Superbugs in supermarket meat

Superbug มหันตภัยเงียบที่คร่าชีวิตมนุษย์

ข่าว

ความน่ากลัวที่อยู่ใกล้ตัวเราและสามารถคร่าชีวิตมนุษย์อย่างเราได้จากการบริโภคอาหารที่มียาปฏิชีวนะเจือปน โดยกว่าจะรู้ตัวนั้นก็สายไปเสียแล้ว

ภัยเงียบจาก Superbug

ในปี 2018 หญิงอเมริกันวัย  70 ปี เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่อินเดียด้วยสาเหตุกระดูกขาอ่อนด้านขวาหัก ระหว่างรักษาเกิดการติดเชื้อซึ่งลามไปยังกระดูกสะโพก เธอใช้การรักษาตัวในอินเดียนาน 2 ปี และได้กลับมารักษาต่อที่สหรัฐอเมริกา

แพทย์พบเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารที่เรียกว่า carbapenem-resistant enterbacteriaceae (CRE) แต่ไม่ว่าแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะตัวไหนก็ตาม ร่างกายเธอไม่เกิดปฏิกริยาตอบสนองและมีอาการดื้อยาถึง 26 ตัว หมายความว่ายาที่เป็นปราการด่านสุดท้ายก็ไม่สามารถรถช่วยเธอได้เลย

เธอเสียชีวิตในเวลาต่อมา...

นี่คือความน่ากลัวของเชื้อ Superbug ที่อยู่ใกล้ตัวเรามากทีเดียว

แหล่งข้อมูล https://www.healthstation.in.th/action/viewarticle/1234/

Superbug คืออะไร

Superbug คือชื่อที่ถูกเรียกในสังคมวงกว้างจนติดปาก มันเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ออกฤทธิ์ต่อต้านยาปฏิชีวนะ สาเหตุของการรับเชื้อดื้อยามีด้วยกันหลายแบบ เช่นการรับประทานยาปฏิชีวนะบ่อยครั้งและเป็นจำนวนมาก การใช้ยาที่มีฤทธิ์รุนแรงเกินไป รวมถึงการรับประทานยาที่ไม่ต่อเนื่องจนไม่สามารถจำกัดเชื้อได้ ทำให้เกิดเชื้อดื้อยา

นอกจากนั้นยังรวมถึงการรับประทานอาหารที่มียาปฏิชีวนะหรือเชื้อดื้อยาปนเปื้อน (อ้างอิง: ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ใน https://mgronline.com/qol/detail/9600000005433) สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเชื้อซุปเปอร์บักส์ทั้งสิ้น

มหันตภัยที่แฝงในเนื้อสัตว์

เนื้อสัตว์เป็นส่วนหนึ่งของอาหารที่เรามีการบริโภคเป็นประจำ และเมื่อเจาะลึกเบื้องหลังแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์โดยเฉพาะ เนื้อไก่ และเนื้อหมูก็พบว่าการมีการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินความจำเป็นอยู่พอสมควร

จากรายงาน Suffering Behind Closed Doors ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก พบว่า 3 ใน 4 ของยาปฏิชีวนะที่ผลิตทั่วโลกนั้นถูกนำไปใช้กับสัตว์ในฟาร์มที่มาจากการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ที่ไม่ดี หมูในฟาร์มเลี้ยงส่วนใหญ่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ แออัดและคับแคบ รวมถึงการถูกตัดตอนอวัยวะบางส่วนทิ้ง โดยไม่มีการฉีดยาชาใดๆ ทั้งสิ้น แม่หมูจะถูกเลี้ยงแบบยืนซอง ส่วนลูกหมูถูกบังคับให้หย่านมภายใน 21 วันหลังคลอดหรือเร็วกว่านั้น

วิธีการจัดการหมูในฟาร์มอุตสาหกรรมเหล่านี้ส่งผลให้ภูมิต้านทานของหมูอ่อนแอและเสี่ยงต่อการล้มป่วยมากขึ้น การใช้ยาปฏิชีวนะจะทำให้พวกมันทนต่อสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายในฟาร์มได้ เกิดการสะสมของยาปฏิชีวนะ และเมื่อมีการส่งเนื้อสัตว์ต่อไปยังซุปเปอร์มาร์เก็ต มนุษย์จะเป็นผู้รับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายต่อไปนั่นเอง

A pair of hot cauterised scissors held up to a piglet

Superbug  ผู้ร้ายที่ไม่เคยตาย 

จำนวนของผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาในปัจจุบันมีเพิ่มสูงขึ้นทุกปี  จากรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC (U.S. Centers for Disease Control and Prevention) พบว่าในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาในประเทศสหรัฐฯกวา 2.8 ล้านคน และกว่า 35,000 คนได้เสียชีวิตเพราะเชื้อนี้ (อ้างอิงจาก:https://www.cdc.gov/drugresistance/biggest-threats.html

มีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 จะมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปีละ 10 ล้านคน หรือจะมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาทุกๆ 3 วินาที ส่วนในประเทศไทย สถานการณ์การติดเชื้อแบคทีเรียยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง

มีข้อมูลรายงานว่าคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 100,000 คนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณ 38,000 คนต่อปี สิ่งเหล่านี้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งทั้งตรงและทางอ้อมมากกว่า 40,000 ล้านบาท (อ้างอิงจาก: https://thestandard.co/superbug/)

นั่นหมายความว่า ในอนาคตเราอาจจะต้องพบเจอคนเสียชีวิตด้วยโรคเล็กๆน้อย เช่น เจ็บคอจากการติดเชื้อ หรือบาดแผลเล็กน้อยจากการขีดข่วน หรือโรคท้องร่วง เป็นต้น

การเริ่มต้นคือการป้องกันที่ดี

แม้ในปัจจุบันยังไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการด้านการแพทย์ในเรื่องการหยุดยั้งหรือรักษาเชื้อซุปเปอร์บักส์ แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถหยุดยั้งเชื้อเหล่านี้ได้คือ การพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรมให้ดียิ่งขึ้น ก็จะเป็นหนึ่งในหนทางที่เราสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อนี้ได้

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้ย้ำถึงความสำคัญที่ผู้บริโภคและผู้ผลิตสามารถผลักดันสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มให้ดีขึ้นได้ “ภัยของซุปเปอร์บักส์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ในฐานะผู้บริโภคเรามีสิทธิที่จะได้รับอาหารที่ปลอดภัยและรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพสัตว์และสิ่งแวดล้อม" 

"เราไม่สามารถรอต่อไปได้ เราต้องการเห็นฟาร์มผู้ผลิตพัฒนาสวัสดิภาพการเลี้ยงหมู และซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ต้องมีนโยบายการคัดเลือกเนื้อหมูที่มาจากฟาร์มที่ใส่ในสวัสดิภาพมาจำหน่ายให้กับเรา เพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องของหมูแต่เป็นเรื่องของความปลอดภัยในอาหารของเราและคนในครอบครัว"

ร่วมลงชื่อกับเราเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจะนำทุกเสียงเรียกร้องของท่านไปสื่อสารต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การเลี้ยงหมูด้วยใจ (Raise Pigs Right)

Chokedee

 โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย

 

ภัยของซุปเปอร์บักส์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ในฐานะผู้บริโภคเรามีสิทธิที่จะได้รับอาหารที่ปลอดภัยและรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพสัตว์และสิ่งแวดล้อม