Support Elephant Bill

ความคืบหน้า “ร่าง พ.ร.บ. ช้างไทย” ฉบับภาคประชาชน ถึงไหนแล้ว?

บล็อก

By

จากการยื่น ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม ที่มีผู้สนับสนุนกว่า 15,938 คน แก่รัฐสภา ตั้งแต่ปี 2565 ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวอยู่ไหนแล้ว?

ที่มาของ ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม

จากการสำรวจขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก พบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดว่าเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวช้างในเอเชีย โดยดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 39.8 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2562 โดยภายในระยะเวลาเพียงสิบปี ระหว่างพ.ศ. 2553 – 2563 จำนวนช้างที่ตกอยู่ในสวัสดิภาพย่ำแย่ที่สุดได้เพิ่มขึ้นถึง 135% ขณะที่สมาคมสหพันธ์ช้างไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวของผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวช้างในไทย ได้ประเมินว่าที่ผ่านมาช้างไทยสามารถทำรายได้ให้กับการท่องเที่ยวได้กว่า 66,000 ล้านบาทต่อปี[1]

กระนั้นกฎหมายที่สามารถใช้ฟ้องร้องและดำเนินคดีต่อผู้ที่กระทำผิดต่อช้างกลับกระจัดอยู่ในกฎหมายกว่า 27 ฉบับ โดยแยกการคุ้มครองช้างบ้านกับช้างป่าออกจากกัน และใช้กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ร่วมกับประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง และ มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง มากำกับการดูแลช้างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้ต้องใช้ความพยายามอย่างมหาศาลในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายในการดำเนินคดีทางกฎหมายเมื่อเกิดเหตุกับช้างเพียงหนึ่งตัว

เป็นเหตุผลให้เมื่อต้นปี 2565 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและองค์กรภาคี จัดทำ ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชาวไทยผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งกว่า 15,938 ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายไปยังรัฐสภา เพื่อเป็นการปฏิรูปการปกป้องช้างอย่างเป็นระบบและยั่งยืน – จนถึงวันนี้ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปอยู่ที่ไหน?

จดหมายเปิดผนึกร่วมถึง ฯพณฯ ท่านว่าที่นายกรัฐมนตรี ประเทศไทย และว่าที่สมาชิกผู้แทนราษฏร

การดำเนินงานและความคืบหน้า

กรกฎาคม – สิงหาคม 2565: รัฐสภาได้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ และเนื่องจาก ร่างพ.ร.บ.ช้างไทย มีหมวดที่ว่าด้วย กองทุนช้างไทย เพื่อการจัดสรรงบประมาณสําหรับการจัดสวัสดิภาพแก่ช้างและแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับช้าง ร่างพ.ร.บ.ฯ จึงถูกจัดว่าเป็นพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ซึ่งต้องนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณารับรอง ก่อนที่จะถูกบรรจุเพื่อพิจารณาในรัฐสภาต่อไป

กุุมภาพันธ์ 2566: เกือบครบหนึ่งปีหลังจากรอการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกและภาคีเครือข่ายได้รวมตัวยื่นหนังสือที่สำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อติดตามสอบถามถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ช้างไทย ที่ยังไม่ได้รับคำตอบ

มีนาคม 2566: ภายหลังจากการยื่นหนังสือทวงถามได้ไม่นาน นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันโอชา ได้ไประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย มีสถานะ ‘อยู่ระหว่างการพิจารณา’ โดยนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

สิงหาคม 2566: นายเศรษฐา ทวีสิน รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยประกาศสร้าง “4 ปีแห่งความเปลี่ยนแปลง” 

กันยายน 2566: จากการติดตามขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก รัฐสภาได้มีหนังสือเรียนไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อสอบถามเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้คำรับรองของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจากการติดตามกับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็ทำให้ทราบว่าเรื่องอยู่ที่ห้องของนายกเศรษฐา โดยไม่ยังทราบว่าจะได้รับการพิจารณาเมื่อไหร่

ตุลาคม 2566: จากการเข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นด้านการแก้ไขกฎหมายต่อคณะกรรมาธิเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ทำให้ทราบว่าขณะนี้ทางสำนักกฎหมาย กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังจัดทำร่างพระราชบัญญัติช้าง เสนอโดยคณะรัฐมนตรี และคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2566 ซึ่งขั้นตอนต่อไป หากร่างของกรมปศุสัตว์แล้วเสร็จ ก็จะสามารถนำ ร่างพ.ร.บ.ช้างไทย ที่เสนอโดยภาคประชาชน เข้าร่วมพิจารณาได้ไปพร้อมๆ กัน

