KFC Thailand

ความลับของร้านไก่ทอด!

ข่าว

“รสชาติดี” “ราคาประหยัด” จะไม่ใช่แค่สองเรื่องที่ถูกถามหาจากแบรนด์อาหารการกินอีกต่อไป แต่ผู้บริโภคยังถามต่อไปด้วยว่า ผู้ประกอบการมี “ความรับผิดชอบ” ที่เพียงพอแล้วหรือไม่ ต่อคุณภาพสินค้าและบริการ ต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

“สวัสดิภาพสัตว์” เป็นอีกประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผู้บริโภคยุคนี้ โดยคำถามจะพุ่งเป้าไปที่การกินอยู่หลับนอน การปลอดจากโรคภัย การไม่ถูกทำให้ต้องทุกข์ทรมาน หรือไม่สามารถจะมีพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ เพราะแม้จะเป็นเพียงสัตว์อาหารที่มีช่วงชีวิตแค่สั้น ๆ แต่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ย่อมหมายถึงความเป็นธรรมต่อสิ่งมีชีวิตที่สร้างผลกำไร และถือเป็นต้นทุนที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ประกอบการโดยไม่อาจปฏิเสธได้

ฉลากโปร่งใส ส่องจริยธรรมธุรกิจ

เมื่อมีคำถาม ผู้บริโภคย่อมต้องการคำตอบจากผู้ประกอบการธุรกิจ

สังคมได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในอดีต ถ้ายังจำกันได้ในกรณีของพืชตัดต่อพันธุกรรม (GMO) ที่เป็นประเด็นถกเถียงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ว่าเจ้าพืชพันธุ์เหล่านี้ เมื่อนำมาเป็นอาหารจะปลอดภัยกับคนกินหรือไม่ การเพาะปลูกจะสร้างพิษภัยแก่สิ่งแวดล้อมและชุมชนในบริเวณโดยรอบหรือเปล่า ด้วยการโต้แย้งยืดเยื้ออยู่หลายปี ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่างก็ค้นคว้าขุดคุ้ยข้อมูลมาตอบโต้กันแบบเอาเป็นเอาตาย  ก่อนจะจบลงตรงจุดที่พอจะเป็นทางออกร่วมกันว่า ถ้าอย่างนั้นใช้วิธีติดฉลาดให้รู้กันชัด ๆ ไปเลยว่า ผลิตภัณฑ์ที่นำมาวางขายอยู่นั้น อันไหนมาจากวัตถุดิบที่เป็น GMO บ้าง จะได้เป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจว่าจะซื้อ หรือไม่ซื้อ แล้วฉลาก GMO ก็ได้กลายเป็นกฎกติกาของหลายประเทศ ที่ผู้ผลิตและผู้ขายต้องทำความเข้าใจก่อนจะผลิตสินค้าส่งไปจำหน่ายยังประเทศคู่ค้า ซึ่งมีรายละเอียดของข้อกำหนดเรื่องฉลาก GMO แตกต่างกันไป

อีกกรณีคือ ฉลากคาร์บอน (Carbon label) หรือ “ฉลากลดโลกร้อน” แสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint) ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ให้ผู้บริโภคได้รู้ถึงการดำเนินงานด้วยความห่วงใยสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิต ด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราที่เป็นไปตามข้อตกลงสากล ในท่ามกลางสถานการณ์ที่ทั้งโลกพากันตื่นตัวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ฉลากคาร์บอนจึงเป็นหลักประกันว่าผู้ประกอบการไม่ได้หมกมุ่นอยู่แต่กับผลประโยชน์ของตัวเอง โดยละเลยความเดือดร้อนของคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่เผชิญปัญหาภัยแล้ง หลายเมืองมีระดับน้ำท่วมสูงขึ้นทุกปีจนต้องย้ายเมืองหนี แม้แต่หมีขั้วโลกก็โดนผลกระทบถึงขั้นจะต้องสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ 

“ฉลากสวัสดิภาพสัตว์” ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เอกชนในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เริ่มติดฉลากแบบสมัครใจ (private label) กันมาหลายปี เพื่อบอกข้อมูลสวัสดิภาพสัตว์บนผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็น เนเธอแลนด์ เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร 

ล่าสุด เมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว คณะมนตรียุโรปมีมติเห็นชอบการจัดทำฉลากรับรองสวัสดิภาพสัตว์ของสหภาพยุโรป (EU-wide animal welfare label) ซึ่งจะครอบคลุมสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์มทุกประเภทตลอดทั้งวงจรชีวิต ไปจนถึงขั้นตอนการขนส่งและเข้าโรงเชือด โดยเป็นฉลากแบบสมัครใจ เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตมีการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ด้วยมาตรฐานที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด ถือเป็นการให้รางวัลแก่ผู้ผลิต พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค

ในอนาคต ฉลากสวัสดิภาพสัตว์มีแนวโน้มจะพัฒนาเป็นมาตรฐานใช้บังคับ เช่นเดียวกับฉลาก GMO และฉลากลดโลกร้อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคและปศุสัตว์ ซึ่งผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ของไทยต้องติดตามเพื่อจะปรับตัวได้อย่างเท่าทันด้วยเช่นกัน

ทำดี บอกด้วย

อีกแนวทางที่ใช้กัน เพื่อสื่อสารความตั้งใจของผู้ประกอบการในการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ เฉพาะเจาะจงไปที่ไก่เนื้อ ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ที่มีการบริโภคสูงที่สุดในโลก เพราะอร่อยได้ในราคาที่ไม่แพง นั่นก็คือการจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน โดยมีองค์กรภายนอกให้การรับรอง (Third-party Audit) คล้ายกับ ISO ของภาคอุตสาหกรรม

ในระดับฟาร์มมี Business Benchmark on Farm Animal Welfare (BBFAW) ที่เป็นการจัดอันดับการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มที่ 150 บริษัทชั้นนำระดับโลกเข้าร่วม ส่วนอาหารที่บริการถึงปากท้องของผู้บริโภค มีรายงาน The pecking order เป็นมาตรฐานคุ้มครองสวัสดิภาพไก่เนื้อในร้านฟาสต์ฟู้ด ซึ่งเริ่มจัดทำเมื่อปี 2562 โดยมีฟาสต์ฟู้ดระดับโลกเข้าร่วม 9 แห่ง เช่น KFC, McDonald's, Starbuck, Pizza Hut เป็นต้น

TPO ranking 21

เกณฑ์ที่กำหนดใน The pecking order สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของ Better Chicken Commitment ซึ่งริเริ่มโดยองค์กรปกป้องสิทธิสัตว์หลายแห่ง โดยมีบริษัทผลิตอาหารชั้นนำกว่า 200 แห่งร่วมลงชื่อเพื่อสร้างพันธะสัญญาในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามข้อกำหนดพื้นฐาน อาทิ การควบคุมไม่ให้ไก่อยู่อาศัยอย่างเบียดเสียด การคัดเลือกสายพันธุ์ไก่โตช้า การให้ไก่ได้รับแสงจากธรรมชาติ และมีพฤติกรรมตามธรรมชาติ เช่น ติดตั้งคอนให้ไก่บินไปเกาะได้ เป็นต้น ข้อกำหนดเหล่านี้สร้างหลักประกันสวัสดิภาพไก่ พร้อมกับยืนยันความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมจะทำให้ไก่เจ็บป่วยได้ง่าย ฟาร์มต้องใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งอาจตกค้างในผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ท้องตลาด และปัญหาเชื้อดื้อยา แพ้ยา รวมทั้งอาการข้างเคียงอื่น ๆ อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภคได้

The pecking order จัดทำรายงานโดยการพิจารณาจาก 1. นโยบาย โดยบริษัทมีนโยบายและมาตรการในการปกป้องสวัสดิภาพไก่  2. เป้าหมายที่ชัดเจน บริษัทมีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการยกระดับคุณภาพชีวิตไก่ที่ชัดเจนติดตามวัดผลได้  3. รายงานความคืบหน้า บริษัทมีการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานในการปรับปรุงสวัสดิภาพไก่  โดยแต่ละส่วนมี 6 คำถามให้บริษัทต้องตอบ และคำตอบของบริษัทจะถูกใช้เพื่อจัดลำดับตามคะแนนที่ได้ใน 6 ลำดับ ตั้งแต่ “เป็นผู้นำ” ไปจนถึง “แย่มาก”

ในปี 2562  KFC เป็นฟาสต์ฟู้ดเพียงหนึ่งเดียว ที่มีความก้าวหน้าในการดูแลสวัสดิภาพไก่  ขณะที่แบรนด์ฟาสต์ฟู้ดยอดแย่ ได้แก่ Burger King, Pizza Hut และ Domino's  ส่วน SUBWAY และ Starbuck ถูกจัดในลำดับของการเริ่มต้นดำเนินงาน

