broiler chicken

เหตุผลที่มนุษย์ “ต้อง” ให้ความสำคัญกับทุกข์และสุขของสัตว์จากมุมมองเชิงปรัชญา (Part I)

ข่าว

เหตุผลที่มนุษย์ “ต้อง” ให้ความสำคัญกับทุกข์และสุขของสัตว์จากมุมมองเชิงปรัชญา (Part I)

TH

อาจารย์เหมือนมาด มุกข์ประดิษฐ์

(สาขาปรัชญา ธรรมศาสตร์)

 

"ทำไมต้องแคร์สัตว์?" คำว่า "ต้อง" ในที่นี้เอาให้ชัดก่อนว่าหมายถึงอะไร เราอาจจะใช้คำนี้ในหลายความหมาย เช่น ต้อง แปลว่าควร (เธอต้องลองกินอาหารร้านนี้) ต้อง แปลว่ากฎหมายกำหนด (ผู้มีรายได้มากกว่าขั้นพื้นฐานที่รัฐกำหนด จะต้องจ่ายภาษีรายได้ประจำปี) ต้อง ยังอาจหมายถึง เป็นข้อกำหนดทางศาสนา (ชาวพุทธต้องไม่ฆ่าสัตว์ เพราะผิดศีลข้อที่หนึ่งในห้าข้อสำหรับฆราวาส) หรือข้อกำหนดที่คนอื่นบังคับเอาไว้ (นักเรียนต้องส่งรายงานภายในวันพุธนี้) ต้องยังอาจหมายถึงกฎทางวิทยาศาสตร์ (เครื่องบินจะบินได้ ต้องอาศัยแรงทั้งสี่ คือแรงยก แรงดึงดูดโลก แรงขับไปข้างหน้า และแรงต้านทาน) เวลาที่เราบอกว่าคน "ต้อง" แคร์สัตว์ เราไม่ได้หมายความอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวมาแล้ว เราหมายความว่า "ต้อง" ที่แปลว่า "ถูกจริยธรรม" การถูกจริยธรรมทางปรัชญา ไม่ได้เป็นอันเดียวกับการถูกจริยธรรมทางศาสนา เพราะปรัชญาใช้เหตุผล กล่าวคือใช้ข้อโต้แย้งมาแสดงแก่กัน ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็ชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดของข้อโต้แย้งที่ตนไม่เห็นด้วยได้ โดยไม่มีใครต้องอ้างอำนาจที่เหนือไปกว่าสติปัญญาของมนุษย์

นี่หมายความว่า ถ้าใครบอกเราว่าเราต้องแคร์สัตว์ แปลว่า เรามีหน้าที่ทางจริยธรรมที่จะแคร์สัตว์ หมายความว่าถ้าไม่แคร์ก็จะผิดจริยธรรม ทีนี้คนที่บอกว่าเรามีหน้าที่ทางจริยธรรม เขาก็ต้องแจกแจงให้เราดูว่าทำไมเราจึงควรเชื่อเช่นนั้น เช่นนักคิดที่มีอิทธิพลในวิธีที่ชาวตะวันตกคิดเรื่องสัตว์มาก เรียกตัวเองว่านักประโยชน์นิยม (Utilitarians, Utilitarianism) นักประโยชน์นิยมคิดว่าทฤษฎีของเขาขายถูก ควรซื้อมาก เพราะว่าเขาเรียกร้องให้เราต้องเชื่อในเรื่องพื้นฐานที่ใครๆก็เชื่ออยู่แล้ว คือให้เชื่อว่าความเจ็บปวดเป็นสิ่งไม่ดี ความสุขเป็นสิ่งดี นี่เป็นอย่างเดียวที่เราต้องเชื่อ จากจุดนี้เป็นต้นไปเขาจะใช้เหตุผลทำให้เราเข้าใจโดยตรรกะของตัวเองว่าทำไมเราต้องแคร์ประโยชน์ของสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกทั้งหมด ทั้งคนและสัตว์ด้วย

