broiler chicken

เหตุผลที่มนุษย์ “ต้อง” ให้ความสำคัญกับทุกข์และสุขของสัตว์จากมุมมองเชิงปรัชญา (Part Il)

ข่าว

เหตุผลที่มนุษย์ “ต้อง” ให้ความสำคัญกับทุกข์และสุขของสัตว์จากมุมมองเชิงปรัชญา (Part Il)

TH

อาจารย์เหมือนมาด มุกข์ประดิษฐ์

(สาขาปรัชญา ธรรมศาสตร์)

 

ลองพิจารณากรณีเหล่านี้ คือสมัยก่อน คนผิวขาวลากคอคนผิวดำไปเป็นทาสใช่ไหม แล้วก็ทรีตเขาเลวร้ายต่างๆนานา ทีนี้ทำไมคนผิวขาวถึงทำได้ (ทำไมทำแล้วยังนอนหลับได้) มันเป็นเพราะเขาให้เหตุผลว่า คนผิวดำไม่ใช่มนุษย์สูงส่งเหมือนคนผิวขาว เป็นเหมือนกับสัตว์ หลักการทรีตคนเท่าเทียมกันแค่เอาไว้ใช้กับคนขาวเท่านั้น คนผิวดำอยู่นอกเขตแดนของหลักการอันนี้ หรือว่าสมัยก่อนคนพิการถูกเอาไปเล่นปาหี่ เอาไปเป็นตัวตลกให้คนหัวเราะ เราก็คิดว่าคนพิการไม่ใช่พวกเรา เราปฏิบัติดีต่อพวกเรา พวก "ผิดธรรมชาติ" นี่ไม่ใช่พวกเรา สมัยก่อนคนที่เป็น "ลักเพศ" (LGBTQ) ก็ถูกล้อ ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกละเมิดทางเพศและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่สิ่งเหล่านี้มาในสมัยของเรากลายเป็นเรื่องเลวร้าย เป็นเรื่องที่คนมีความคิดไม่ทำกัน เราแม้กระทั่งสร้างกฎหมายมาเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

ประเด็นตรงนี้สำคัญมาก ประเด็นคือ เส้นแบ่งที่บอกว่า คนนั้นเหมือนเรา เขาจึงอยู่ในเขตแดนทางจริยธรรม (ethical domain) คนนั้นไม่เหมือนเรา จึงเอามันมาทำอะไรก็ได้นั้น มันเป็นเส้นมโน แปลว่ามโนขึ้นเอง สมัยหนึ่งก็บอกว่าคนผิวขาวจะทำอะไรคนผิวดำก็ได้ เพราะคนผิวดำไม่ขาว อีกสมัยหนึ่งก็บอกว่าคน "ปกติ" (ไม่พิการ ไม่ "ลักเพศ") จะทำอะไรคนที่ "ไม่ปกติ" ก็ได้ บางสมัยก็บอกว่าคนที่มีศักดิ์ฐานะเป็นชนชั้นสูงในสังคมจะทำอะไรชนชั้นล่างก็ได้ เพราะชนชั้นล่างไม่เป็นชนชั้นสูง เส้นแบ่งว่าขอบเขตทางจริยธรรมจะครอบคลุมใครบ้างนั้น ล้วนแต่คิดขึ้นตามใจของผู้มีอำนาจ ทีนี้ถ้าคิดแบบเป็นกลางจะต้องบอกว่าอะไร ก็จะต้องบอกว่า สิ่งมีชีวิตใดก็ตามที่มีความรู้สึกสุขทุกข์ เป็นสิ่งที่อยู่ภายในเขตแดนทางจริยธรรม ความทุกข์ของทุกบุคคลต้องถูกให้น้ำหนักเท่าเทียมกัน 

