Animal Welfare Legislation

สวัสดิภาพสัตว์ อีกหนึ่งต้นตอวิกฤติเชื้อดื้อยาช่องว่างในหลักการ One Health

บล็อก

By

วิกฤติเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาที่มีความเชื่อมโยงกับสุขภาพของคน สัตว์และสิ่งแวดล้อมอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ตามหลักการสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Concept) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคปศุสัตว์ ที่การดำเนินงานที่เกิดขึ้นเน้นที่ให้ความรู้เรื่องการใช้ยาปฎิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล การใช้สารทดแทนต่างๆ หรือแม้แต่การเลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเลย แต่ต้นตอสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินความจำเป็นในสัตว์ฟาร์มนี้กับถูกละเลยที่จะให้ความสำคัญ ซึ่งก็คือเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ที่ย่ำแย่นั่นเอง

Pigs in cages

การเกิดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในภาคการปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบฟาร์มอุตสาหกรรม มีสาเหตุหลักมาจากการเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีสวัสดิภาพ สัตว์ในระบบฟาร์มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะถูกขังอยู่ในกรงอย่างทุกข์ทรมาน เช่น แม่หมูถูกขังอยู่ในกรงแคบๆ ลูกหมูโดนตัดตอนอวัยวะอย่างโหดร้าย สร้างความเจ็บปวดทรมานเป็นอย่างมาก รวมถึงการถูกแยกจากแม่ตั้งแต่ยังเล็ก หรือแม้กระทั่งไก่ที่มีการเลี้ยงรวมกันอยู่อย่างหนาแน่น ไม่ได้รับแสงธรรมชาติอย่างเหมาะสม หรือแม้แต่การใช้ไก่สายพันธุ์โตเร็วที่สร้างผลกระทบทางด้านร่างกายต่อไก่อย่างรุนแรง

Chickens in a shed in NSW

วิธีการปฏิบัติเหล่านี้ก่อให้เกิดความทรมานกับสัตว์อย่างที่เราคาดไม่ถึง ซึ่งนำไปสู่การใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมหาศาลเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ที่เต็มไปด้วยความเครียดเหล่านี้เจ็บป่วย และได้นำมาสู่การใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมหาศาลเพื่อป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้น โดยการผสมในน้ำและอาหารให้กับสัตว์แบบรวมกลุ่มแม้ว่าสัตว์จะป่วยหรือไม่ก็ตาม

แม้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เสนอแนะว่ายาปฏิชีวนะไม่ควรถูกใช้เพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มในสัตว์ฟาร์ม แต่การเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มอย่างโหดร้ายทำให้ยาปฏิชีวนะถูกนำมาใช้มากถึง 75% ทั่วโลก และมีการคาดการณ์ว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคการปศุสัตว์นี้เพิ่มสูงขึ้นถึง 67% ระหว่างปี 2010 ถึง 2030 (หรืออีกเพียงยี่สิบปีเท่านั้น) การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมหาศาลในภาคการเกษตร ร่วมกับแหล่งอื่น ก่อให้เกิดวิกฤติด้านสุขภาพระดับโลก เนื่องจากเชื้อดื้อยามีการแพร่กระจายจากฟาร์มไปสู่คนได้โดยช่องทางต่างๆ เช่นการสัมผัสโดยตรงของคนงาน การปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อม

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้จัดทำการสำรวจการปนเปื้อนของเชื้อดื้อยาในแหล่งน้ำสาธารณะและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ฟาร์มอุตสาหกรรมใน 4 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย เมื่อปีพ.ศ.2564 พบเชื้อดื้อยาที่มีอันตรายต่อสุขภาพของคนอย่างรุนแรง เชื้อดื้อยาเหล่านี้มีต้นตอมาจากน้ำ และของเสียที่ถูกปล่อยมาจากฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรม ปนเปื้อนในแหล่งน้ำสาธารณะและสิ่งแวดล้อมรอบฟาร์มอุตสาหกรรม ซึ่งอาจสร้างผลเสียอย่างรุนแรงในวงกว้างหากยังไม่เร่งแก้ไข

 