Eating less meat is better for farm animals, the planet and your health

นักประโยชน์นิยมบอกว่า เราต้องตั้งสติก่อน เราคิดว่าเราควรจะมีจริยธรรมไหม หมายความว่าการเป็นคนนี่ จำเป็นต้องมีจริยธรรมไหม เราอยากจะบอกได้ไหมว่า คนที่ข่มขืนเด็กสาวคนหนึ่งในรถไฟ แล้วโยนเธอออกมาในสภาพเปลือยเปล่า จากรถไฟที่กำลังวิ่ง ทำให้เธอต้องคลานออกไปตายในกองหญ้า (เรื่องจริงที่เป็นข่าวหลายปีมาแล้ว) เป็นคนที่ทำสิ่งที่ผิด เราอยากบอกได้ไหมว่าการที่คนผิวขาวลากคอคนผิวดำออกมาจากทวีปแอฟริกา แล้วก็มาเฆี่ยนตีเหมือนกับที่ทำกับสัตว์ในไร่ บังคับให้ทำงาน แย่งลูกไปจากแม่ เพื่อเอาไปเร่ประมูลขาย เป็นสิ่งที่ผิด เราอยากจะพูดได้ไหมว่าในโลกนี้มีสิ่งที่ผิด นักปรัชญาหลายสำนักเห็นว่า ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีนี่ติดตัวมนุษย์มา ไม่ได้มาจากพระเจ้าแต่ว่ามาจากชาร์ลส์ ดาร์วิน (หมายถึงอธิบายได้ด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการ ของดาร์วิน)

มนุษย์มีสมองที่คิดเข้าใจคนอื่นได้ เข้าใจความทุกข์ของคนอื่นได้ เข้าใจเรื่องนามธรรมได้ มนุษย์จึงมีมโนทัศน์เรื่องความยุติธรรม ความเมตตา เห็นการกระทำบางอย่างว่าสง่างาม น่าชื่นชม (นึกถึงผู้หญิงผิวดำชื่อ โรซ่า ปาร์ค ที่ไม่ยอมลุกไปนั่งหลังรถเมล์ ตำรวจมาบังคับ บอกว่าคนผิวดำต้องไปนั่งข้างหลัง เธอก็ไม่ไป การไม่ยอมลุกจากที่นั่งของเธอเป็นเหตุการณ์สำคัญอันหนึ่งที่จุดประกายการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองในอเมริกา) เห็นการกระทำบางอย่างว่าน่าเกลียด น่ารังเกียจ (ลองจินตนาการว่า ถ้ามีตำรวจบางคน ทำร้ายทรมานนักโทษ ใช้ถุงดำคลุมศีรษะนักโทษจนขาดอากาศตาย) มนุษย์อยากจะบอกว่ามีอะไรบางอย่างผิด เกี่ยวกับการกระทำบางอย่าง มีอะไรบางอย่างถูก เกี่ยวกับการกระทำบางอย่าง เราแม้กระทั่งเขียนกฎหมายเพื่อสะท้อนความเชื่อมั่นอันนี้ (เช่นกฎหมายห้ามกีดกันทางเพศ กฎหมายคุ้มครองเด็ก)

มีบางคนพยายามคิดว่า ความผิดถูกไม่มี มีแต่การคิดคำนวณผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น เช่นคิดว่าเราไม่ควรทำผิดเพราะสังคมจะประนาม หรือไม่ควรทำผิดเพราะจะผิดกฎหมาย แต่ความคิดเช่นนี้ไม่ได้สะท้อนความคิดของคนทั่วไป ตัวอย่างเช่น เราคิดว่ามนุษย์ที่ไม่มีความสงสารคนอื่นเลย เป็นคนป่วย (psychopath)  นักคิดคนหนึ่งเป็นคนกรีก เกิดมาในยุคกรีกโบราณ ชื่ออริสโตเติล ชอบสำรวจสิ่งต่างๆในโลก แกบอกว่าคน สัตว์ สิ่งของ นี่มีธรรมชาติของมัน นักคิดในสายอริสโตเติลปัจจุบันจะชี้ให้เห็นว่า สัตว์บางชนิดไม่ได้มีลักษณะที่มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น อย่างฉลามขาวที่กินสัตว์หรือกินคนที่อยู่ในน้ำ งูที่กินเหยื่อ แต่ว่ามนุษย์มีลักษณะของสปีชีส์บางอย่าง กล่าวคือเป็นสัตว์สังคม และลูกมนุษย์ต้องพึ่งพาพ่อแม่อยู่เป็นเวลานานกว่าจะหากินเองได้ ลักษณะเช่นนี้ ประกอบกับการมีสมอง ที่ช่วยให้คิดตรรกะและคิดถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ ประกอบกับสามารถคิดจินตนาการได้ ทำให้เรามีความเห็นใจคนอื่นได้ จินตนาการถึงความทุกข์ของคนอื่นได้

มนุษย์จึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความคิดทางจริยธรรม ไม่ใช่เพราะความมีจริยธรรมเป็นสิ่งที่สูงส่งอะไร แต่มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ปลาว่ายน้ำ นกบิน คนก็คิด คนที่ไม่มีจินตนาการถึงความทุกข์ของคนอื่น หรือว่าจินตนาการแต่ไม่สงสาร จึงถูกมองว่าป่วย แปลว่าผิดปกติจากมนุษย์ที่มีสุขภาพดีทั่วไป คนแบบนี้แม้จะขึ้นศาลศาลก็ไม่ลงโทษ เพราะถือว่าเขาไม่ได้อยู่ในมาตรฐานของมนุษย์ทั่วไป 

Crowd of people

เอาเป็นว่าเราพิจารณาได้แล้วว่าธรรมชาติของมนุษย์อย่างหนึ่งคือการคิดเรื่องผิดชอบชั่วดี (เป็นสิ่งมีชีวิตทางจริยธรรม หรือ moral being) ทีนี้ปัญหาที่เหลือคือ แล้วอะไรคือความถูกผิดทางจริยธรรม เพราะเท่าที่ผ่านมาเราเพียงแค่ได้ข้อสรุปว่า มนุษย์มีลักษณะที่ถามเรื่องทางจริยธรรม ให้ค่ากับเรื่องทางจริยธรรม เรายังไม่ได้บอกว่าอะไรเป็นสิ่งที่ผิดถูกทางจริยธรรม (จะเห็นว่าแต่ละสังคมมีความคิดเรื่องความผิดถูกต่างกัน เช่นในสังคมทาส การที่นายทาสข่มขืนทาสก็ไม่ผิด เพราะว่าทาสเป็นสมบัติของนายทาสและไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง)  

นักคิดหลายสำนักแข่งกันให้คำตอบเรื่องนี้ เช่นประโยชน์นิยม นักคิดสายว่าด้วยหน้าที่ของค้านท์ (อิมมานูเอล ค้านท์, Immanuel Kant, เป็นนักคิดในสมัยศตวรรษที่ 18-19 ซึ่งเรียกกันว่าเป็นยุคภูมิธรรม หรือแสงสว่าง, Enlightenment, ซึ่งเป็นยุคที่โลกตะวันตกปลดแอกทางความคิดจากศาสนจักรและหันมาให้ความสำคัญกับเหตุผล จึงเป็นที่มาของชื่อนี้) หลังๆมานี้มีนักจริยศาสตร์สายคุณธรรม (Virtue ethics) นักจริยศาสตร์สายความอาทร (Care ethics, ซึ่งสายนี้เกี่ยวพันกับการต่อสู้ของสตรีนิยม, Feminism, นักเฟมินิสต์พึงให้ความสนใจ!) ในบทความสั้นๆนี้จะกล่าวถึงความคิดทุกอย่างไม่ได้ จะขอเพียงกล่าวถึงความคิดสายประโยชน์นิยม เพราะหมู่มวลบรรดานักสวัสดิภาพสัตว์ต่างติดหนี้นักคิดสายนี้ มีนักคิดชื่อ ปีเตอร์ ซิงเงอร์ (Peter Singer) เป็นต้น ซึ่งยังมีชีวิตอยู่และได้เขียนหนังสือใหม่ออกมาในปี 2566 นี้ ดังจะได้แนะนำให้อ่านในตอนท้ายของบทความ ซิงเงอร์เขียนหนังสือ Animal Liberation ออกมาในปี 1975 ซึ่งถือกันว่าเป็นหมุดหมายจุดเริ่มต้นของขบวนการสิทธิสัตว์หรือขบวนการสวัสดิภาพสัตว์ (animal rights, animal welfare movement)   

Animal Liberation

 Animal Liberation (Peter Singer)

ดังที่เราได้ทราบแล้วว่านักประโยชน์นิยมโฆษณาว่าทฤษฎีเขาซื้อง่ายราคาถูก กล่าวคือไม่เรียกร้องให้ผู้ฟังเชื่ออะไรงมงาย (เช่นบอกว่ามีความจริงที่อยู่เหนือโลก) หรือเชื่ออะไรเยอะไป เช่นว่ามนุษย์มีเหตุผล เหตุผลทำให้เราเข้าถึงกฎทางจริยธรรมที่เป็นสากลได้ โดยไม่ต้องดูอะไรที่อยู่ในโลกเลย เรารู้ว่าการใช้มนุษย์คนอื่นเป็นเครื่องมือเป็นเรื่องผิด เพราะว่าเรารู้ว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล การใช้สิ่งที่มีเหตุผลเป็นเครื่องมือเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้เองได้ว่าผิด (อันนี้เยอะไป คือขอเยอะไป ขอให้เราเชื่อว่าสิ่งใดมีเหตุผล เราจะรู้เองว่าสิ่งนั้นพึงถูกเคารพและไม่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือได้ ถ้าในบางสังคมไม่ได้เชื่อแบบนั้น และไม่ได้ "รู้เอง" เราก็ไม่อาจจะให้เหตุผลต่อไปได้เพราะเขาไม่ยอมรับความคิดตั้งต้นของเรา)

ส่วนประโยชน์นิยม เขาโฆษณาว่าทฤษฎีเขาราคาถูก น่าซื้อ เพราะว่าสิ่งเดียวที่เขาขอให้เราเชื่อคือ ความทุกข์ไม่ดีสำหรับเรา ความสุขนั้นดีสำหรับเรา เอาละ ทีนี้ได้เกณฑ์ที่ราคาถูก ซื้อไว้ก่อน มาประกอบกับความคิดเมื่อครู่นี้ ที่บอกว่า มนุษย์ให้ความสำคัญกับความถูกต้อง ความดี ความยุติธรรม และจะเพิ่มด้วยว่ามนุษย์ให้ความสำคัญกับการคิดสอดคล้องกับตัวของตัวเอง มีตรรกะที่คงเส้นคงวา (ไม่งั้นเราเรียกคนบ้า) ทีนี้เวลาเราพูดถึงหลักจริยธรรม หรือหลักความดี หลักความถูกต้อง เราหมายถึงอะไร ยังไม่ต้องบอกว่าอะไรถูก อะไรผิดนะ แค่คิดก่อนว่า เวลาที่เราบอกว่า หลักที่บอกว่าอันนี้ถูก อันนี้ผิด ต้องมีลักษณะอย่างไร

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราบอกว่าใครก็ตามที่เดินผ่านหน้าปากซอย เราจะแซวก็ได้ จะลวนลามก็ได้ จะเอามีดจี้เอากระเป๋าสตางค์มาก็ได้ แล้วพอมีคนถามว่า ทำไมทำแบบนั้น เราก็ตอบว่า เพราะนี่เป็นหลักทางจริยธรรมของเรา แบบนี้ใช้ได้ไหม เรามีความรู้สึกว่านี่ไม่ใช่หลักอะไรเลย มันคือการทำตามใจตัวเองใช่ไหม สำหรับคนที่เป็นจิ๊กโก๋ปากซอยแบบนั้น ถ้าตัวเขาเองไปที่ไหนเขาก็ไม่อยากโดนลวนลาม ไม่อยากโดนดูถูก ไม่อยากโดนปล้น ใช่ไหม หรือว่าถ้าเป็นคนที่เขารัก เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นลูกเขา เขาก็ไม่อยากให้เจอแบบนั้นใช่หรือไม่

