่อนข้างสูง และพบว่ายังมีฟาร์มอุตสาหกรรมบางแห่งหรือมากกว่านั้น ยังคงดูแลไก่ต่ำกว่ามาตราฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้สายพันธุ์ที่เร่งโต พื้นอาศัยที่แออัดคับแคบ ไม่มีแสงธรรมชาติที่เข้าถึง ไม่มีโอกาสได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ทำให้เกิดอาการเครียดและเกิดโรคได้ง่าย ทำให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเกินความจำเป็น

ในการป้องกันโรคระบาด ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการการดื้อยา และมียาปฏิชีวนะตกค้างจากเนื้อไก่ไปสู่คน ตอนนี้ทั่วโลกมีการใช้ยาปฎิชีวนะในสัตว์เพื่อการบริโภคไปกว่า 131,000 ตันต่อปี โดยจำนวน 3 ใน 4 ของยาปฎิชีวนะนี้ถูกใช้กับสัตว์ในฟาร์ม และยาเหล่านี้มักถูกใช้เกินความจำเป็น สุดท้ายก็ตกไปอยู่ที่ผู้บริโภคเช่นเดิม”

World Animal Protection - The Pecking Order - Chickens in a factory farm

ทั้งนี้ มีบริษัททั่วโลกกว่า 160 แห่งได้ลงนามการสร้างพันธะสัญญาการดูแลสวัสดิภาพไก่ (Better Chicken Commitment) บ้างแล้วในฝั่งทวีปยุโรป แต่ในด้านทวีปเอเชีย ยังไม่มีการรายงานว่าบริษัทที่ซื้อเนื้อไก่มีการดำเนินงานใดๆ ทั้งสิ้นในด้านมาตรการสวัสดิภาพไก่ และไม่มีบริษัทไหนเลยทั้งทวีปยุโรปและเอเชียที่ทำรายงานเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ที่ครอบคลุมทุกด้าน

การจัดอันดับธุรกิจฟาสต์ฟู้ดชั้นนำของโลกที่ได้รับการประเมินคะแนนในเรื่องการดูแลสวัสดิภาพไก่ ซึ่งมี Burger King, Domino’s Pizza Group, Domino’s Inc, KFC, McDonald’s, Nando’s, Pizza Hut, Starbucks และ Subway ผลของการจัดอันดับเผยว่า บริษัท Domino’s Inc ธุรกิจร้านอาหารพิชซ่า ได้รับคะแนนต่ำสุด คือ 0 บ่งชี้ให้เห็นว่าบริษัทไม่ได้มีความสนใจในเรื่องสวัสดิภาพไก่เลยแม้แต่น้อย ส่วนฟ้าสต์ฟู้ดชื่อดังที่เป็นที่ติดหูคนไทย ได้แก่ Burger King, Pizza Hut, Donino’s Plc และ Domino’s Inc ได้ถูกจัดอันดับ “ยอดแย่” ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

Pecking Order Ranking

นอกจากเรื่องของโรคแล้ว เหมือนดาวได้กล่าวว่า ในประเทศไทยบริษัทที่เป็นแบรนด์ไก่ทอดชื่อดังที่คนไทยคุ้นเคยกันดี คือ บริษัท Yum International หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม KFC ประเทศไทย โดยองค์กรฯ ต้องการรณรงค์และทำงานร่วมกับ KFC ให้มีการผลักดันโครงการนี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพไก่ให้เหมือนกับ KFC ในประเทศอื่น ซึ่งมีเป้าหมายหลัก 4 ข้อ คือ

1. การเลี้ยงไก่ที่เติบโตช้าลง

2. มีพื้นที่ให้ไก่อย่างเหมาะสม

3. มีแสงสว่างที่เป็นธรรมชาติในฟาร์ม

4. สร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับพฤติกรรมของไก่

เพื่อร่วมเปลี่ยนแปลงมาตราการการดูแลสวัสดิภาพไก่ ภายในปี 2563

 

คุณสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์เพื่อผลักดันสวัสดิภาพไก่ในอุตสาหกรรมฟาร์มได้ที่นี่