journey from cage to death by world animal protection india

สวัสดิภาพไก่ ทำไมจึงสำคัญ!?

ข่าว

สวัสดิภาพสัตว์ (Animal welfare) เป็นเรื่องที่มีการเคลื่อนไหวมายาวนาน แรงกระเพื่อมยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยกระแสเรียกร้องการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ซึ่งถูกผลักดันโดยผู้บริโภคที่กุมอำนาจซื้อ จนผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต แม้จะอยู่คนละซีกโลก ก็ไม่อาจนิ่งดูดาย

ความน่าสนใจของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ ยังอยู่ที่การขับเคลื่อนแบบ “กัดไม่ปล่อย” ผ่านเครื่องมือที่เป็นทั้งการประสานความร่วมมือและสร้างแรงกดดันไปพร้อมกัน คือการจัดทำรายงานประจำปีที่ใช้ชื่อว่า Business Benchmark on Farm Animal Welfare (BBFAW) โดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) และภาคีเครือข่าย ที่ติดตามเอกชนซึ่งเป็นผู้ผลิตจากฟาร์มต้นทาง และ The Pecking Order ซึ่งเกาะติดแบรนด์ฟาสต์ฟู้ด เพื่อให้มีการปรับตัวไปในทิศทางที่จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในการปกป้องสวัสดิภาพสัตว์

14 day old meat chicken in a commerical indoor system - World Animal Protection - Change for chickens

แรงกระเพื่อมผ่านมิติเศรษฐกิจ

ความเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิสัตว์ในโลกตะวันตกมีมานานนับร้อยปี สะท้อนการพึ่งพาที่มนุษย์มีต่อสัตว์มาตั้งแต่ในอดีต มุมมองร่วมสมัยถูกจุดประเด็นในวงวิชาการและถกเถียงกันจนเกิดความชัดเจนว่า สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิต แตกต่างจากวัตถุสิ่งของ ดังนั้น แม้มนุษย์จะเป็นเจ้าของก็ใช่ว่าจะทำอะไรได้ตามอำเภอใจ สัตว์มีสิทธิที่ต้องได้รับความคุ้มครองด้วยเช่นกัน แนวคิดนี้นำไปสู่การจัดทำกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิสัตว์ ซึ่งเริ่มต้นราวทศวรรษ 1640 ในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะขยายตัวไปยังประเทศในแถบยุโรป รวมทั้งมีพัฒนารายละเอียดในการคุ้มครองสัตว์ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์แตกต่างกัน เช่น สัตว์เลี้ยง สัตว์ทดลอง และปศุสัตว์ รวมถึงไก่เนื้อ

ในบ้านเรา ประเด็นสิทธิและสวัสดิภาพสัตว์ไม่ได้ถูกผลักดันอย่างจริงจังมากนักเมื่อเทียบประเด็นสิทธิด้านอื่น สถานะของสัตว์ตั้งแต่โบราณถือเป็นทรัพย์สิน โดยมีไว้ใช้งาน เป็นเครื่องเล่นอย่างไก่ชน รวมถึงเลี้ยงไว้เป็นอาหาร กระนั้น การกระทำทารุณต่อสัตว์ถือเป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2452) และในประมวลกฎหมายอาญากำหนดเรื่องการใช้สัตว์ทำงานเกินควร โดยมีโทษทั้งจำและปรับ รวมทั้งกฎหมายสำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557

สำหรับสัตว์ที่ใช้เป็นอาหาร อย่างไก่เนื้อ มีการจัดทำระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการคุ้มครองและดูแลสวัสดิภาพสัตว์ปีก ณ สถานที่เลี้ยง พ.ศ. 2542 รวมทั้งระเบียบที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ รวมทั้งมีการปรับปรุงเนื้อหาในอีกสิบปีถัดมา เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก (WTO) องค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) และมาตรฐานการผลิตสินค้าทางการเกษตร (GAP) ด้านการผลิตปศุสัตว์ ซึ่งมีมาตรฐานที่สำคัญ ได้แก่ มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ การควบคุมการใช้ยาในฟาร์มปศุสัตว์ และข้อกำหนดการควบคุมการใช้ยาสำหรับสัตว์ เห็นได้ชัดเจนว่า เหตุผลในการบังคับใช้กฎกติกา และแรงจูงใจในการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่าง ๆ ล้วนเป็นมุมมองด้านเศรษฐกิจ เพื่อการรักษาคุณภาพเนื้อไก่ให้เป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากเป็นสินค้าที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะการส่งจำหน่ายยังต่างประเทศ

14 day old meat chicken in a commerical indoor system - World Animal Protection - Change for chickens

สวัสดิภาพไก่ กระแสแรง

เนื้อไก่ เป็นโปรตีนจากสัตว์ซึ่งมีปริมาณการบริโภคสูงที่สุดในโลก นำหน้าเนื้อหมูและเนื้อวัว สำหรับผู้ผลิต ไก่เนื้อมีระยะการเลี้ยงสั้น อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนักตัวสูง ในมุมผู้บริโภค เนื้อไก่มีรสชาติดี ในราคาที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์อื่น ตลาดเนื้อไก่จึงกลายเป็นสมรภูมิการต่อสู้ในวาระการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ที่ชัดเจน