ดังนั้นเราคิดว่านี่ไม่ใช่หลักจริยธรรม เพราะมันไม่ต่างอะไรกับการทำตามใจชอบเลย ถ้าเราจะใช้คำว่าหลักจริยธรรมกับการทำตามใจชอบเพื่ออธิบายสิ่งเดียวกัน แล้วจะมีสองคำไว้ทำไม ก็แค่เรียกทุกอย่างว่าการทำตามใจชอบ ไม่ดีหรือ ดังนั้นการพูดถึงหลักทางจริยธรรม แปลว่าเราหมายถึงสิ่งที่ไม่เหมือนการเป็นจิ๊กโก๋หน้าปากซอยใช่ไหม (ขออภัยคำอุปมาค่ะ ผู้เขียนแก่แล้ว คำสำนวนก็ล้าสมัยไปบ้างค่ะ ไม่ทราบสมัยนี้คำว่าจิ๊กโก๋ยังใช้อยู่ไหม) ดังนั้นเอาใหม่ เวลาเราบอกว่าจริยธรรม จึงหมายความว่าไม่จิ๊กโก๋หน้าปากซอย การไม่จิ๊กโก๋หน้าปากซอยแปลว่า เรามีกฎที่เหมือนกันปฎิบัติกับทุกคน

นี่เป็นสิ่งที่ทำให้กฎหมายเป็นกฎหมาย (คือการใช้ได้ทั่วไป) หมายความว่า เวลาเราบอกว่า มนุษย์ใส่ใจเรื่องจริยธรรม หรือมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตทางจริยธรรม แปลว่าเวลาเราบอกว่า การข่มขืนเด็กสาวแล้วโยนลงมาจากรถไฟ ให้เธอคลานไปตายในกองหญ้า เป็นเรื่อง "ผิด" เราไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องที่เราบังเอิญไม่ชอบ แต่ว่าเป็นเรื่อง "ผิด" นี่ทำให้เราเข้าไปอยู่ในการสนทนาทางจริยธรรม และไม่ได้พูดถึงแค่รสนิยมส่วนตัวของเรา เอาละ ทีนี้ลองเอาความเชื่อ (ที่เพิ่งซื้อไปเมื่อกี้) ว่าความสุขเป็นสิ่งดี ความทุกข์เป็นสิ่งไม่ดี บวกเข้ากับว่า มนุษย์แคร์เรื่องความผิดความถูกที่เป็นสากล (แคร์เรื่องจริยธรรม) เราจะได้หลักการขึ้นมาหลักการหนึ่ง เรียกว่า หลักการความสุขที่มากที่สุด ("the Greatest Happiness Principle", บางคนเรียกหลักมหสุข แต่ผู้เขียนชอบภาษาปกติมากกว่าภาษาหรูหรา)

หลักการนี้หมายถึง ถ้าความสุขเป็นเรื่องดี ความสุขมากที่สุดก็ต้องดีที่สุด และความสุขของทุกคนต้องเท่ากัน (ให้กลับไปคิดเรื่องจิ๊กโก๋หน้าปากซอย) ทีนี้เวลาเราบอก "ทุกคน" มันหมายความว่ายังไง อันที่จริงมันหมายความเหมือนกับที่ศาสนาพุทธให้เราท่องว่า สัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ นั่น แหละ คือเวลาเราบอก สัตว์ทั้งหลาย มันหมายถึงทุกสิ่งมีชีวิตที่มีความทุกข์ได้ เราเลยใช้คำพูดว่า สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ อันนั้นเป๊ะเลย ประโยชน์นิยมบอกว่า เวลาเราบอกว่า "ทุกคน" เราต้องไม่ได้หมายถึง มนุษย์ ที่เป็นสมาชิกสปีชีส์โฮโมเซเปียนส์เท่านั้น แต่ต้องหมายถึง "บุคคล" (persons)

