Oonboon the elephant in the crush - World Animal Protection - Animals in the wild

เปิดโปงวิดีโอกระบวนการฝึกช้างที่โหดร้ายทารุณ

ข่าว

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเปิดเผยวิดีโอสุดสะเทือนใจ สะท้อนส่วนหนึ่งของกระบวนการฝึกช้างอันโหดร้ายทารุณและเป็นการทำลายจิตวิญญาณของสัตว์ป่า เพียงเพื่อตอบสนองต่อธุรกิจท่องเที่ยวและความบันเทิงอย่างการให้นักท่องเที่ยวขี่และการแสดงโชว์

คำเตือน: เนื้อหาสะเทือนใจ

วิดีโอนี้มีภาพการใช้ความรุนแรงต่อลูกช้างแปดเชือกที่

  • ถูกจับแยกออกจากแม่ของมัน
  • ถูกผูกติดอยู่กับเสาไม้และโดนทุบตี
  • เดินโซซัดโซเซเนื่องจากถูกล่ามโซ่

เราขอเรียกร้องให้ยกเลิกวิธีการฝึกช้างที่ใช้ความรุนแรงและทำร้ายจิตใจของช้างโดยด่วน เพื่อปรับปรุงให้การท่องเที่ยวเป็นมิตรต่อสวัสดิภาพสัตว์ป่ามากขึ้น หลังความซบเซาจากวิกฤตโควิด-19

ความจริงของช้างในธุรกิจท่องเที่ยว

การนำช้างมาแสดงโชว์ที่อาจดูน่าทึ่งสำหรับใครหลายคน แต่วิดีโอนี้เผยให้เห็นความจริงว่าเบื้องหลังของความสนุกและรอยยิ้มที่นักท่องเที่ยวได้รับ กับบาดแผลของช้างทั้งทางร่างกายและจิตใจจากการฝึกฝนที่โหดเหี้ยมซ่อนอยู่ การขี่ช้างหรือดูโชว์ช้างอาจเป็น “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ของคุณ แต่มันคือความทรมานที่ติดตัวช้างเหล่านี้ “ตลอดชีวิต”

ปัจจุบัน ช้างราว 2,800 ตัวในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่างผ่านกระบวนการฝึกที่โหดร้ายทารุณมาแล้วทั้งสิ้น วิธีการที่ถูกใช้เพื่อทำลายสัญชาตญาณความเป็นสัตว์ป่าของช้างมีมากมาย โดยเฉพาะ:

  • การใช้ขอเกี่ยวหรือทิ่มลงไปในบริเวณที่ไวต่อความรู้สึกของช้าง
  • การล่ามโซ่เพื่อจำกัดบริเวณไม่ให้ช้างขยับ
  • การจงใจทำให้ช้างตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดบ่อยๆ

วิธีการเหล่านี้ทำให้ช้างเชื่องและยอมจำนนต่อมนุษย์ เพื่อให้ง่ายต่อการนำมาฝึกแสดงโชว์ ให้นักท่องเที่ยวขี่ อาบน้ำ ตลอดจนมีปฏิสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวในรูปแบบอื่นๆ ความต้องการจากนักท่องเที่ยวนี่เองจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนให้ความโหดร้ายทารุณแบบนี้เกิดขึ้นต่อไป ขณะที่ผู้ฝึกหรือควาญช้างไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะต้องทำตามความต้องการของนักท่องเที่ยวและภาคธุรกิจ

Baby elephant in a low welfare venue

Baby elephants like this one are destined for a lifetime of trauma

ผลกระทบของโควิด-19 ต่อช้างในธุรกิจท่องเที่ยว 

จากการที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักลงอย่างสมบูรณ์ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ปางช้างอย่างน้อย 85 แห่งในประเทศไทยต้องปิดตัวลงและเลิกจ้างพนักงานกว่า 5,000 คน ส่วนปางช้างที่เหลือยังคงต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ 

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือช้างจำนวนมากต้องเดินเท้าหลายร้อยกิโลเมตรข้ามจังหวัดเพื่อกลับไปให้เจ้าของตามกฎหมายดูแล บางตัวถูกนำออกมาเดินหาอาหารภายใต้ความคุ้มครองเนื่องจากผู้ดูแลขาดแคลนรายได้ที่จะเลี้ยงดูพวกมันได้อย่างเพียงพอ

และเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ช้างบางตัวถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมค้าไม้และงานหนักอื่นๆ

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกขอขอบคุณผู้สนับสนุนเป็นอย่างมาก ที่ได้ร่วมปันน้ำใจสนับสนุนการช่วยเหลือปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง 13 แห่งทั่วเอเชีย เพื่อให้พวกเขาสามารถผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้และเลี้ยงดูช้างในความดูแลต่อไปได้

ร่วมสร้างธุรกิจท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและปราศจากความโหดร้ายทารุณ

เราขอเรียกร้องให้มีการยุติความโหดร้ายทารุณต่อช้างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยสมบูรณ์ ก่อนที่การท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

ช้างส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่สามารถปล่อยกลับป่าได้แล้ว ปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้างจึงเป็นทางออกระยะกลางที่ดีที่สุด เพราะสถานที่เหล่านี้คำนึงถึงสวัสดิภาพของช้างเป็นสำคัญ ให้อิสระกับช้างในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติเท่าที่จะเป็นไปได้ และไม่มีการแสดงโชว์หรือปฏิสัมพันธ์โดยตรงใดๆ กับช้าง นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับควาญช้างและคนในพื้นที่ด้วย

สำหรับทางออกระยะยาวและยั่งยืน เราเรียกร้องให้ยุติการผสมพันธุ์ช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและความบันเทิง เพื่อให้มั่นใจว่าช้างรุ่นต่อไปจะหลุดพ้นจากวงจรแห่งความทรมานนี้

ทุกคนสามารถช่วยเหลือได้ด้วยการแสดงพลัง ไม่สนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวที่ไร้จรรยาบรรณ โดยหันมาเยี่ยมชมปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้างหรือตามแหล่งที่อยู่ในธรรมชาติของพวกมันแทน

ช้างเป็นสัตว์ป่า พวกมันมีสิทธิที่จะมีชีวิตอย่างอิสระในธรรมชาติ มีพื้นที่เดินเตร่ กินหญ้า อาบน้ำ และเข้าสังคมกับช้างตัวอื่นๆ ได้ ไม่ใช่การถูกนำมาแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ ถูกฝึก ถูกล่ามโซ่ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวตลอดเวลาแบบนี้ สัตว์ป่าไม่ใช่สินค้าของคน พวกมันสมควรที่จะได้อยู่ในป่า

Elephants, Sow (right) greeting Jahn at the Following Giants venue in Thailand

These elephants live in the elephant-friendly Following Giants venue, where they are free to act naturally and tourists can observe them safely

โอกาสในการสร้างอนาคตที่ดีกว่า

Audrey Mealia ผู้อำนวยการด้านสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ระบุว่า “นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า”

“หลายภาคส่วนต้องหยุดชะงักเนื่องจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 แต่เราหวังว่าการท่องเที่ยวจะต้องกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในรูปแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิม ขณะนี้เรากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัทด้านการท่องเที่ยวทั่วโลกเพื่อรณรงค์ให้พวกเขาปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยไม่เสนอขายแพ็กเกจทัวร์ที่เกี่ยวข้องกับการหาประโยชน์จากสัตว์ป่าอีกต่อไป”

“ขณะนี้ ช้างส่วนใหญ่เป็นอิสระจากการถูกนักท่องเที่ยวขี่ อาบน้ำ ป้อนอาหาร และการแสดงโชว์ เราอยากเห็นพวกมันมีอิสระแบบนี้ต่อไป”

ยุติการค้าสัตว์ป่าทั่วโลก

การแสวงหาผลประโยชน์บนความทุกข์ทรมานของช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของความโหดร้ายของการค้าสัตว์ป่าทั่วโลก การค้าสัตว์ป่านอกจากจะสร้างความทุกข์ทรมานให้กับสัตว์ป่าหลายล้านชีวิตแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดจากสัตว์มาสู่คน ตลอดจนความเสียหายทางเศรษฐกิจในวงกว้างด้วย

เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของทั้งสัตว์ คน และโลกใบนี้ ร่วมมือกับเราวันนี้ในการเรียกร้องให้กลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (G20) ยุติการค้าสัตว์ป่าทั่วโลกอย่างถาวร

 

วีดีโอนี้เผยให้เห็นเบื้องหลังของความบันเทิงที่อยู่บนความทุกข์ทรมานของช้างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว