192 องค์กรเสนอนายกฯ ยุติผสมพันธุ์ช้าง ลดปัญหาสวัสดิภาพสัตว์-ท่องเที่ยว
ข่าว
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) พร้อมด้วยองค์กรด้านสัตว์และการอนุรักษ์อีก 191 องค์กรทั้งในไทยและต่างประเทศ ส่งจดหมายเปิดผนึกร่วมถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนอให้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อยุติการผสมพันธุ์ช้างชั่วคราวในประเทศไทย
เพื่อบรรเทาปัญหาสวัสดิภาพช้างและความไม่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยมีปัจจัยเร่งด่วนคือผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ที่อาจทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิมหากไม่รีบแก้ไข
ในจดหมายเปิดผนึก องค์กรที่ร่วมลงนามเปิดเผยว่าจำนวนช้างที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา จาก 1,644 เชือกในปี พ.ศ. 2553 เป็น 2,779 เชือกในปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการดูแลสวัสดิภาพได้อย่างไม่เพียงพอหรือทั่วถึง โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่ธุรกิจท่องเที่ยวมักได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกๆ เสมอ
นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “ตอนนี้ปางช้างต่างๆ ต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว ทำให้ช้างจำนวนมากถูกส่งกลับบ้านไปให้เจ้าของดูแล ซึ่งปกติเวลาช้างถูกส่งกลับบ้าน เจ้าของจะถือโอกาสนี้ผสมพันธุ์ช้างเพื่อหวังรายได้จากการขายลูกช้างในอนาคต
เราเลยมีความกังวลว่าเจ้าของช้างจะยังผสมพันธุ์ช้างต่อไปท่ามกลางภาวะวิกฤตจากควิด-19 ซึ่งอาจจะทำให้เกิด ‘เบบี้บูม’ ของช้างตามมาในอนาคตอันใกล้ได้ สวนทางกับแนวโน้มการท่องเที่ยวและทรัพยากรสำหรับการดูแลช้างที่กำลังถดถอยลงเรื่อยๆ”
192 องค์กรที่ร่วมลงนามพร้อมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าอีก 10 คนยืนยันว่าสถานที่ท่องเที่ยวไม่ใช่พื้นที่เหมาะสมสำหรับช้างซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่มีความเฉลียวฉลาด มีขนาดและพละกำลังสูง การผสมพันธุ์ช้างเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่มีประโยชน์ด้านการอนุรักษ์แต่อย่างใด
และการที่ช้างในประเทศต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งมีความเปราะบางถือเป็นแนวทางที่ไม่มีความยั่งยืน ดังนั้น การยุติการผสมพันธุ์ช้างชั่วคราวนอกจากจะช่วยป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิภาพช้างในอนาคตแล้ว ยังจะช่วยให้สามารถจัดสรรความช่วยเหลือให้ช้างที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างเพียงพอและทั่วถึงมากขึ้น
นอกจากนี้ ในจดหมายเปิดผนึกยังกล่าวถึงควาญช้างด้วยว่าเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้เช่นกัน โดยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พบว่ามากกว่าหนึ่งในสามของควาญช้างยังต้องพึ่งพาค่าแรงขั้นต่ำ ไม่มีเงินออม และเผชิญกับความเสี่ยงสูงที่จะบาดเจ็บร้ายแรง บางครั้งถึงแก่ชีวิตก็มี
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารช้างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยอยู่ที่เดือนละมากกว่า 28 ล้านบาท และอีกราว 28 ล้านบาทสำหรับเงินเดือนของควาญช้างและผู้ดูแล
“ตั้งแต่เกิดโควิด-19 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนเงินฉุกเฉินช่วยเหลือในการดูแลความเป็นอยู่ของช้างและควาญช้างจำนวนหนึ่งในประเทศไทย โดยเป็นการให้ความช่วยเหลือต่อเนื่องหกเดือน กล่าวคือเราลงมือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในภาวะวิกฤตไปพร้อมๆ กับการผลักดันเชิงนโยบายเพื่อการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว” นางสาวโรจนากล่าวปิดท้าย
การยุติการผสมพันธุ์ช้างชั่วคราวนอกจากจะช่วยป้องกันปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิภาพช้างในอนาคตแล้ว ยังจะช่วยให้สามารถจัดสรรความช่วยเหลือให้ช้างที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างเพียงพอและทั่วถึงมากขึ้น