ตุลาคม 2566: องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกร่วมหารือกับกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ เกี่ยวกับความร่วมมือในการยกระดับสวัสดิภาพช้างเลี้ยงในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และแนวทางในแก้กฎหมาย โดยเฉพาะในประเด็นของร่างพ.ร.บ.ช้างไทย ที่องค์กรฯ และภาคีเครือข่าย รวมถึงประชาชนอีกจำนวนมากต้องการจะผลักดัน 

An elephant swimming in the river

การท่องเที่ยวทางเลือก 

นอกจากนี้ ยังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับภาครัฐ โดยเฉพาะประเด็นที่ประเทศไทยยังคงมาตรฐานการใช้ช้างเพื่อการแสดง ใช้ขี่เป็นพาหนะ หรือใช้ในอุตสาหกรรมการชักลาก รวมถึงการที่ยังคงอนุญาตให้มีการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อเหตุผลด้านเศรษฐกิจ ทำให้ทางภาครัฐมีความเข้าใจถึงมุมมองขององค์กรฯ ที่มองว่า ‘ช้างเป็นสัตว์ป่า’ รวมไปถึงแนวทางการจัดการการท่องเที่ยวใน ‘ปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง’ ที่ทางองค์กรฯ สนับสนุน ซึ่งเป็นปางช้างที่นักท่องเที่ยวไม่มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับช้าง แต่จะได้รับความเพลิดเพลินจากการสังเกตพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้างแทน [อ่านต่อ ปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง ได้ที่นี่]

รัฐเห็นด้วยว่า ‘ปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง’ สามารถลดการติดเชื้อระหว่างคนกับสัตว์ ลดอุบัติเหตุ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งยังเห็นด้วยกับหลักการขององค์กรฯ ด้านการไม่สนับสนุนให้มีการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ เนื่องจากจะเป็นการผลิตช้างเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่พึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งหากเกิดวิกฤตการท่องเที่ยว (ที่เห็นชัดเจนเลยคือผลพวงจากพิษโควิด) ก็จะส่งผลต่อสวัสดิภาพของช้าง ผู้ประกอบการปางช้างอาจไม่สามารถดูแล จัดหาอาหารเพียงพอต่อจำนวนช้างที่เพิ่มขึ้นหากไม่ควบคุมจำนวน ดังนั้น การจัดการเพื่อป้องกันการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์จะส่งผลดีในระยะยาวต่อสวัสดิภาพของช้างแบบยั่งยืน

ความร่วมมือจากภาครัฐ

ขณะเดียวกัน ทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกก็เข้าใจว่า มีผู้ประกอบการและผู้บริโภคอีกเป็นจำนวนมากที่ยังคงใช้งานช้างเพื่อความบันเทิงและเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้การคงไว้ซึ่งมาตรฐานการใช้งานช้าง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเวลาในการให้บริการขี่ช้าง เวลาพัก น้ำหนักของแหย่ง หรือการกระทั่งรูปแบบของการแสดงที่ปลอดภัยต่อช้าง ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง พ.ศ. 2563  ล้วนแต่เป็นเกณฑ์เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้งานช้างอย่างทรมานจนเกินไป

ความพยายามขององค์กรฯ ที่จะผลักดันกฎหมายไม่ให้มีการผสมพันธุ์ของช้าง เป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่มีผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก จากประสบการณ์ของภาครัฐ แม้กฎหมายจะสมเหตุผลและมีประโยชน์เพียงใด หากสังคมยังไม่พร้อมและไม่เข้าใจ อาจส่งผลให้เกิดแรงต้าน

เมื่อเป็นเช่นนี้ แนวทางในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบคือการที่ 1) องค์กรฯ รับหน้าที่สร้างความเข้าใจกับสังคม และ 2) หาแนวร่วมจากผู้ประกอบการธุรกิจและผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยว เพื่อชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในประเด็นท่องเที่ยวเชิงจริยธรรมรวมถึงผลกระทบในระยะยาวต่อสังคม เพื่อเตรียมสังคมให้พร้อมต่อการแก้กฎหมายที่มีสภาพบังคับใช้และส่งผลต่อทุกคน

ในปี 2567 หรือทันทีที่ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย ที่เสนอโดยภาคประชาชนได้รับการบรรจุเป็นวาระในการพิจารณาและมีการถกกันในรัฐสภา ถึงวันนั้น สังคมจะพร้อมหรือยังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงไปไปด้วยกัน?