ร่วมลงชื่อสนับสนุนร่าง "พ.ร.บ.ช้างไทย"

ช้างไทยเจอปัญหาอะไรบ้าง?

กฎหมายคุ้มครองไม่ทั่วถึง

ช้างเป็นสัตว์ป่า สมควรได้อยู่ในป่า แต่ปัจจุบัน กฎหมายและนโยบายของประเทศไทยยังมีความไม่ทันสมัยและคลุมเครืออยู่มาก มีการแบ่งแยกช้างออกเป็น 'ช้างป่า' และ 'ช้างเลี้ยง' แม้พวกมันจะมีองค์ประกอบทางพันธุกรรมเป็นช้างป่าเหมือนกัน แต่ช้างเลี้ยงกลับถูกกำหนดให้เป็นเพียง 'พาหนะ' และ 'สินค้าเกษตร' เท่านั้น กลายเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ช้างจำนวนมากถูกนำมาหาประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างโหดร้ายทารุณ

กระบวนการฝึกช้างที่โหดร้ายทารุณ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวราว 2,800 ชีวิต พวกมันถูกผสมพันธุ์เชิงพาณิชชย์ และต้องผ่านกระบวนการฝึกที่โหดร้ายทารุณตั้งแต่ยังเด็ก เช่น การใช้ขอสับ ใช้ไม้ทุบตี การล่ามโซ่ด้วยสั้นๆ การบังคับให้อยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด ฯลฯ สร้างความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อทำลายสัญชาตญาณสัตว์ป่าของช้าง ให้พวกมันยอมทำตามคำสั่งมนุษย์

ช้างถูกบังคับให้แสดงพฤติกรรมผิดธรรมชาติ 

ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ช้างถูกบังคับให้แสดงพฤติกรรมที่ขัดกับธรรมชาติของสัตว์ป่า เพื่อสร้างความบันเทิงให้นักท่องเที่ยว อย่างที่รู้จักกันดี เช่น กิจกรรมโชว์ช้าง ขี่ช้าง อาบน้ำช้าง ให้อาหารช้าง ฯลฯ โดยที่นักท่องเที่ยวหลายคนไม่เคยทราบเลยว่าเบื้องหลังสิ่งที่ดูเหมือนความน่ารักแสนรู้ คือความโหดร้ายทารุณและการจำกัดอิสรภาพที่ช้างต้องเผชิญตลอดชีวิต

ความเป็นอยู่ในปางช้างย่ำแย่

นอกจากปัญหาการทารุณกรรมรูปแบบต่างๆ แล้ว ช้างจำพนวนมากยังไม่ได้รับสวัสดิภาพตามมาตรฐานสากล ผลสำรวจของเราพบว่าช้างไทยกว่า 70% มีคุณภาพชีวิตย่ำแย่ และมีเพียง 5% เท่านั้นที่มีคุณภาพชีวิตอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่ถูกบังคับให้แสดงพฤติกรรมผิดธรรมชาติ มีอิสระในการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกับชีวิตในป่าที่สุด

ถูกผสมพันธุ์เชิงพาณิชย์ ไม่มีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์

ปัจจุบัน การผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ทำได้อย่างเสรี และยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ไม่มีนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการจำนวนมากขาดรายได้ที่จะดูแลช้างที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ การผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ยังไม่มีประโยชน์ต่อกการอนุรักษ์ช้างป่าอย่างที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวพยายามกล่าวอ้างแต่อย่างใด

ร่วมลงชื่อกับเราเพื่อยุติความโหดร้ายทารุณต่อช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้หมดไปโดยสมบูรณ์

สาระสำคัญ ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้าง’ ฉบับภาคประชาสังคม