Australian rescued broiler chicken. Credit Dillon Watkin

การเท่าเทียมกัน ไม่ได้แปลว่าเหมือนกัน การตบหน้าคนกับตบบั้นท้ายม้า ให้ความเจ็บไม่เหมือนกัน (ตัวอย่างจากหนังสือ จริยศาสตร์ภาคปฏิบัติ หรือ Practical Ethics เขียนโดย ปีเตอร์ ซิงเงอร์ แปลโดยดิฉันเอง) ดังนั้นถ้าเราจำเป็นต้องตบใครสักคนควรจะตบม้า ไม่ใช่เพราะมันเป็นม้า แต่เพราะมันทุกข์น้อยกว่า ตรรกะเดียวกันนี้แสดงให้เห็นอะไรอีก มันแสดงให้เห็นว่า  ความสุขจากการกิน มีน้ำหนักน้อยกว่าความทุกข์จากสัตว์ที่ถูกเลี้ยงไว้ฆ่า ความสุขจากการใช้มาสคาร่าที่ทดลองในหนูหรือกระต่าย มีน้อยกว่าความทุกข์ของกระต่ายที่ถูกทำให้ตาบอดจากการทดลอง มันแสดงให้เห็นว่า การให้ช้างประเทศเพื่อนบ้านไปเป็นของขวัญ มันไร้สติมากเท่าๆกับที่จะเอามนุษย์เองใส่กรงไปเป็นของขวัญ (ทั้งๆที่โถเบญจรงค์ก็มีเกลื่อนเมือง ซื้อไปสิคะ ซื้อไปเป็นของขวัญโน่นไป)

นักประโยชน์นิยมจึงไม่ได้แยกระหว่างคนและสัตว์ (เขาคิดว่าคนก็เป็นสัตว์เหมือนกัน ซึ่งจริงของเขา) เขาแยกระหว่างสิ่งมีชีวิตที่มีทุกข์ได้กับที่มีไม่ได้ เขาจึงคิดว่า มนุษย์ที่สมองตาย หรือเกิดมาไม่มีสมอง หรือว่าเป็นเสต็มเซล ซึ่งไม่มีความรู้สึก อาจถูกเอามาใช้ประโยชน์ต่อมนุษย์ได้ แต่ว่าสัตว์ไม่อาจถูกทำให้เป็นทุกข์มาก เพื่อประโยชน์ที่น้อยกว่าของมนุษย์ได้ นักคิดเช่น ปีเตอร์ ซิงเงอร์ จึงบอกว่า การฆ่าหมูที่โตแล้วนั้น แย่กว่าการฆ่าเด็กทารก เป็นเพราะว่าหมูมีสมองที่วิวัฒนาการมามากแล้ว มันมีความรู้ตัว มันเจ็บเป็น และกลัวเจ็บ มันไม่อยากตาย แต่ว่าเด็กทารกยังไม่พัฒนาความรู้ตัวขึ้นมา ความทุกข์ของเด็กทารกจึงไม่เท่ากับหมูที่โตแล้ว (ซึ่งแน่นอนเรายังต้องนับความทุกข์ของพ่อแม่ทารกนั้น แต่เราก็จะต้องนับความทุกข์ของแม่หมูเช่นกัน) และเมื่อพิจารณาแล้ว แทบจะไม่มีเลยที่เราจะต้องเลือกว่าจะฆ่าหมูหรือจะฆ่าคน

ในชีวิตประจำวันเราเลือกว่าจะฆ่าหมูหรือจะอดกินหมู คือความทุกข์ของคนมันเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความทุกข์ของสัตว์ หลักการความเท่าเทียมของประโยชน์ ซึ่งบอกให้เราเอานิ้วมือออกจากตาชั่ง จึงบอกให้เราตัดความสุขเล็กน้อย เพื่อป้องกันความทุกข์ที่มาก เพราะว่าความสุขและทุกข์ของทุกบุคคลมีน้ำหนักเท่าเทียมกัน  ถ้าใครจะถามว่า เรารู้ได้อย่างไรว่าหมูมีทุกข์ไหม ปลามีทุกข์ไหม ปลาหมึกมีทุกข์ไหม หลักการก็มีอย่างนี้ คือไปถามนักวิทยาศาสตร์สายสัตว์วิทยา (zoologists) หรือไปถามนักชีววิทยา (ก็จะให้ถามใครคะ ถามนักปรัชญาจะรู้มั๊ย) นักวิทยาศาสตร์บอกความรู้สึกทุกข์ของสัตว์โดยดูที่สมองส่วนกลาง และดูที่เส้นประสาท คือสัตว์ทั้งหลายวิวัฒนาการมาโดยเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ดังนั้นสมองและเส้นประสาทของมนุษย์ เช่นว่าระบบประสาทตรงไหนทำให้รู้สึกเจ็บ ก็มีในสัตว์ด้วย และนักพฤติกรรมศาสตร์ที่ศึกษาสัตว์พบพฤติกรรมที่หลีกหนีความเจ็บในสัตว์เหมือนกับที่พบในมนุษย์ นี่เป็นเหตุผลที่นักวีแกนกินพืชได้ (พืชไม่มีระบบประสาทส่วนกลาง และความเจ็บในพืชจะไม่มีประโยชน์เชิงวิวัฒนาการ เพราะความเจ็บไม่อาจจะนำไปสู่การหนีอันตรายเพื่อเอาตัวรอดได้)

A pig is pictured behind its cage in UK factory farm.

ทีนี้เมื่อเราพิจารณาแล้ว เห็นว่าที่นักปรัชญาพูดมามีเหตุผล เราควรจะทำอะไร สิ่งที่เราทำได้คืออ่านเพิ่ม เริ่มอ่าน Peter Singer ซึ่งมีหนังสือแปลแล้วหลายเล่ม จริยศาสตร์ภาคปฏิบัติ หรือ Practical Ethics แปลแล้วโดยดิฉัน (สำนักพิมพ์คบไฟ) Why Vegan, The Most Good You Can Do  และอื่นๆได้ถูกแปลแล้วโดยคุณเนติวิทย์และเพื่อน ที่สำนักพิมพ์ศิษย์สามย่าน  หนังสือใหม่ชื่อ Animal Liberation Now ซึ่งเป็นการอัพเดทเวอร์ชั่นเดิม อาจถูกแปลออกมาเร็วๆนี้ ส่วนถ้าใครอยากอ่านภาษาอังกฤษก็มีให้อ่านหลากหลาย กรุณาค้น Animal Ethics, Peter Singer, Henry Sidgwick, Derek Parfit เป็นต้น  ใครที่อยากเรียน อยากอ่านปรัชญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดคลาสสำหรับบุคคลภายนอกอยู่เป็นระยะ ในด้านการปฏิบัติ เราอาจเริ่มก้าวเล็กๆก่อน เช่นซื้อไข่ที่ไม่ขังแม่ไก่ (free range eggs) มีขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ถ้าที่ไหนไม่มีก็ให้ถามดังๆ ให้คนได้ยิน คนจะได้เริ่มคุ้นเคยกับความคิด และได้เห็นว่าการแคร์เรื่องสัตว์เป็นสิ่งเป็นไปได้ เราควรบริจาคให้องค์กรอย่าง World Animal Protection และอื่นๆ

เราควรเรียกร้องให้นักการเมืองออกกฎหมายป้องกันการทารุณสัตว์ และพัฒนากฎหมายที่มีอยู่แล้วให้ครอบคลุมเรื่องโหดร้ายอย่างการชนวัว ตีไก่ ซึ่งปัจจุบันยังเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เพราะมีผู้อ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ต่อไปนี้ถ้าได้ยินใครอ้างแบบนี้ ขอให้เขาคนนั้นไปสนับสนุนการเอามะพร้าวยัดปากนักโทษ การมีทาส การที่ผู้หญิงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ก็อยู่ในวัฒนธรรมเหมือนกัน และถ้าใครชอบพระนเรศวรในลักษณะที่ต้องตีไก่เหมือนท่าน ก็ต้องสนับสนุนให้รัฐลงโทษคนโดยตัดหัวและวิธีทรมานอื่นๆเหมือนในสมัยของท่านด้วย เพราะว่าคนเราควรจะมีความคงเส้นคงวาในตรรกะ ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะถูกถือว่า "ดี" เพราะเป็นสิ่งที่มีมาก่อนแล้ว สิ่งอื่นๆที่มีมาก่อนก็ต้องถูกถือว่า "ดี" ไปด้วย ถ้าใครจะบอกว่าการตีไก่เป็นวัฒนธรรม แต่การฆ่าตัดหัวไม่ใช่ ก็ให้นึกถึงการลากเส้นแบบมโน หรือตามอำเภอน้ำใจ แบบที่คนขาวทำกับคนดำ หรือแบบที่คน "ปกติ" ทำกับคนที่ "ไม่ปกติ" (ในทางใดทางหนึ่งก็ตาม) แล้วก็ให้บอกว่า เส้นแบ่งที่ว่า ภายในเขตนี้คือวัฒนธรรม ภายนอกเขตนี้ไม่ใช่วัฒนธรรมนั้น นอกจากอยู่ในหัวของเขาเองแล้วเส้นนี้มันมีหลักการอะไรที่บอกว่าจะต้องลากเส้นตรงนั้นเล่า

การทำประโยชน์ให้สัตว์ อาจจะไม่ได้ประโยชน์อะไรกับตัวเราเลย และอาจทำให้เราอดกินของอร่อยอีก แต่นั่นก็คือประเด็นไม่ใช่หรือ มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ถามถึงจริยธรรม วิธีที่มนุษย์ปฏิบัติต่อสัตว์ ควรจะสะท้อนความเป็นมนุษย์ของเราเอง