Captive lion cubs

อีกก้าวของความสำเร็จ! แอฟริกาใต้เดินหน้าปิดกิจการฟาร์มเพาะสิงโตแล้ว!

ข่าว

เพราะแรงสนับสนุนจากคุณ รัฐบาลแอฟริกาใต้เลือกออกมาตรการปิดฟาร์มเพาะสิงโตทั่วประเทศ รวมถึงปราบปรามธุรกิจทุกประเภทที่กักขังสิงโตเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า

ชัยชนะแห่งวงการอนุรักษ์ถูกประกาศขึ้นระหว่างการประชุมในกรุงพริทอเรีย เมืองหลวงของประเทศแอฟริกาใต้ โดย Barbara Creecy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป่าไม้ ประมง และสิ่งแวดล้อมของแอฟริกาใต้ (Forestry, Fisheries and the Environment: DFFE) จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญนี้จะพลิกโฉมหน้าธุรกิจเพาะพันธุ์สิงโตภายในประเทศแอฟริกาใต้ไปตลอดกาล

ในปัจจุบัน มีสิงโตมากถึง 8,000 – 12,000 ตัวถูกกักขังอยู่ในฟาร์มเพาะมากกว่า 350 แห่งในหลายจังหวัด ได้แก่ Free State, North West, Limpopo และ Eastern Cape ซึ่งในจำนวนนี้ มีเสือโคร่งและเสือชีตาห์รวมอยู่ด้วย สัตว์นักล่าเหล่านี้ถูกพรากจากป่า และถูกกักขังไว้เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เป็นเครื่องมือกอบโกยรายได้เข้ากระเป๋า สิงโตจำนวนมากยังถูกกักขังไว้เพื่อการท่องเที่ยว การล่าสัตว์ (Canned hunting) การขายทอดชิ้นส่วนของสัตว์นักล่า และการส่งพวกมันในขณะยังมีชีวิตอยู่สู่ตลาดมืด

Edith Kabesiime ผู้จัดการงานอนุรักษ์สัตว์ป่า (แอฟริกา) องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวถึงชัยชนะของวงการอนุรักษ์ครั้งนี้ว่า:

“ในแต่ละปี สิงโตนับพันตัวในฟาร์มเพาะพันธุ์ในแอฟริกาใต้ต้องใช้ชีวิตที่สุดแสนทรมานเพื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการค้า ประกาศจากรัฐบาลแอฟริกาใต้ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลมีความกล้าหาญ ถือเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงระยะยาว อีกทั้งยังเป็นชัยชนะของสัตว์ป่าอีกด้วย”   

“เมื่อทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกัน ดิฉันยืนยันได้ว่า เราจะสามารถช่วยชีวิตสิงโตได้ทุกตัว และปล่อยพวกมันคืนสู่ที่ที่พวกมันสมควรอยู่ นั่นคือป่า เราพร้อมสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือรัฐบาล องค์กรอนุรักษ์อื่น ๆ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อค้นหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับภารกิจนี้”

Lion cub at a lion farm in South Africa. Credit: Pippa Hankinson / Blood Lions

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ร่วมกับองค์กร Blood Lions และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ทำงานเพื่อปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ รวบรวมหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และยื่นเอกสารทั้งหมดต่อคณะทำงานระดับสูง (High Level Pannel: HPL) ทั้งเป็นลายลักษณ์อักษรและปากเปล่าในปี พ.ศ.2563

โดยเหตุผลสำหรับการยื่นเรื่องสนับสนุนการยุติธุรกิจเพาะสิงโตเพื่อการค้าภายในประเทศ ได้แก่ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนในอนาคต ความกังวลเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ การกระทำผิดกฎหมายภายในอุตสาหกรรม ความบกพร่องในการขับเคลื่อนนโยบายที่ใช้ควบคุมธุรกิจเพาะพันธุ์สัตว์ ความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและงานอนุรักษ์ของประเทศแอฟริกาใต้ รวมถึงความเสี่ยงต่อการควบคุมจำนวนประชากรสิงโตจากการถูกล่า
 

Ian Michler และ Pippa Hankinson ผู้อำนวยการจากองค์กร Blood Lions กล่าวว่า:

“การต่อสู้กับอุตสาหกรรมที่โหดเหี้ยนี้กินเวลายาวนาน ความหวังสูงสุดของเรา คือต้องการเห็นธุรกิจเพาะสิงโตหมดไป หลังจากความล้มเหลวหลายครั้ง เราเริ่มรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติ เราขอแสดงความยินดีต่อรัฐมนตรี กระทรวงป่าไม้ ประมง และสิ่งแวดล้อม และคณะทำงานระดับสูง (HPL) เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือภาครัฐในการยุติอุตสาหกรรมเพาะสิงโต”

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และ Blood Lions ขอแสดงความยินดีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป่าไม้ ประมง และสิ่งแวดล้อมในการประกาศภารกิจที่กล้าหาญครั้งนี้ และขอให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการพัฒนาและกำหนดแผนการยุติฟาร์มเพาะสิงโตเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าทุกแห่งทั่วประเทศ

Lion cub at a lion farm in South Africa. Credit: Pippa Hankinson / Blood Lions

“ในแต่ละปี สิงโตนับพันตัวในฟาร์มเพาะพันธุ์ในแอฟริกาใต้ต้องใช้ชีวิตที่สุดแสนทรมานเพื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการค้า ประกาศจากรัฐบาลแอฟริกาใต้ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลมีความกล้าหาญ ถือเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงระยะยาว อีกทั้งยังเป็นชัยชนะของสัตว์ป่าอีกด้วย