Caged mother pig on a factory farm looking through the bars - World Animal Protection - Wildlife. Not entertainers

'ซูเปอร์บั๊ก' ภัยร้ายที่ซ่อนอยู่ในระบบอาหารใกล้ตัวเรา

บล็อก

By

เมื่อพูดถึง “ยาปฏิชีวนะ” สิ่งแรกที่เรานึกถึงอาจเป็นยาที่แพทย์สั่งให้เพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วย แต่ความจริงแล้วยาปฏิชีวนะไม่ได้ถูกใช้กับคนเพียงอย่างเดียว ยาปฏิชีวนะส่วนใหญ่ถูกใช้กับสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรม การใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินไปเช่นนี้ก่อให้เกิดวิกฤตสุขภาพระดับโลก ผ่าน “ซูเปอร์บั๊ก” หรือ “เชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ” ที่คร่าชีวิตคนไทยกว่าวันละร้อยคน แต่ปัญหานี้กลับยังไม่ถูกแก้ไขอย่างจริงจังและยั่งยืนมากพอ

ยาปฏิชีวนะทำหน้าที่เปรียบเสมือนเสาค้ำจุนระบบฟาร์มอุตสาหกรรมให้คงอยู่ มันถูกใช้เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ฟาร์มที่มีอาการเครียดอยู่แล้วเกิดการเจ็บป่วย จากการที่ต้องทนอยู่ในสภาพแวดล้อมอันแสนหดหู่และสร้างความทุกข์ทรมานในฟาร์ม แต่ละปียาปฏิชีวนะจำนวนประมาณ 131,000 ตัน ถูกใช้กับสัตว์ในฟาร์มทั่วโลก คิดเป็น 3 ใน 4ของยาปฏิชีวนะที่ผลิตขึ้นบนโลก และคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ตัน ในปี พ.ศ. 2573 ตามที่ระบุในบทความวิชาการเรื่อง “Reducing antimicrobial use in food animals” (การลดการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อการบริโภค) ตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อปี พ.ศ. 2560

มีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปในฟาร์มอุตสาหกรรมเป็นสาเหตุหลักของการเกิด “ซูเปอร์บั๊ก” และ ซูเปอร์บั๊กนี้ส่งผลกระทบโดยตรงสู่คนงาน และแพร่กระจายเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา

water sample

ในแต่ละวันมีคนไทยมากกว่าหนึ่งร้อยคนเสียชีวิตเพราะ “ซูเปอร์บั๊ก” แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจะสูงกว่าโควิด 19 แต่ก็แทบจะไม่เห็นถึงความตระหนักถึงภัยคุกคามด้านสาธารณะสุขนี้อย่างจริงจัง ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยในปีพ.ศ. 2553 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่าเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ (AMR) อยู่ใน 10 อันดับภัยคุกคามด้านสาธารณะสุขระดับโลกที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ และในปีพ.ศ. 2563 การดื้อยาปฏิชีวนะได้กลายเป็นตัวชี้วัดใหม่ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพของไทย ที่กระทรวงสาธารณะสุข ยังได้แสดงให้เห็นอีกว่าคนไทยประมาณ 100,000 คนได้รับผลกระทบจาก “ซูเปอร์บั๊ก” รวมถึงมีผู้เสียชีวิต 38,000 คนในแต่ละปี ในขณะที่งานวิจัยจาก Lancent ล่าสุดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะสูงถึง 1.27 ล้านคนทั่วโลก และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นถึง 10 ล้านคนในปีพ.ศ. 2593

ยาปฏิชีวนะถูกนำมาใช้ในฟาร์มอุตสาหกรรมเพื่อรักษาสัตว์ป่วย เร่งการเจริญเติบโตหรือป้องกันโรค แม้ว่าการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อเร่งการเจริญเติบโตนั้นได้ถูกสั่งห้ามในหลายประเทศแล้วรวมถึงประเทศไทย แต่การใช้ยาปฏิชีวนะที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในไทยเป็นไปเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยของสัตว์ฟาร์ม อันมีสาเหตุจากการจัดการฟาร์มที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ ยาปฏิชีวนะถูกผสมรวมไปกับอาหารและน้ำเพื่อให้สัตว์กินทั้งคอก โดยไม่สนว่าสัตว์นั้นจะป่วยหรือไม่ก็ตาม

water sample

ประเทศไทยได้แสดงถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ด้วยการวางแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ลง 30% ในระหว่างปี พ.ศ. 2560-2564 โดยขณะนี้ก็กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่อยู่ โดยแผนยุทธศาสตร์ชาตินี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการร่วมมือจากหลายภาคส่วนและสหสาขาวิชาชีพภายใต้แนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Approach) ที่มีการเชื่อมโยงสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน เพื่อการพัฒนาด้านสาธารณะสุขภาพรวมให้ดีขึ้น

