มูลนิธิหัวใจรักษ์ช้าง

เป็นช้างได้เต็มที่ เพราะที่นี่ไม่มีตารางเวลา

ข่าว

“ที่นี่” ที่ว่าคือผืนป่าหลายร้อยไร่บนภูเขาสูง ณ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ “ที่นี่” เต็มไปด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติ ปราศจากรั้วกั้นอาณาเขต

ช้างในการดูแลของ “มูลนิธิหัวใจรักษ์ช้าง” หรือ Kindred Spirit Elephants Sanctuary จึงมีอิสระเต็มที่ และได้ใช้ชีวิตเต็มเวลาในป่า อย่างที่ช้างควรจะอยู่ อย่างที่ช้างควรจะเป็น

มูลนิธิหัวใจรักษ์ช้าง

จากไอร์แลนด์สู่ไทยแลนด์

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ที่เมื่อโตเต็มวัยมีน้ำหนักมากกว่า 3,000 กิโลกรัมอย่างช้างนั้น ดึงดูดความสนใจผู้คนได้เสมอ เมื่อใดก็ตามที่มีคนพบช้างเดินข้ามถนน จากฟากหนึ่งของป่าสู่อีกฟากหนึ่ง ภาพชีวิตในช่วงไม่กี่นาทีที่มีการบันทึกไว้ มักถูกแชร์ผ่านโลกออนไลน์ และเป็นที่สนใจในวงกว้างเสมอ ทั้งคนที่บังเอิญได้เห็นช้างป่ากับตาตัวเอง และคนที่ได้ดูคลิป ต่างรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นสิ่งมีชีวิตขนาดมหึมา แม้เพียงชั่วเวลาสั้นๆ

เช่นเดียวกับ คุณเคอร์รี่ แม็คเครีย นักสัตววิทยาชาวไอร์แลนด์ ที่มีโอกาสทำงานอาสาสมัครเกี่ยวกับช้างในประเทศศรีลังการะหว่างที่ยังเป็นนักศึกษา ทำให้เธอสนใจชีวิตช้างมากยิ่งขึ้น จนชักนำให้ย้ายมาทำงานด้านอนุรักษ์ช้างกับหลายองค์กรในเมืองไทย ก่อนจะร่วมกับคุณสมบัติ วีระความดี ก่อตั้ง “มูลนิธิหัวใจรักษ์ช้าง” หรือ Kindred Spirit Elephants Sanctuary ขึ้นในปี 2016

คุณเคอร์รี่เล่าถึงเรื่องราวในวัยเยาว์ของเธอว่า

“ฉันเติบโตในฟาร์มโคนมในประเทศไอร์แลนด์ตอนเหนือ ชีวิตวัยเด็กรายล้อมด้วยธรรมชาติและสัตว์ ทำให้รู้ตัวเองว่าอยากทำงานเกี่ยวกับสัตว์ หลังเรียนจบด้านสัตววิทยา (zoology) ในปี 2013 ฉันย้ายมาเมืองไทย เพราะได้งานด้านโครงการอนุรักษ์ช้าง นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้เรียนรู้สภาพความเป็นอยู่ของช้างในเมืองไทย รวมถึงชาวบ้านที่ดูแลช้าง”

คุณเคอร์รี่เล่าต่อว่า เธอได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับช้าง และเรียนรู้ถึงความซับซ้อนทางชีวภาพของสัตว์สังคมอย่างช้าง โดยระหว่างนั้นเธอได้พบกับคุณสมบัติ ควาญช้างชาวไทยภูเขา รวมถึงครอบครัวของเขา ซึ่งเป็นเจ้าของช้างตกทอดกันมาหลายรุ่น ทั้งคู่ตัดสินใจก่อตั้งมูลนิธิหัวใจรักษ์ช้างขึ้น ด้วยจุดมุ่งหมายเรียบง่าย แต่ยิ่งใหญ่ คือพาช้างกลับบ้านของช้าง ซึ่งก็คือการหวนคืนสู่ชีวิตในป่า