ซึ่งหมายถึงสิ่งที่มีความรู้ตัว และมีความทุกข์ได้ คือหมายถึงมีความรู้สึกทุกข์ได้ และมีความคิดได้ว่าฉันไม่อยากทุกข์ นักประโยชน์นิยมโต้แย้งว่าสัตว์มีความเป็นบุคคลในความหมายนี้ และสัตว์ก็ไม่อยากตาย ไม่อยากถูกทำร้าย ไม่อยากทรมานในลักษณะต่างๆ เหมือนกับมนุษย์ ถ้ามนุษย์จะทำ "ถูกต้อง" (ทางจริยธรรม) ต่อสัตว์ มนุษย์ก็ต้องปฏิบัติต่อสัตว์ไม่เหมือนที่จิ๊กโก๋จะทำ แต่ต้องปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก (sentient beings) เหมือนกับที่สิ่งมีชีวิตที่ตัดสินเรื่องราวทางจริยธรรมได้ (moral agent) พึงจะทำ กล่าวคือ ต้องถือว่าความสุขความทุกข์ (หรือเรียกว่า ประโยชน์ ต่อสิ่งนั้นๆ) ของสัตว์ทั้งหลายมีความเท่าเทียมกัน นี่คือหลักการ "การพิจารณาถึงความเท่าเทียมกันของประโยชน์" ("equal consideration of interests") แปลว่า หมูไม่อยากตาย ช้างไม่อยากถูกส่งไปบรรณาการประเทศศรีลังกา เพื่อถูกนำไปใช้ทารุณกรรมต่างๆนานา

ถ้าพิจารณาว่าประโยชน์ของหมู และของช้าง มีน้ำหนักเท่ากับของมนุษย์แล้ว เราจะเห็นว่าเราไม่กินหมูก็ไม่ทุกข์มากถึงกับจะตาย แต่ว่าหมูมันตายจริง ตายอย่างทรมาน ถ้าเราฆ่ามัน และก็ถูกเลี้ยงอยู่ในฟาร์มอุตสาหกรรมอย่างเป็นทุกข์ทรมานด้วย รวมความทุกข์ของหมูกับความสุขของเราแล้ว ความสุขของเราแค่ชั่วโมงเดียว (ชั่วเวลาที่กินหมูกระทะ) แต่ความทุกข์ของหมูมากมายเหลือเกิน ลองนึกดูว่า ถ้าเอาแมวที่เราเลี้ยงไปทำอย่างนั้นบ้าง เพื่อเราจะมีความสุขชั่วโมงหนึ่งจะเอาไหม ถ้าเอาพ่อแม่เราไปทำแบบนั้น เราจะเอาไหม ถ้าให้เราเองไปอยู่ในฟาร์มอุตสาหกรรมเพื่อจะถูกฆ่ากิน เราเอาไหม เราก็ไม่เอา

ดังนั้นจึงคิดได้ว่าความสุขจากการกิน น้อยกว่าความทุกข์จากการถูกเลี้ยงไว้ฆ่า หลักการประโยชน์สุขมากที่สุดหมายความว่าการกระทำอะไรที่ก่อทุกข์มากกว่าสุข เราต้องไม่ทำ ดังนั้นเราต้องไม่เลี้ยงสัตว์ไว้ฆ่า โดยทำให้มันทรมาน นี่คือหลักคิดพื้นฐานของนักวีแกนสายจริยธรรม (มีคนที่เป็นวีแกนสายสิ่งแวดล้อมก็มี เพราะว่าวัวปล่อยแกซมีเธนออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้โลกร้อนมากกว่าการที่รถเผาน้ำมันเสียอีก มีคนที่เป็นวีแกนสายสุขภาพก็มี แต่ในที่นี้เราพูดถึงคนเป็นวีแกนเพราะเห็นว่าการฆ่าสัตว์มากินมันผิด

นี่คือเหตุผลว่าทำไมมันถึงผิด) หลักการพิจารณาถึงความเท่าเทียมกันของประโยชน์ บอกว่า เราไม่อาจคิดว่าประโยชน์ของมนุษย์มีน้ำหนักมากกว่า คิดถึงพ่อค้าที่ชั่งของขายแล้วใช้นิ้วกดตาชั่งเพื่อเพิ่มน้ำหนัก เราบอกว่านั่นโกงใช่ไหม การคิดว่าประโยชน์ของมนุษย์แม้จะน้อยเพียงไร (เช่นการกินหมูหนึ่งชั่วโมง) มีน้ำหนักมากกว่าความทุกข์ของหมู ชั่วชีวิต เป็นการเอานิ้วไปกดตาชั่ง นั่นเรียกว่าโกง แต่ถ้าเราทำจริยศาสตร์แล้วเราต้องมีความเป็นสากล แปลว่าต้องทรีตทุกคน ("บุคคล") เท่าเทียมกัน 

อ่านต่อ Part ll