หนึ่งในมาตรฐานสำคัญในด้านสวัสดิภาพไก่เนื้อ ได้แก่ Better Chicken Commitment ซึ่งริเริ่มโดยองค์กรปกป้องสิทธิสัตว์หลายแห่ง เมื่อปี 2561 และมีบริษัทผลิตอาหารชั้นนำกว่า 200 แห่งร่วมลงนามเพื่อสร้างพันธะสัญญาในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามข้อกำหนดพื้นฐาน ได้แก่

  • ควบคุมความหนาแน่นในการอยู่อาศัยของไก่ ไม่เกิน 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
  • คัดเลือกสายพันธุ์ไก่ที่เติบโตในอัตราที่ช้าลง
  • จัดสภาพแวดล้อมให้ไก่ได้รับแสงจากธรรมชาติ และไก่ได้มีพฤติกรรมตามธรรมชาติ เช่น การติดตั้งคอนเกาะ
  • มาตรการในการทำให้ไก่สลบก่อนเข้าสู่กระบวนการฆ่า เช่น การใช้ก๊าซ
  • การรับรองการปฏิบัติตามมาตรฐานโดยองค์กรภายนอก (Third-party Audit) ข้อมูลเปิดเผย ตรวจสอบได้

กลไกขับเคลื่อนสู่สวัสดิภาพไก่ฟาร์ม

Business Benchmark on Farm Animal Welfare (BBFAW) เป็นรายงานการจัดอันดับการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มให้กับบริษัทชั้นนำระดับโลก 150 แห่งในภาคพื้นยุโรป อเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา และเอเชียแปซิฟิก จัดทำขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2555 และออกรายงานเป็นประจำ ต่อเนื่องเป็นเวลา 9 ปี ทำให้เห็นความก้าวหน้า (และไม่ถอยหลัง) ของบริษัทเอกชนในการปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม โดยแบ่งเป็น 6 เทียร์ ระดับสูงสุดคือ เทียร์ 1 เป็นผู้นำการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์ (Leadership) ไปจนถึงอันดับสุดท้าย เทียร์ 6 ไม่ปรากฏแผนด้านสวัสดิภาพสัตว์ในการดำเนินธุรกิจ (No evidence it’s on the business agenda) โดยเกณฑ์การประเมินมี 4 เรื่องหลัก ได้แก่

1. การบริหารจัดการและนโยบาย โดยมีนโยบายและแนวปฏิบัติในเรื่องนี้อย่างชัดเจน 

2. ด้านธรรมาภิบาลและการจัดการ มีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ โดยมีผู้รับผิดชอบชัดเจน

3. นวัตกรรมและความเป็นผู้นำ มีการลงทุนในการดำเนินงาน รวมทั้งสร้างความเข้าใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในองค์กรและซัพพลายเออร์

4. การรายงานผลการดำเนินงานและผลกระทบที่เกิดขึ้น

ปี 2563 BBFAW พบว่ามี 23 บริษัทไต่ลำดับสูงขึ้น อาทิ ยูนิลีเวอร์ นิวยอร์ก, อิเกีย รวมทั้ง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ของไทย ขณะที่อีก 15 บริษัทมีลำดับที่ถดถอยลง  BBFAW ถือเป็นเครื่องมือสำหรับบริษัทเอกชนเพื่อใช้เป็นแนวทางการปรับปรุงการดำเนินงาน โดยมีสาธารณชนเป็นทั้งแรงสนับสนุนและแรงกดดัน เพื่อให้เกิดการพัฒนามาตรฐานด้านสวัสดิภาพไก่เนื้อตามความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

 

14 day old meat chicken in a commerical indoor system - World Animal Protection - Change for chickens

สวัสดิภาพไก่ในร้านฟาสต์ฟู้ด

ในส่วนของเอกชนที่จำหน่ายอาหาร โดยเฉพาะฟาสต์ฟู้ดแบรนด์ดังระดับโลก ก็มีเครื่องมือในการปรับปรุงมาตรฐานการคุ้มครองสวัสดิภาพไก่เนื้อ โดยรายงาน The pecking order ที่เริ่มจัดทำในปี 2562 เพื่อติดตามฟาสต์ฟู้ดแนวหน้าจำนวน 9 แห่ง ที่เป็นที่รู้จักในบ้านเราเกือบทั้งสิ้น เช่น KFC, McDonald's, Starbuck, Pizza Hut เป็นต้น

ขณะที่เกณฑ์ใน The pecking order สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของ Better Chicken Commitment โดยมี 3 องค์ประกอบหลักในการประเมิน ได้แก่ 1. นโยบาย บริษัทฟาสต์ฟู้ดมีมาตราการใด ในการปกป้องสวัสดิภาพของไก่? 2. เป้าหมายที่ชัดเจน บริษัทฟาสต์ฟู้ดจะเริ่มดำเนินการยกระดับคุณภาพชีวิตของไก่ เมื่อใด? 3. รายงานความคืบหน้า บริษัทมีการจัดทำรายงานความคืบหน้าเรื่องการปรับปรุงสวัสดิภาพไก่อย่างไร?

การรายงานผลการดำเนินงาน แต่ละส่วนมี 6 คำถาม คำตอบของบริษัทจะถูกใช้เพื่อจัดลำดับตามคะแนนที่ได้ใน 6 ลำดับ ตั้งแต่ “เป็นผู้นำ” ไปจนถึง “แย่มาก” โดยรายงานปี 2562 พบแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดยอดแย่ ได้แก่ Burger King, Pizza Hut และ Domino's ส่วน SUBWAY และ Starbuck จัดในลำดับของการเริ่มต้น ขณะที่ KFC เป็นฟาสต์ฟู้ดเพียงแห่งเดียวที่มีความก้าวหน้าในการดูแลสวัสดิภาพไก่ อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้นโยบายนี้กับสาขานอกยุโรป ยังไม่สอดคล้องกับกระแสความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่ผู้บริโภคเกือบ 20,000 คนร่วมลงชื่อ เรียกร้องให้ KFC ประเทศไทย ประกาศเจตนารมณ์ใน Better Chicken Commitment ภายใต้การณรงค์ในโครงการ Change for Chickens

สัญญาณแรง ต้องเร่งปรับตัว

การทำข้อตกลงเพื่อสร้างหลักประกันการพัฒนาสู่มาตรฐานสวัสดิภาพไก่เนื้อ จำเป็นแค่ไหน  หลายคนอาจมองว่า ในเมื่อกฎหมายไม่ได้บังคับ บริษัทเอกชนไม่ได้ให้คำมั่นสัญญา ก็ไม่เห็นจะต้องปรับตัวอะไร

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป ภายใต้สำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำรายงานสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตร ประจำเดือนสิงหาคม 2563 มีข้อที่ระบุถึงมาตรฐาน Better Chicken Commitment โดยมีข้อความสรุปได้ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประชาสัมพันธ์ในเรื่องดังกล่าวแก่ผู้ผลิต/ส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ไทย เพื่อจะได้ปรับใช้มาตรฐานให้ทันกับกำหนดการบังคับใช้ Better Chicken Commitment ในปี 2569

แม้เนื้อไก่ร้อยละ 64 ถูกใช้บริโภคในประเทศ แต่มูลค่าส่งออกที่ 3.4 พันล้านดอลลาร์ คือเดิมพัน ถ้าดูข้อกำหนดด้านสวัสดิภาพไก่เนื้อของไทย พบว่าหลายประเด็นยังต่ำกว่าเกณฑ์ของ Better Chicken Commitment เช่น ความหนาแน่นในการอยู่อาศัย ระเบียบกรมปศุสัตว์วางไว้ที่ ไม่เกิน 33 กิโลกรัม/ตารางเมตร แต่มาตรฐานใหม่อยู่ที่ 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร หรือมาตรฐานแสงไฟเลี้ยงไก่ ของไทย “อย่างน้อย 20 lux” ต่างประเทศ “อย่างน้อย 50 lux” และต้องให้แสงธรรมชาติส่องถึงโรงเรือน  ล้วนเป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่ามาตรฐานไทยยังต่ำกว่าที่ตลาดต่างประเทศต้องการ และแรงกดดันจากผู้บริโภค คือพลังผลักดันให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวสู่มาตรฐานที่สูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งแน่นอนว่า จะเป็นคนละมาตรฐานกับผลผลิตที่จำหน่ายในประเทศ ที่จะยังคงใช้เกณฑ์เดิมต่อไป ตราบเท่าที่ผู้บริโภคยังไม่ได้แสดงความต้องการและข้อเรียกร้องอย่างมีน้ำหนักเพียงพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเหล่านี้

 

..............................................................

ที่มา:

ภาษาไทย

แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2564-66 อุตสาหกรรมไก่แช่แย็น แช่แข็ง และแปรรูป. วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน). ตุลาคม 2563

มาตรฐานบางประการสำหรับการเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย. เว็บไซต์คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. สืบค้น วันที่ 28 มิถุนายน 2564

ระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการคุ้มครองและดูแลสวัสดิภาพสัตว์ปีก ณ สถานที่เลี้ยง พ.ศ. 2554

รายงานสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตร (Situation Report) ประจำเดือนสิงหาคม 2563. สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสภาพยุโรป

รู้หรือไม่ว่าบริษัทฟาสต์ฟู้ดคือผู้อยู่เบื้องหลังของการทรมานไก่ทั้งหลาย. www.worldanimalprotection.or.th.   สืบค้นวันที่ 28 มิถุนายน 2564

ภาษาอังกฤษ

เว็บไซต์ betterchickencommitment.com

The Business Benchmark on Farm Animal Welfare (BBFAW). 2020

ในบ้านเรา ประเด็นสิทธิและสวัสดิภาพสัตว์ไม่ได้ถูกผลักดันอย่างจริงจังมากนักเมื่อเทียบประเด็นสิทธิด้านอื่น