มูลนิธิหัวใจรักษ์ช้าง

บ้านของช้างอยู่ในป่าดงดอย

วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง มีความผูกพันแน่นแฟ้นกับช้างมาหลายชั่วคน ควาญสมบัติก็เช่นกันที่เติบโตมากับช้าง ได้เห็นการซื้อขายช้างมาตั้งแต่เด็ก และเรียนรู้การเป็นควาญช้างจากรุ่นสู่รุ่น เขาเริ่มทำงานในปางช้างที่มีโชว์ช้าง ขี่ช้าง และป้อนอาหารช้างตั้งแต่อายุ 15 ปี หกปีให้หลัง เขากลับสู่บ้านเกิดใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และได้ทำงานกับองค์กรด้านการวิจัยและท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับช้าง ซึ่งมีความแตกต่างจากการเป็นควาญในปางช้างท่องเที่ยวอย่างสิ้นเชิง ทำให้เขาเห็นว่าช้างที่ได้อยู่อย่างอิสระในป่า มีความสุขมากแค่ไหน และในฐานะเจ้าของช้างที่ผูกพันกับสัตว์ตัวโตนี้เสมือนครอบครัว จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจ อยากช่วยให้ช้างได้มีชีวิตอยู่ในธรรมชาติมากที่สุด

หลักไมล์แรกของมูลนิธิหัวใจรักษ์ช้าง เริ่มต้นด้วยการพาช้าง 4 เชือกของควาญสมบัติเดินเท้ากลับบ้าน ลัดเลาะเข้าป่า ไต่ขึ้นไปตามความสูงชันของภูเขา ด้วย “สปีดช้าง” การเดินเท้าระยะทาง 70 กิโลเมตรใช้เวลา 3 วัน 2 คืน ช้างค่อยๆ เดินไป หยุดกินอาหารไป และเมื่อผ่านไปกว่า 72 ชั่วโมง จากย่างก้าวแรกที่ อ.แม่วาง ในที่สุด พังตูเม บุญรอด เจนตง และแม่ดูม ก็กลับถึงบ้านที่ อ.แม่แจ่ม ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่นของชุมชน

จากจุดเริ่มต้นในปี 2016 ทำให้ช้างทั้ง 4 เชือกได้ใช้ชีวิตอยู่ในป่าบนภูเขา โดยไม่ต้องทำงานหนักอีกต่อไป นับจากนี้ไม่ต้องแสดงโชว์ใดๆ และไม่ต้องให้นักท่องเที่ยวขี่อีกแล้ว ปัจจุบัน มูลนิธิมีช้างในการดูแล 6 เชือก อีก 2 เชือกคือ โดโด้ และศรีไพร

มูลนิธิหัวใจรักษ์ช้าง

การเชื่อมโยงของช้าง ชุมชนกะเหรี่ยง และผู้คนจากทั่วโลก

คุณเคอร์รี่เล่าเพิ่มเติมถึงจุดมุ่งหมายตั้งแต่เริ่มต้นว่า

“ความตั้งใจของเราในการก่อตั้งมูลนิธิหัวใจรักษ์ช้างขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ช่วยเหลือช้าง แต่เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านด้วย เพราะชาวกะเหรี่ยงมีความผูกพันกับช้างมาก เสมือนเป็นครอบครัว เราจึงอยากทำโครงการที่ช่วยทั้งช้างและชุมชนไปพร้อมกัน”

รูปแบบของมูลนิธิหัวใจรักษ์ช้าง ซึ่งวางจุดยืนไว้ที่การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับช้าง ไปพร้อมๆ กับการดูแลชุมชนให้มีรายได้นั้น เปิดรับทั้งนักท่องเที่ยวและอาสาสมัครที่ต้องการทำงานวิจัยชีวิตความเป็นอยู่ของช้าง โดยผู้มาเยือนจะเข้าพักกับชาวบ้านในลักษณะโฮมสเตย์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์เฝ้าสังเกตพฤติกรรมช้างนั้น คุณเคอร์รี่บอกว่ามีทั้งแบบสองวันหนึ่งคืน และสามวันสองคืน ขณะที่อาสาสมัครงานวิจัยมีระยะเวลาตั้งแต่ 4-8 สัปดาห์

