แถลงการณ์กรณีพาช้างกลับบ้าน““พลายศักดิ์สุรินทร์””
ข่าว
ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของภารกิจพาช้างกลับบ้าน หรือ “พลายศักดิ์สุรินทร์” หลังถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีที่ประเทศศรีลังกา พร้อมช้างอีก 2 ตัว เมื่อ 22 ปีก่อน
ซึ่งก่อนหน้า เรื่องราวของพลายทั้งสามหายไปจากการรับรู้ของคนไทย จนเมื่อไม่นานมานี้มีการเผยแพร่ภาพพลายศักดิ์สุรินทร์ที่ชี้ให้เห็นถึงการมีสวัสดิภาพสัตว์ที่ย่ำแย่ เช่น ล่ามโซ่ตรึง ข้อเท้าหลังทั้งสองข้างมีรอยแผล ขาหน้าซ้ายงอไม่ได้ มีแผลฝีที่สะโพกทั้งสองข้าง สภาพโดยรวมดูทรุดโทรม จึงป็นที่มาของกระแสเรียกร้องให้พาพ่อพลายกลับบ้านเพื่อรักษาตัว และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างอิสระ
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ขอชื่นชมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนที่ร่วมพาพ่อพลายกลับแผ่นดินเกิด ไม่ว่าจะเป็นเสียงเรียกร้องจากคนรักสัตว์ ความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม การขับเคลื่อนจากทางภาครัฐ ทีมงานควาญช้าง สัตวบาล และรวมไปถึงเจ้าหน้าที่หน้างานทุกๆ ท่าน
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าไทยไม่ส่งออกช้างไปต่างประเทศตั้งแต่แรก อีกทั้ง ช้างที่ส่งออกไป ก็ไม่มีการติดตามความเป็นอยู่ของช้างอย่างเป็นระบบโดยภาครัฐ มีเพียงภาคประชาสังคมที่พยายามติดตามกันเองอย่างต่อเนื่อง อย่าง กรณีช้างฮานาโกะ ที่เสียชีวิตไปเมื่อปี 2559 หลังจากที่ต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวนานถึง 60 ปี การส่งออกช้างในทางหนึ่งจึงอาจส่งเสริมให้ช้างถูกทรมานตลอดชีวิต ซึ่งรวมถึงสวัสดิภาพที่ย่ำแย่และโหดร้ายทารุณ ส่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจของช้าง หรือถ้าโชคไม่ดี ก็อาจเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง
จากการศึกษาขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีช้างเลี้ยงอยู่ประมาณ 3,000 ชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้งานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ 3 ใน 4 ของช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนี้ ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมหรือย่ำแย่ ถูกฝึกให้ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างการโชว์แสดงความสามารถ จัดให้ขี่ช้าง อาบน้ำช้าง และอื่นๆ ที่ขัดกับพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้าง ทั้งหมดนี้ ต้องผ่านเบื้องหลังกระบวนการฝึกที่โหดร้ายทารุณมาทั้งสิ้น เพียงแต่ภาพการฝึกเหล่านี้อาจไม่เคยเป็นที่รับรู้ของสาธารณะ
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ในฐานะเป็นองค์กรรณรงค์ด้านสวัสดิภาพสัตว์ เชื่อว่าช้างเป็นสัตว์ป่าควรอยู่ในป่า ถ้าเป็นช้างเลี้ยงก็ต้องอยู่ในสถานที่ที่เป็นมิตรกับช้าง ให้ช้างได้เป็นช้างอย่างที่ควรเป็น องค์กรฯ อยากให้กรณี “พลายศักดิ์สุรินทร์” เป็นเครื่องย้ำเตือนให้ภาครัฐมีมาตราการปกป้องสวัสดิภาพช้างไทยให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากกว่านี้
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมีข้อเรียกร้องต่อ้รัฐบาลชุดใหม่ ดังนี้
-
กำหนดการติดตามตรวจสอบอย่างเป็นระบบ และประเมินสวัสดิภาพของช้างไทยที่ถูกส่งออกไปอยู่ต่างประเทศทั้งหมด รวมทั้งรายงานผลต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส
-
ยุติการส่งออกช้างไปยังต่างประเทศ เพื่อปกป้องสวัสดิภาพช้างจากการถูกทารุณทั้งทางร่างกายและจิตใจ อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางบริบททั้ง สภาพแวดล้อมทางภูมิประเทศ ภูมิอากาศ หรือแม้แต่กระทั่งวัฒนธรรมการใช้งาน และเลี้ยงดูซึ่งเป็นปัจจัยที่้ยากต่อการควบคุม
-
สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม โดยเปิดให้ ภาคประชาสังคม และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมแสดงความคิดเห็น ตัดสินใจ เพื่อขับเคลื่อน ในการปกปกช้างไทยในฐานะที่ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติ
-
สนับสนุนการผ่าน ‘ร่างพระราชบัญญัติปกป้องและคุ้มครองช้างไทย พ.ศ....’ หรือ ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม เพื่อปลดแอกช้างไทยจากความทุกข์ทรมาน ปฏิรูปคุณภาพชีวิตตามมาตรฐานสากลโดยเร่งด่วน