ภายใต้แผนยุทธศาตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย มีการส่งเสริมแนวทางการเลี้ยงสัตว์โดยปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ (Raised Without Antibiotics) ซึ่งได้นำร่องผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในฟาร์มสุกรเพื่อนำเสนอเนื้อสัตว์ที่ปราศจากยาปฏิชีวนะแก่ผู้บริโภค  ในขณะที่เนื้อหมูที่ผลิตในประเทศส่วนใหญ่ยังคงมีการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นประจำเพื่อป้องกันสัตว์ป่วย รวมถึงเนื้อสัตว์จากการเลี้ยงแบบปลอดยาปฏิชีวนะนี้มีการตั้งราคาที่สูงกว่าเนื้อสัตว์ทั่วไป ส่งผลทำให้การเข้าถึงเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยเป็นไปได้ยากมากขึ้น และถึงแม้สัตว์จะถูกเลี้ยงโดยไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะก็ไม่ได้หมายความว่าสัตว์เหล่านั้นจะถูกเลี้ยงภายใต้หลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี ซึ่งต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดก็คือการเลี้ยงสัตว์แบบระบบอุตสาหกรรม ที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องไปกับเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยขององค์การสหประชาติ

water sample

ฟาร์มหมูแบบอุตสาหกรรมมีการปล่อยของเสียเป็นจำนวนมาก (ในรูปแบบของมูลสัตว์และปัสสาวะ) ซึ่งมียีนดื้อยาปฏิชีวนะและเชื้อซูเปอร์บั๊กจำนวนมหาศาลอยู่ด้วย และได้ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะและสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง จากงานวิจัยโดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกในปีพ.ศ. 2561 พบว่ามีการปนเปื้อนของเชื้อซูเปอร์บั๊กบนเนื้อสัตว์สดที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย และจากการตรวจสอบล่าสุดขององค์กรฯในปี พ.ศ. 2564 ยังพบเชื้อซูเปอร์บั๊กที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะในกลุ่มถูกห้ามไม่ให้ผสมในอาหารสัตว์เพื่อป้องกันโรคภายใต้ระเบียบของกรมปศุสัตว์ ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม

ซึ่งการค้นพบนี้ทำให้เกิดคำถามว่า “ทำไมยังพบเชื้อซูเปอร์บั๊กที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่ถูกห้ามใช้ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมใกล้กับฟาร์มอุตสาหกรรม ทั้งที่ได้มีการออกแผนการดำเนินงานและแนวทางปฏิบัติระดับชาติที่ถูกใช้ต่อเนื่องมาถึง 4 ปีแล้ว” การศึกษาล่าสุดที่พูดถึงความก้าวหน้าและข้อท้าทายของการดำเนินแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ (Thailand's national strategic plan on antimicrobial resistance: progress and challenges) ระบุถึงอย่างชัดเจนถึงความท้าทายหลักที่ขัดขวางการดำเนินงาน คือการต่อต้านจากบริษัทยาและผู้ค้าปลีกที่กลัวผลกระทบด้านรายได้

water sample

นอกจากฟาร์มปศุสัตว์แล้ว ยาปฏิชีวนะยังถูกใช้อย่างแพร่หลายในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย เช่น ฟาร์มปลาและกุ้ง ในขณะที่ฟาร์มปศุสัตว์ได้ผสมยาปฏิชีวนะในน้ำและอาหารสัตว์ แต่ที่ฟาร์มกุ้งหรือปลาเกษตรกรเพียงแค่หว่านยาปฏิชีวนะลงในแม่น้ำหรือบ่อน้ำ ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมหาศาลเช่นนี้สามารถแพร่กระจายต่อไปยังสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้างได้อย่างง่ายดาย

การค้นพบที่น่าตกใจนี้แสดงให้เห็นว่าทุกคนมีความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับยีนดื้อยาปฏิชีวนะที่ผ่านการปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมและเนื้อสัตว์ที่เราบริโภคเข้าไป การห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มในฟาร์มอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการยกระดับสวัสดิภาพสัตว์เป็นคำตอบที่จะช่วยลดปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อซูเปอร์บั๊ก ในสิ่งแวดล้อมของเราได้ และยังช่วยการันตีเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยให้กับเราทุกคนอีกด้วย

แปลจากบทความ  Superbugs lurk in local food systems