“โปรแกรมในแต่ละวันเริ่มจากตื่นแต่เช้า เดินขึ้นภูเขา เข้าป่าไปหาช้าง สังเกตการณ์ และเก็บข้อมูลพฤติกรรม กินมื้อกลางวันในป่า บ่ายต้นๆ เดินกลับลงมา ถ้าใครยังอยู่ต่อก็จะได้เรียนรู้การสานตะกร้า ได้ช่วยสอนภาษาอังกฤษ เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นจากการทำอาหารและการใช้ชีวิต นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากยุโรปและอเมริกาเหนือ มีอาชีพหลากหลาย อายุตั้งแต่ 5-70 ปี ขณะที่อาสาสมัครฝึกงานจะเป็นคนที่เรียนด้านวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา รวมถึงการตลาด และการถ่ายภาพ ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวอายุ 20-35 ปี”

มูลนิธิหัวใจรักษ์ช้าง

ไม่รบกวน งดสัมผัส ไม่ต้องจัดตารางเวลา

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ทำงานด้านส่งเสริมสวัสดิภาพช้าง คุณเคอร์รี่ยอมรับว่า ทั้งเจ้าของช้าง เจ้าของปาง  และนักท่องเที่ยว มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ดีขึ้นมาก เธอเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ปางช้างหลายแห่งค่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบมาสู่การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อช้าง ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี

“สำหรับเราเอง ในช่วงแรกๆ ของการก่อตั้ง เรายังให้นักท่องเที่ยวป้อนอาหารช้าง แต่ตอนนี้ไม่แล้ว เพราะเรามองว่าไม่เกิดประโยชน์กับช้าง และยังส่งผลต่อนิสัยช้างด้วยเวลามีคนมาสังเกต ช้างก็มาสนใจคนเพราะคาดหวังอาหาร ส่งผลต่อไปถึงงานวิจัย เมื่อเราไม่ให้นักท่องเที่ยวใกล้ชิดช้าง เดี๋ยวนี้ช้างก็ไม่สนใจคนแล้ว แต่ละเชือกหาอาหารกินเองอย่างอิสระในพื้นที่หลายร้อยไร่ ไม่มีการรบกวนจากมนุษย์ อยากทำอะไรก็ทำ ไม่มีตารางเวลา ไม่มีตารางโชว์ ช้างเลือกเองว่าจะทำอะไรในแต่ละวัน ปรับตัวและเรียนรู้การรวมกลุ่มในสังคมของช้าง”

มูลนิธิหัวใจรักษ์ช้าง

ผสานเครือข่าย ผนึกใจก้าวผ่านวิกฤต

ระยะเวลาสองปีครึ่งของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้ของมูลนิธิและชุมชนอย่างมาก ขณะเดียวกันเมื่อปางช้างทุกแห่งจำเป็นต้องปิดให้บริการ ก็ส่งผลให้ควาญเจ้าของช้างต้องพาช้างกลับบ้านเช่นกัน คุณเคอร์รี่บอกว่าช่วงโควิดมีช้างจากปางท่องเที่ยวกลับมายังชุมชนกว่า 60 เชือก ควาญไม่มีรายได้ ช้างขาดแคลนอาหาร การระดมทุนครั้งใหญ่ซึ่งไม่เพียงช่วยเหลือช้างในการดูแลของมูลนิธิเท่านั้น แต่รวมถึงช้างที่กลับมาบ้านด้วย จึงเริ่มต้นขึ้นผ่านเครือข่ายออนไลน์ ทั้งทางเว็บไชต์ kselephantsanctuary.com และ Facebook Fanpage: kselephantsanctuary

“นอกจากนี้ เรายังได้รับการเงินทุนสนับสนุนจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกด้วย โดยช่วยให้ควาญช้างยังมีเงินเดือน และช่วยค่าอาหารช้าง ซึ่งเราต้องขอขอบคุณทุกความช่วยเหลืออย่างมากที่ช่วยให้ผ่านช่วงวิกฤตนั้นมาได้”

คุณเคอร์รี่กล่าวปิดท้ายว่า การทำงานที่ท้าทาย แต่มีความสุขเมื่อได้เห็นช้างเดินหาอาหารกินเองอย่างเป็นธรรมชาติ คือสิ่งที่เติมพลังการทำงานให้เธอ และเธอเชื่อว่าการได้เฝ้าดูสัตว์ตัวโตใช้ชีวิตอย่างอิสระ คือประสบการณ์ล้ำค่าของผู้มาเยือนทุกคนเช่นกัน