ลับ ลวง พราง ชะตากรรมไก่ ชะตากรรมคนไทย

ในบรรดาแบรนด์อาหารจานด่วนข้ามชาติ (Quick Service Restaurant – QSR)  ไก่ทอดครองตลาดอันดับหนึ่ง ทั้งในประเทศไทยและประเทศร่วมภูมิภาค คนเอเชียต้อนรับการเข้ามาของเมนูไก่ทอดจากชาติฝั่งตะวันตกได้สนิทใจด้วยรสชาติที่คุ้นลิ้นและสไตล์การกินที่คุ้นเคยมากกว่าถ้าเทียบกับแฮมเบอร์เกอร์และพิซซ่า ทำให้ตลาดไก่ทอดกลายเป็นสมรภูมิรบที่ผู้ค้ารายใหญ่ทั้งแบรนด์ไทยและต่างชาติต่อสู้ฟาดฟันกันอย่างดุเดือดเลือดพล่านด้วยสารพัดกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อช่วงชิงเม็ดเงินเดิมพันมูลค่านับหมื่นล้านบาทในแต่ละปี อีกทั้งตลาดไก่ทอดยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้จะเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19  

ถ้าถามผู้บริโภคชาวไทยถึงแบรนด์ไก่ทอด เชื่อได้เลยว่าหน้าของคุณลุงผู้พันจะลอยมาเป็นรายแรก จึงไม่น่าแปลกใจที่ KFC จะครองตลาดส่วนใหญ่ หรือคิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของตลาดไก่ทอดไทย ด้วยสาขากว่า 800 แห่ง กับตัวเลขการขายไก่กว่า 25 ล้านชิ้นต่อเดือน คูณ 12 เดือน เท่ากับ 300 ล้านชิ้นต่อปี นั่นหมายถึงไก่จากฟาร์มจำนวนหลายสิบล้านตัว  

ทว่า ไก่เหล่านั้นกลับใช้ชีวิตอย่างเป็นปริศนา!

ประเด็นเรื่องไก่ใช้ฮอร์โมน ใช้ยาปฏิชีวนะ กับผลกระทบต่าง ๆ นานา เป็นความกังวลที่อยู่กับคนไทยมาช้านาน แม้ว่าหน่วยงานรับผิดชอบจะจัดทำระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการคุ้มครองและดูแลสวัสดิภาพสัตว์ปีก ณ สถานที่เลี้ยง พ.ศ. 2542 รวมทั้งระเบียบที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ เพื่อกำหนดมาตรฐานฟาร์มปศุสัตว์ รวมถึงการใช้ยาในฟาร์ม และการใช้ยาสำหรับสัตว์ กระนั้น ความหวาดวิตกของผู้บริโภคไทยก็ไม่เคยหมดไป ซ้ำเป็นประเด็นที่ยังมีน้ำหนัก จากการทดสอบของโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ เมื่อปี 2561 มีการสุ่มเก็บ 62 ตัวอย่างไก่จากห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และห้างออนไลน์ พบว่ามียาปฏิชีวนะตกค้างสูงถึง 26 ตัวอย่าง

TPO ranking 21

ในฐานะ FC ไก่ทอด ย่อมอยากจะอร่อยแบบมั่นใจได้ว่าเมนูโปรดไม่อยู่ในกลุ่มที่เป็นปัญหา ผู้บริโภคชาวไทยจำนวนเกือบ 20,000 คน จึงได้ร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้ KFC ประเทศไทย ประกาศเจตนารมณ์ใน Better Chicken Commitment ภายใต้การณรงค์ในโครงการ Change for Chickens โดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) และภาคีเครือข่าย

ปัญหาอยู่ตรงที่ ถึง KFC จะไต่อันดับสู่การเป็นแบรนด์ฟาสต์ฟู้ด ที่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้ได้รับรู้ถึงความก้าวหน้าในการดูแลสวัสดิภาพไก่ที่ถูกนำมาแปลงเป็นรายรับมูลค่ามหาศาล แต่นโยบายดังกล่าว ซึ่งสะท้อนชัดถึงความรับผิดชอบและจริยธรรมของผู้ประกอบการ กลับไม่ถูกใช้กับสาขาของ KFC นอกสหภาพยุโรป  

คำตอบที่ได้จากแบรนด์ไก่ทอดอันดับหนึ่งของไทย มีเพียงความเงียบ ที่ทำให้สวัสดิภาพของไก่หลายสิบล้านตัวยังคงเป็นเรื่องลึกลับที่สังคมไม่อาจล่วงรู้ พอ ๆ กันกับเรื่องของความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ในดวงใจดูเหมือนจะถูกสั่นคลอนไปเรื่อย ๆ ด้วยข้อสงสัยที่ว่า หรือการโหมโฆษณากับสารพัดโปรโมชัน จะเป็นการเลือกสื่อสารแต่เฉพาะข้อมูลด้านดีที่ผู้ประกอบการรับประโยชน์เน้น ๆ อยู่เพียงฝ่ายเดียว