farmland with a storm cloud lingering above

ฟาร์มอุตสาหกรรมเป็นตัวเร่งให้เกิดวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร

ข่าว

รายงานฉบับใหม่ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้เปิดเผยให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงบนโลกของเราจากการทำฟาร์มอุตสาหกรรม และยังพบว่าการเดินหน้าขยายฟาร์มอุตสาหกรรมต่อไปอีกอย่างต่อเนื่องนอกจากจะทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศตามข้อตกลงปารีสได้แล้วยังจะทำให้เป้าหมายของการมีสภาพภูมิอากาศที่ปลอดภัยในอนาคตเป็นไปไม่ได้อีกด้วย

ผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศที่แฝงอยู่ในการทำฟาร์มอุตสาหกรรม

รายงานฉบับนี้ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตเนื้อไก่และเนื้อหมูในฟาร์มอุตสาหกรรมที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 4 แห่งในบราซิล จีน ยุโรป (ใช้ข้อมูลจากเนเธอร์แลนด์) และสหรัฐฯ และยังพบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตเนื้อไก่เพียงอย่างเดียวในฟาร์มอุตสาหกรรมทั้ง 4 แห่ง มีปริมาณเทียบเท่ากับรถยนต์ที่วิ่งอยู่บนถนน 29 ล้านคันใน 1 ปี 

บ่อยครั้งที่เนื้อหมูและเนื้อไก่มักจะถูกมองว่าไม่มีส่วนในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะความสนใจส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่ก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการย่อยอาหารของวัวและในมูลของวัว แต่ในรายงานฉบับนี้ได้เปิดโปงถึงผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศที่แฝงอยู่ในการทำฟาร์มอุตสาหกรรม รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปรับที่ดินให้โล่งสำหรับปลูกพืชอาหารสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรมทั่วโลก

หากนำประเด็นการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกพืชอาหารสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเหลือง เพื่อการค้าทั่วโลก มาพิจารณาร่วมด้วย ก็จะพบว่า เนื้อสัตว์จากฟาร์มอุตสาหกรรมในเนเธอร์แลนด์ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า  และเนื้อสัตว์จากฟาร์มอุตสาหกรรมในจีนส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 เท่า

เราจะแก้ไขสถานการณ์นี้ได้อย่างไร?

การศึกษานี้นอกจากจะเป็นการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจากการผลิตเนื้อหมูและเนื้อไก่ในฟาร์มอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลกทั้ง 4 แห่งแล้ว ยังเป็นการศึกษาครั้งแรกที่ประเมินว่าการบริโภคเนื้อไก่และเนื้อหมูจากฟาร์มอุตสาหกรรมน้อยลง ร่วมกับการยุติการปฏิบัติต่อสัตว์โหดร้ายทารุณในฟาร์มอุตสาหกรรม จะช่วยปกป้องสภาพภูมิอากาศของโลกเราได้อย่างไรอีกด้วย

การศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การบริโภคทั้งเนื้อไก่และเนื้อหมูลดลง 50% ภายในปีพ.ศ.2583 ควบคู่ไปกับการใช้ผลิตภัณฑ์จากฟาร์มที่มีสวัสดิภาพสัตว์สูง 50%  จะทำให้ผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในแต่ละปีที่เกิดจากการผลิตเนื้อไก่และเนื้อหมูในฟาร์มทั้ง 4 แห่งลดลงถึงครึ่งหนึ่ง และผลจากฟาร์มทั้ง 4 แห่งรวมกัน ก็จะเทียบเท่ากับการนำรถยนต์ออกไปจากท้องถนนถึง 45 ล้านคันใน 1 ปี

FS climate change and cruelty

Jacqueline Mills หัวหน้าใหญ่เกี่ยวกับการทำฟาร์มขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า:  

“ประชาชนมักจะคิดว่า การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ในภาคพลังงานและการขนส่ง เป็นต้นเหตุที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่แท้จริงแล้วยังมีตัวการร้ายที่ซ่อนอยู่และอยู่บนจานอาหารของคุณ ซึ่งนั่นก็คือเนื้อสัตว์จากฟาร์มอุตสาหกรรม

“การทำฟาร์มอุตสาหกรรม  ไม่ว่าจะผ่านการให้อาหารบนสายพานลำเลียงอาหารโดยตรงหรือไม่ก็ตาม ส่งผลให้เกิดการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของสัตว์ ทำให้สัตว์พลัดถิ่นและเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้สัตว์ทั่วโลกได้รับความทุกข์ทรมาน สัตว์ที่มีความรู้สึกนอกจากจะไม่ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีแล้วยังต้องทุกข์ทรมานตลอดชั่วชีวิต มีสัตว์จำนวนมากมายไม่เคยได้เห็นแสงอาทิตย์ ไม่เคยเดินเตร็ดเตร่ไปตามธรรมชาติ หรือไม่เคยแม้กระทั่งได้ใช้ชีวิตที่ปราศจากความเจ็บปวด และนี่คือความโหดร้ายทารุณที่สุดที่เราจะต้องยุติให้ได้

“เราต้องการให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อตกลงเพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยยุติการทำฟาร์มอุตสาหกรรม รัฐบาลจะต้องรับรู้ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสัตว์ มนุษย์ และโลก เราเหลือเวลาอีกไม่นานที่จะดูแลปกป้องโลกของเรา ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่มีข้ออ้างที่จะไม่จัดการกับปัญหานี้”

ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว

อุตสาหกรรมปศุสัตว์ รัฐบาลและผู้บริโภคสามารถเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารและการเข้าถึงอนาคตที่มีความเมตตาและยั่งยืนได้

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเรียกร้องให้อุตสาหกรรมเปลี่ยนไปสู่ระบบอาหารที่มีมนุษยธรรมและมีความยั่งยืนโดยต้องดำเนินการขั้นต่ำสุดตามมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม  และผลิตโปรตีนจากเนื้อสัตว์ลดลงร้อยละ 50 ภายในปีพ.ศ.2583 รวมถึงการหยุดนำพืชเชิงเดี่ยวเช่น ถั่วเหลือง มาใช้เป็นอาหารสัตว์ฟาร์ม

รัฐบาลต่างๆต้องหยุดอนุญาตให้สร้างฟาร์มอุตสาหกรรมแห่งใหม่โดยต้องกำหนดการชะลอการดำเนินการเป็นระยะเวลา 10 ปี ทั้งนี้ รัฐบาลเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการให้การอุดหนุนการทำฟาร์มแบบโรงงาน จึงมีอำนาจในการเปลี่ยนนโยบายและผันเงินอุดหนุนจากการทำอุตสาหกรรมไปสู่การสนับสนุนระบบอาหารที่มีมนุษยธรรมและมีความยั่งยืน

ผู้บริโภคสามารถเลือกที่จะหันมาบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง ทั้งนี้ เราจะสามารถช่วยปกป้องสภาพภูมิอากาศและโลก รวมถึงปกป้องสวัสดิภาพของสัตว์ได้ โดยการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้อยลงและเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสวัสดิภาพสูง (บริโภคให้น้อยลงและบริโภคให้ดีขึ้น หรือ eat less and better)

อ่านรายงานฉบับเต็ม

สัตว์ประมาณ 80 ล้านตัวทั่วโลกส่วนใหญ่ถูกเลี้ยงไว้ในฟาร์มอุตสาหกรรมที่มีความโหดร้ายทารุณ รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าแนวทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยปกป้องสัตว์และสภาพภูมิอากาศของเราก็คือการยุติการทำฟาร์มอุตสาหกรรม