Give out food-Thailand

ร่วมฟื้นฟูสุขภาพสัตว์หลังน้ำท่วมในพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ข่าว

แม้สถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ของจังหวัดนครศรีธรรมราชจะคลี่คลายลงบ้าง แต่ก็ยังมีหลายครัวเรือนรวมไปถึงสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ที่ได้รับผลกระทบยังต้องการความช่วยเหลือเป็นจำนวนมากอยู่ดี

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้เข้าพื้นที่เพื่อมอบอาหารและเวชภัณฑ์สำหรับปศุสัตว์ให้กับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช นำทีมโดยนายสัตวแพทย์ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม ผู้จัดการฝ่ายการจัดการภัยพิบัติ องค์กรพิทักษ์สัตว์โลก ประเทศไทย และมีสัตว์แพทย์เมษยน ชีวะเสรีชล นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นผู้รับมอบ

Flooding in Thailand 4

เครดิดภาพ: สำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดนครศรีธรรมราช 

ความเสียหายในครั้งนี้ถือเป็นครั้งรุนแรงมากที่สุดในรอบ 30 ปีในพื้นที่ประสบภัยทั้ง 23 อำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช  ประชาชนกว่า 900,000 คนใน 120 ชุมชนได้รับความเสียหายทั้งบ้านเรือน สิ่งสาธารณประโยชน์ และพื้นที่การเกษตรรวมไปถึงปศุสัตว์อันเป็นหัวใจหลักในการประกอบอาชีพ ซึ่งมีเกษตรกรปศุสัตว์กว่า 76,000 รายและมีสัตว์กว่า 4,400,000 ตัว ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้

Flooding in Thailand 4

 เครดิดภาพ: สำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดนครศรีธรรมราช 

นายสัตวแพทย์เมษยน ชีวะเสรีชล นายสัตว์แพทย์ชำนาญการ สำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึงผลกระทบจากภัยพิบัติในครั้งนี้ว่า “น้ำท่วมครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นทั้ง 23 อำเภอ ซึ่งก็จะกระทบมากหรือกระทบน้อยก็แล้วแต่พื้นที่ที่แตกต่างกันไป อำเภอที่อยู่ในแถบลุ่มน้ำปากพนังซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งก็จะกระทบค่อนข้างมาก แม้ว่าน้ำจะลดแล้ว แต่ก็ยังมีน้ำขังอยู่

 

สำหรับประชาชนที่มีการเลี้ยงปศุสัตว์ก็ต้องมีการอพยพไปอยู่พื้นที่สูงหรือริมถนน หรือเกษตรกรปศุสัตว์ก็นอนเฝ้าสัตว์เลย เนื่องจากเป็นห่วงความปลอดภัยสัตว์ของตน ทางสำนักงานปศุสัตว์เองก็มีการผลัดกันให้อาหาร ช่วยกันดูแลด้วยการสนับสนุนหญ้าแห้งในเบื้องต้น ซึ่งเราได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของอาหารสัตว์และเวชภัณฑ์ไปบ้าง ในส่วนที่รถเข้าไม่ถึง เราก็ต้องขนอาหารจากรถไปสู่เรือแล้วค่อยนำไปให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำปศุสัตว์ต่อ”

นายสัตวแพทย์เมษยน กล่าวต่ออีกว่าแม้จะมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือเบื้องต้น โดยเฉพาะหญ้าแห้งซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อสัตว์ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนสัตว์ที่ได้รับผลกระทบที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะโคและกระบือที่เป็นสัตว์เลี้ยงหลักในการประกอบอาชีพของประชาชน ซึ่งในตอนนี้ได้ขอความช่วยเหลือไปยังสำนักงานใกล้เคียง และมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังมีน้ำขังและกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น พื้นที่ในอำเภอทุ่งสง ซึ่งไม่เคยเกิดน้ำท่วมก็ต้องเจอกับเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ไปด้วยเช่นกัน จึงทำให้เกิดความเดือดร้อนกันทั่วหน้า อีกทั้งใช้เวลาเกือบห้าเดือน น้ำที่ขังถึงจะลดและแห้งหมด

Flooding in Thailand 4

นายสัตวแพทย์ณฤทธิ์ศร ผลเพิ่ม ผู้จัดการฝ่ายภัยพิบัติ จากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้นำอาหารสัตว์และเวชภัณฑ์กว่าสามตันมาร่วมช่วยเหลือในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ต่ำและเกิดน้ำหลาก น้ำท่วม รวมถึงน้ำขังอยู่บ่อยครั้ง จะเห็นได้จากการเตรียมตัวของชาวบ้านเองที่มีความพร้อมอยู่ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์หลายปีที่ผ่านมาได้เห็นการพัฒนาอย่างชัดเจนทั้งในแง่ของการเก็บข้อมูลสำรวจความเสียหายรวมถึงการเตรียมความพร้อมและให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดี ทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก มีความยินดีที่ได้เห็นความพร้อมดังกล่าวและมีความตั้งใจที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนานี้ร่วมไปกับทางภาครัฐโดยผ่านคณะทำงานที่เกิดจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือสัตว์ในภาวะภัยพิบัติแห่งประเทศไทยอันได้ลงนามกันเมื่อปลายปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเราก็ได้ดำเนินการเรื่อยมา” 

Flooding in Thailand 4

สำหรับพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชจะตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลด้านตะวันออกของภาคใต้ของประเทศไทย และจะมีฤดูร้อนเพียงสี่เดือนเท่านั้น คือเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม จากนั้นจะเป็นช่วงมรสุม ซึ่งจะไปสิ้นสุดจริงๆ ในเดือนตุลาคม และด้วยที่จังหวัดตั้งอยู่ด้านตะวันออกของภาคใต้ จึงทำให้มีฝนตกมากในช่วงฤดูหนาวคือ ระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม นับว่าเป็นจังหวัดที่มีฤดูฝนที่ยาวนานและสุ่มเสี่ยงกับการต้องเจออุทกภัยค่อนข้างบ่อย

ด้วยเหตุนี้ทางสำนักงานปศุสัตว์ฯ จึงได้เตรียมความพร้อมทั้งเรื่องเสบียงอาหารและเวชภัณฑ์ในเบื้องต้น ซึ่งสามารถบรรเทาการขาดแคลนอาหารและยาไปได้อย่างมาก รวมถึงสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งอีกด้วย แต่เกษตรปศุสัตว์เองก็ต้องเตรียมความพร้อมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ติดลุ่มน้ำ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์ให้น้อยที่สุด นายสัตวแพทย์เมษยนกล่าวทิ้งท้าย

 

การเตรียมความพร้อมก่อนการเกิดภัยพิบัตินั้นสำคัญมาก