เชื้อไวรัส COVID-19 ความเกี่ยวข้องกับมนุษย์ที่ไม่ควรเกิด
ข่าว
ที่ผ่านมาเราได้ยินข่าวของการสูญเสียเสือโคร่งมาลายู “นาเดีย” อายุ 4 ปีในสวนสัตว์ของประเทศอเมริกาที่ได้เสียชีวิตลงเนื่องจากพบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และคาดการณ์ว่าน่าจะติดมาจากผู้เลี้ยงสัตว์ กระแสที่ว่าสัตว์ป่าอาจนำเชื้อโรคมาสู่คนคงต้องกลับมานั่งคิดย้อนกันใหม่ ว่ามันเกี่ยวข้องและเป็นไปได้หรือไม่ถ้าหากคนเองก็สามารถเป็นพาหะให้กับสัตว์ได้ด้วยเช่น
ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม สัตว์แพทย์ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
" เนื่องจาก ในการส่งผ่านเชื้อนั้น จำเป็นที่ สิ่งมีชิวิตทั้งสองฝั่งจะต้องมีโครงสร้างทางชีวภาพที่มีโอกาศจะเกิดการเข้ากันได้ต่อตัวไวรัส COVID-19 ถึงจะเกิดการส่งต่อเชื้อได้ แม้วันนี้จะยังไม่มีรายงานว่า มีการติดต่อจากสัตว์ย้อนกลับไปหาคน แต่เราต้องตระหนักเสมอว่า ไวรัสตัวนี้มีโอกาสพัฒนาตัวเองไปได้ในหลายทิศทาง โดยเฉพาะปัจจุบัน ที่ความเป็นสิ่งแวดล้อมมีความแปรปรวนอย่างรุนแรง สิ่งมีชีวิตเกือบทุกสายพันธ์ถูกบีบคั้น, มีความเครียดและมีจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของตนเอง จึงมีโอกาศไม่น้อย ที่ไวรัสจะพัฒนาตนเองและเกิดการติดเชื้อย้อนกลับจากสัตว์ไปสู่คนได้ แต่ทั้งนี้ยังไม่อยากให้เกิดการตื่นตระหนกเพราะมีปัจจัยแวดล้อมอีกมากมายที่จะส่งผลต่อการติดเชื้อไวรัสตัวนี้ สิ่งสำคัญคือขอให้ทุกคนตระหนักและมีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นเสมอ "
แต่อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยและการศึกษาก็ยังชี้ให้เห็นว่าเชื้อโรคส่วนใหญ่มาจากสัตว์ อย่างที่เป็นข่าวว่ามีการสันนิษฐานว่าต้นตอของเชื้อไวรัส COVID-19 มาจากตลาดมืดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แหล่งซื้อขายสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เพื่อเป็นอาหาร เป็นยารักษาโรค และ เป็นสัตว์เลี้ยง
การแพร่กระจายของเชื้อโรคจากสัตว์ไปสู่คนจะเป็นไปได้อย่างไร
โดยทั่วไปแล้วทั้งคนและสัตว์นั้นมีโอกาสที่จะเป็นพาหะของเชื้อโรคได้เท่ากัน แต่เชื้อไวรัสจะถูกพัฒนาตามสายพันธุ์ของคนและสัตว์ และมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เชื้อไวรัสจะกระโดดข้ามไปสู่อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่มีความแตกต่างกันได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เป็นไปไม่ได้เพราะถ้าหากเจ้าเชื้อนี้มีการรวมตัวกันเป็นจำนวนมากมายมหาศาลก็อาจเกิดวิวัฒนาการของเชื้อโรคที่สามารถข้ามไปสู่คนได้ ซึ่งเราเรียกว่า Zoonotic หรืออีกชื่อที่เป็นที่รู้จักคือ Zoonosis
พื้นที่ในตลาดมืดของเมืองอู่ฮั่นเต็มไปด้วยสัตว์หลากหลายชนิด ที่มีตั้งแต่สัตว์เลี้ยง สัตว์ทะเล สัตว์ป่า และชิ้นส่วนของสัตว์ซึ่งได้ถูกแปรสภาพเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร หรือเป็นยารักษาโรค เมื่อพวกมันถูกจับมารวมกันในอยู่สถานที่คับแคบเบียดเสียดกับสัตว์อื่นตลอดเวลา ส่งผลให้สัตว์เหล่านี้เกิดความเครียดและเจ็บป่วย จากสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความแออัดของกรงสัตว์และมูลสัตว์ นับเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคชั้นดี อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมตัวของผู้คนที่ใคร่มาซื้อขายสัตว์ ทำให้สถานที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโรคเป็นอย่างมาก
เมื่อสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ถูกจับมารวมกันส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของพวกมันลดลง
นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิจัยและศึกษาเพื่อยืนยันการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 ที่มาสู่คนว่ามีความเป็นมาอย่างไร มีขอสันนิษฐานที่คาดว่าเมื่อสัตว์หลากสายพันธุ์มาอยู่รวมกัน เชื้อไวรัสก็อาจจะเกิดขึ้นโดยเริ่มต้นจากสัตว์ที่เป็นพาหะตัวแรก เช่น ค้างคาว เชื้อนี้มีโอกาสที่จะกระโดดข้ามสายพันธุ์ไปสู่สัตว์สายพันธุ์อื่นๆก่อนจะไปสู่คน เหตุการณ์นี้บ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตหากเรายังคงนิ่งเฉย เพราะถ้าสัตว์เหล่านี้ยังคงถูกจับมาอยู่ในตลาดมืดที่เต็มไปด้วยสภาพแวดล้อมสกปรก ย่ำแย่ แออัด ความเครียดก็จะทำให้ภูมิคุ้มกันสัตว์ลดลง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สัตว์เหล่านี้จะก่อให้เกิดการสร้างเชื้อโรคในตัวได้ง่ายขึ้น
องค์กรอนามัยโลกเปิดเผยว่า 75 % ของเชื้อโรคที่ระบาดอย่างหนักในอดีตมันก็มีต้นตอมาจากสัตว์ป่าเกือบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น โรคซาร์สที่มีผู้ติดเชื้อไป 8,096 คน โรคเมอร์สอยู่ที่ 2,494 คน โรคอีโบล่าอยู่ที่ 1,323 คน โรค H5N1 อยู่ที่ประมาณ 700 คน จนมาถึงตอนนี้ COVID-19 ได้แซงหน้าไปเกือบทุกโรค เพราะมีผู้คนติดเชื้อนี้ไปทั่วโลกกว่าล้านคนแล้ว
แต่ไม่ว่ามันจะเริ่มมาจากค้างคาว งู ตัวนิ่มหรือสัตว์ชนิดอื่น สุดท้ายก็ต้องย้อนกลับมาดูว่าเราจะหาวิธีป้องกันและลดความเสี่ยงกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร
แล้วอะไรคือหนทางที่จะแก้ไขปัญหา
ถ้าเรายังคงสรรหาสัตว์ป่ามาครอบครองเพื่อประโยชน์ส่วนตน เช่น การนำสัตว์ป่ามาใกล้ชิดกับมนุษย์ หรือสร้างสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสัตว์หลากหลายชนิดในสถานที่คับแคบและไม่เหมาะสม เราก็คงจะคาดการณ์กันได้ว่าสุขภาพของคนในโลกนี้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคระบาดกันอย่างแน่นอน
สมศักดิ์ สุนทรนวภัทร์ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้เน้นย้ำถึงการนำสัตว์ป่ามาเป็นเครื่องมือสร้างความบันเทิงอาจก่อให้เกิดความเสียได้ “ตามข่าวที่มีเสือในสวนสัตว์ที่ดิดเชื้อโควิด 19 จากคนเลี้ยงนั้น ถือเป็นกรณีแรกที่สัตว์ป่าได้รับการติดเชื้อนี้จากคน ดังนั้นการดูแลสัตว์ป่าที่มนุษย์นำมาเลี้ยง จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและมีมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ได้รับเชื้อจากคน หรือคนได้รับเชื้อจากสัตว์ การท่องเที่ยวที่ใช้เสือเพื่อความบันเทิงก็เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง การอุ้มลูกเสือป้อนนม การถ่ายรูปกับเสือ เดินกับเสือ และการชมการแสดงของเสือ จึงควรจะมีการยกเลิกสิ่งเหล่านี้เพื่อป้องกันอันตรายและรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพที่อาจจะส่งผลกระทบต่อส่วนรวมได้”
โครงการสัตว์ป่าไม่ใช้นักแสดง (Wildlife. Not Entertainers) เป็นโครงการที่รณรงค์ในการยุติการนำสัตว์ป่ามาเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น การแสดงโชว์ การถ่ายรูปร่วมกับสัตว์ หรืออื่นๆ ที่ไปสร้างผลกระทบให้กับสัตว์ เพราะสถานที่ที่ เหมาะสมกับพวกมันก็คือป่า ไม่ใช่กรงเลี้ยง ที่สำคัญผลเสียไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่กับสัตว์เหล่านี้ แต่สุดท้ายแล้วมนุษย์เองคือผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้ไปด้วย แบบเต็มๆ
วิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดเชื้อโรค คือ ยกเลิกการซื้อขายสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเพื่อจุดประสงค์อะไรก็ตาม