Chokdee

โดยในประเทศไทยพบเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะชนิดรุนแรง ได้แก่ colistin plus co-trimoxazole, gentamicin, amikacin, trimethoprim-sulfamethoxazole หรือ amoxicillin ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากยาปฏิชีวนะกลุ่มนี้เปรียบเสมือนปราการด่านสุดท้ายที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อทั่วไป และผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อชีวิตจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ในกรณีที่ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นใช้ไม่ได้ผล

ในประเทศไทยผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่หยุดแค่เพียงสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรม แต่ยังกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยใกล้แหล่งฟาร์มอุตสาหกรรมนี้อีกด้วย โดยคำบอกเล่าจากเกษตรกรรายหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้กล่าวถึงผลกระทบว่า ตนมักคุ้นเคยกับผลกระทบของฟาร์ม เช่นน้ำเน่าเสีย กลิ่นเหม็น หรือผลกระทบต่อการเกษตรและระบบนิเวศ แต่ไม่ทราบเลยว่าตนและครอบครัวที่อยู่รอบๆฟาร์มอุตสาหกรรมก็มีความเสี่ยงกับเชื้อดื้อยาด้วยเช่นกัน

 

community impact

ทางด้านสหภาพยุโรปได้มีการประกาศการใช้ยาปฎิชีวนะแบบรวมกลุ่มเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2565 เป็นที่ผ่าน ซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญที่มีก้าวหน้าเป็นอย่างมากและประเทศอื่นสมควรปฏิบัติตามด้วยเช่นเดียวกัน องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจึงได้ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐมีนโยบายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มในสัตว์ฟาร์ม ตลอดจนให้ฟาร์มในระบบอุตสาหกรรมได้พัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ตามมาตรฐานขั้นต่ำของการเลี้ยงสัตว์ฟาร์ม (FARMS: www.farms-initiative.com) ที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก

สำหรับแนวทางแก้ไขวิกฤตเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในภาคปศุสัตว์ของประเทศไทย แม้ว่าในประเทศไทยจะมีการจัดตั้งแผนยุทธศาสตร์ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคปศุสัตว์ แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่การพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มกลับยังไม่ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควร ทั้งที่เป็นต้นตอสำคัญของปัญหาที่นำไปสู่การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมหาศาลและเกินความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เพื่อป้องกันโรคในสัตว์แบบรวมกลุ่ม

pig close

ฟาร์มในระดับอุตสาหกรรม และฟาร์มรายย่อยจำนวนมากทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า การพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มให้สูงขึ้น ช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ลูกหมูที่ถูกแยกออกจากแม่อย่างรวดเร็ว การตัดตอนอวัยวะ หรือการใช้กรงขังสัตว์ทั้งชีวิตส่งผลให้เกิดความเครียดและภูมิคุ้มกันต่ำ ส่งผลให้พวกมันมีโอกาสเจ็บป่วยได้สูง ในฟาร์มอุตสาหกรรม และยิ่งสัตว์จะอยู่รวมกันอย่าหนาแน่น ทำให้โรคหรืออาการติดเชื้อที่เกิดขึ้นก็แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว

นอกจากนั้นสวัสดิภาพสัตว์ก็เป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคทั่วโลกที่ใช้หนึ่งในหลักเกณฑ์ในการเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ และจะยิ่งมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นเมื่อได้รับรู้ถึงที่มา และผลกระทบของเนื้อสัตว์ที่ตนเองทาน โดยผลสำรวจที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจัดทำขึ้นพบว่า ผู้บริโภคชาวไทยจำนวนกว่า 81% ต้องการซื้อสัตว์ที่มาจากฟาร์มที่มีสวัสดิภาพที่ดีและมีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม และกว่า 89% ที่มีความกังวลเรื่องการดูและปฏิบัติต่อสัตว์ในฟาร์ม

ดังนั้นหากเรามองปัญหาเชื้อดื้อยานี้ตามแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Concept) ที่เราใช้ยึดถือเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา น่าจะถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสวัสดิภาพสัตว์ให้มากขึ้น เพื่อเติมเต็มจิ๊กซอว์ที่ยังหายไปในการสร้างสุขภาพหนึ่งเดียวให้เข้มแข็ง เพราะหากสุขภาพของสัตว์ดีมีความสุข ย่อมส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่จะมีระบบอาหารที่ปลอดภัยและยั่งยืนต่อโลกใบนี้ด้วยเช่นกัน

 

เขียนโดย

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล

ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก