Crocodiles at a farm.

แบรนด์หรูอย่าง Hermès อาจฆ่าจระเข้อย่างโหดเหี้ยมในฟาร์มที่ออสเตรเลีย

ข่าว

Hermès แบรนด์หรูสัญชาติฝรั่งเศสวางแผนขยายจำนวนฟาร์มจระเข้น้ำเค็มออสเตรเลียในรัฐนอร์ทเทอร์นเทริทอรี

รายงานล่าสุดจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก Fashion Victims พบว่า จระเข้น้ำเค็มออสเตรเลีย (Australian saltwater crocodiles) มากกว่า 50,000 ตัวอาจถูกเลี้ยงอย่างทารุณ ก่อนนำไปฆ่าเพื่อเลาะหนังของพวกมันมาใช้ผลิตสินค้า เว้นเสียแต่รัฐบาลกลางจะยุติการแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจที่แลกมาด้วยชีวิตของสัตว์เหล่านี้

ในปัจจุบัน 60% ของผลิตภัณฑ์สินค้าหนังจระเข้น้ำเค็มที่วางจำหน่ายอยู่ทั่วโลกมาจากประเทศออสเตรเลีย โดย 2 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นในประเทศทั้งหมดมาจากฟาร์มจระเข้ในรัฐนอร์ทเทอร์นเทริทอรี (Northern Territory)

รายงาน Fashion Victims ยังระบุว่า 3 ใน 4 ของจระเข้ในฟาร์มเลี้ยงถูกฆ่าเพื่อเอาหนังไปผลิตสินค้าหรูหรา ซึ่งรวมถึงกระเป๋าถือของแบรนด์หรู Hermès จระเข้จำนวนมากถูกกักขังรวมในกรงที่มีการใช้แผ่นรองพลาสติกเพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังของจระเข้เป็นรอยขูดขีดก่อนถูกนำไปฆ่า อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติแล้ว จระเข้เป็นสัตว์มีความรู้สึกเจ็บปวดและรู้สึกถึงความสุขได้ จระเข้ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติยังมีอายุยืนถึง 70 ปี สวนทางกับจระเข้ในฟาร์มเลี้ยงที่มีอายุขัยสั้นเพียง 2-3 ปีเท่านั้น

เบน เพียร์สัน (Ben Pearson) หัวหน้าฝ่ายโครงการอนุรักษ์ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า:

“จระเข้เป็นสัตว์ป่า ไม่ใช่กระเป๋าถือ พวกมันมีความรู้สึก และสมควรมีชีวิตตามธรรมชาติ ไม่ใช่ทนใช้ชีวิตในสภาพอิดโรยบนแผ่นรองพลาสติกในกรง เพื่อสร้างผลกำไรให้กับบริษัทแฟชั่นฝรั่งเศส พวกมันไม่ควรต้องสละชีวิตเพียงเพื่อมาเป็นกระเป๋าหรูหรา"

"เราเรียกร้องให้ ซุสซาน เลย์ (Sussan Ley) รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศออสเตรเลีย หยุดยั้งการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานและป่าเถื่อนนี้ ด้วยการสั่งห้ามการส่งออกผลิตภัณฑ์กระเป๋าหนังจากฟาร์มจระเข้ของ Hermès รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดสวัสดิภาพสัตว์ป่า การดำเนินธุรกิจฟาร์มจระเข้นั้น ถือเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม”

แผนการขยายจำนวนฟาร์มจระเข้ของ Hermès เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสวิพากวิจารณ์ถึงการใช้หนังสัตว์แท้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น แบรนด์ดังหลายเจ้า อาทิ Chanel, Victoria Beckham, Mulberry, Karl Lagerfeld, Vivienne Westwood และ Tommy Hilfiger ต่างประกาศจุดยืนลดละเลิกการใช้หนังสัตว์ หรือชิ้นส่วนอวัยวะสัตว์ป่าในผลิตภัณฑ์ โดยจะหันมาใส่ใจเรื่องความยั่งยืนและจริยธรรมการใช้สัตว์เพิ่มมากขึ้น

ขบวนการค้าสัตว์ป่าโลก

ทุกวันนี้ มีสัตว์ป่าจำนวนมากทั่วโลกถูกพรากจากป่า เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ทางการค้าที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐและต่างต้องทนใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมานในฟาร์ม  องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกทำงานอย่างหนักเพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองที่โลกมีต่อสัตว์ป่า และปกป้องพวกมันจากการถูกมนุษย์เอาเปรียบด้วยการนำมาเป็นสินค้าซื้อขาย ถูกปฏิบัติอย่างทารุณโหดร้ายเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของมนุษย์

ด้วยแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากคุณ เรายังคงทำงานร่วมกับผู้นำประเทศกลุ่ม G20 ซึ่งมีออสเตรเลียเป็นประเทศสมาชิก เพื่อยุติขบวนการค้าสัตว์ป่าทั่วโลกให้หมดไป"

“การขยายฟาร์มจระเข้เป็นการส่งสัญญาณให้สังคมโลกรับรู้ว่า ทางการออสเตรเลียยอมรับการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์และการค้าผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสัตว์ป่า

“ขบวนการค้าสัตว์ป่าไม่เพียงแต่เป็นต้นตอของความทุกข์ทรมานของสัตว์ แต่ยังเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพมนุษย์ เนื่องจากสภาพแวดล้อมอันย่ำแย่ภายในฟาร์มเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคระบาด เราต้องยอมรับว่า สุขภาพของมนุษย์เชื่อมโยงกับสุขภาพของสัตว์และสุขภาพของโลก” เบน เพียร์สัน กล่าวเพิ่มเติม"

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกขอเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียกำหนดกรอบระยะเวลาทำงานที่ชัดเจนเพื่อยุติอุตสาหกรรมที่โหดร้ายนี้ ร่วมกันยุติการทารุณกรรมสัตว์กับเรา และปกป้องชีวิตของจระเข้น้ำเค็มออสเตรเลีย

ขอขอบคุณการสนับสนุกอย่างต่อเนื่องจากทุกท่านที่ทำให้เราสามารถช่วยชีวิตสัตว์ทั่วโลกได้สำเร็จ

“จระเจ้เป็นสัตว์ป่า ไม่ใช่กระเป๋าถือ พวกมันมีความรู้สึก และสมควรมีชีวิตตามธรรมชาติ ไม่ใช่ทนใช้ชีวิตในสภาพอิดโรยบนแผ่นรองพลาสติกในกรง เพื่อสร้างผลกำไรให้กับบริษัทแฟชั่นฝรั่งเศส พวกมันไม่ควรต้องสละชีวิตเพียงเพื่อมาเป็นกระเป๋าหรูหรา