amr event

เดินหน้าพายซัพล่องแม่น้ำสายที่ 2 นครชัยศรี จ.นครปฐม รณรงค์ต้านเชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น

ข่าว

นำทีมโดย มารีญา พูลเลิศลาภ สร้างความตระหนักรู้ถึงภัยของเชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย  World Animal Protection เดินหน้าแคมเปญ “บึ๊ด จ้ำ บึ๊ด ฮึดสู้เพื่อสัตว์ฟาร์ม” ผ่านกิจกรรมพายซัพบอร์ดเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ล่องแม่น้ำนครชัยศรี จ.นครปฐม โดยผนึกกำลังกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ เทศบาลตำบลนครชัยศรี อาสาสมัคร นักซัพบอร์ดจาก The Sup Area ตลอดจนเยาวชนให้มีส่วนร่วมสร้างสังคมตระหนักถึงปัญหาและภัยของเชื้อดื้อยาเพื่อป้องกันและสร้างความปลอดภัยในชุมชน

พร้อมเผยผลตรวจเชื้อแบคทีเรียดื้อยาล่าสุดในแหล่งน้ำรอบฟาร์มอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ โดยมี มารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรฯ ร่วมนำกิจกรรมเดินรณรงค์ และสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน บริเวณพื้นที่ตลาดท่านา อ.นครชัยศรี  นอกจากนี้ภายในงานยังได้จัดกิจกรรมเสวนา “รณรงค์เพื่อสัตว์ฟาร์ม เกี่ยวอะไรกับเชื้อดื้อยา” โดยได้รับเกียรติจาก โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย, ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์เฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา และ อำนาจ เรียนสร้อย เจ้าของแทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม จากเครือข่าย Patom Organic Farm มาแลกเปลี่ยนทัศนะ

Maria

จากรายงานล่าสุดขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ในเดือน ต.ค. 2566 ยังคงพบว่ามีเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในแหล่งน้ำสาธารณะและบริเวณฟาร์มอุตสาหกรรรม อาทิ ฟาร์มสุกร และฟาร์มไก่ ใน จ.นครราชสีมา จ.ฉะเชิงเทรา และจ.นครปฐม ซึ่งสถานการณ์นี้ไม่ต่างจากผลตรวจเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา และเป็นที่น่าวิตกอย่างมากที่ยังคงพบเชื้อดื้อยา เช่น E.coli และ Klebsiella ในยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในฟาร์มอุตสาหกรรม เช่น Ampicillin, Amoxy-clavulanate และ Tetracycline ยาเหล่านี้ยังใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ของคนเช่น โรคผู้ป่วยที่ติดเชื้อต่างๆ  ในทางเดินปัสสาวะ หลอดลมอักเสบ ภาวะติดเชื้อที่หู ในกระแสเลือด รวมถึงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ฯลฯ หากประชาชานติดเชื้อดื้อยาและป่วยด้วยโรคเหล่านี้อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละ 38,000 คน และติดเชื้อปีละ 88,000 ครั้ง นำไปสู่การรักษาที่โรงพยาบาลนานขึ้น 3.24 ล้านวันต่อปี ค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็น 2,539-6,084 ล้านบาท และมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 40,000 ล้านบาท*(ข้อมูลจาก https://amrthailand.net)

Talk

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์เฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา  เปิดเผยว่า  ในวารสารการแพทย์ชื่อดัง The Lancet มีการเก็บข้อมูลจากหลายประเทศทั่วโลก ระบุว่าในปัจจุบันมีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 44,000 คน หรือ 12 คนต่อนาที ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยามาจากทางตรงคือ ตัวผู้บริโภคเอง เช่น ซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง หรือกินยาไม่ครบตามแพทย์สั่ง ส่วนทางอ้อม คือ ผ่านระบบอาหาร และจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันองค์กรสิ่งแวดล้อมโลกได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเชื้อดื้อยาอย่างมาก  เนื่องจากเชื้อดื้อยาส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนและการรักษาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการรักษาที่ยากขึ้น ใช้เวลานานขึ้น รวมถึงราคายาที่แพงขึ้นด้วย

“รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่สอง อย่างน้อย 3 กระทรวง คือ กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องเข้ามาดำเนินการอย่างจริงจัง พร้อมกันนี้ กระทรวงศึกษาฯ ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาคนให้มีความตระหนัก รู้จักตั้งคำถาม และคิด วิเคราะห์มากขึ้น รวมถึงสิทธิผู้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ในการให้ข้อมูล และที่มาของผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภค ตลอดจนการสร้างฐานข้อมูลกลางของแหล่งสินค้าออร์แกนิคเพื่อผู้บริโภคในการเข้าถึงสินค้าปลอดภัยได้ง่ายขึ้น และสุดท้ายคือรัฐบาลควรต้องมีหน้าที่ให้ข้อมูล ให้ความรู้แก่ประชาชนในการเผยแพร่เรื่องเชื้อดื้อยาไปยังโรงเรียน และขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ ให้มากขึ้นด้วย”

amr

ด้าน อำนาจ เรียนสร้อย เจ้าของแทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม เปิดเผยว่า ในอดีตตนเองเคยทำงานในแวดวงปศุสัตว์และเห็น

การใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลกระทบตั้งแต่คนทำงาน สิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค นอกจากนี้รูปแบบการเลี้ยงสัตว์
ในฟาร์มอุตสาหกรรมไม่ตอบโจทย์เรื่องของความยั่งยืนต่อการสร้างอาหารปลอดภัย  ไม่ว่าจะเป็นการใช้สารเคมี หรือยาปฏิชีวนะ ซึ่งสามารถตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อมได้
 และยังไม่รวมถึงความเป็นธรรม ที่ระบบการผลิตอาหารแบบเดิมเกษตรกรมีความสามารถในการเข้าถึงได้น้อย มีระบบการผลิตที่เป็นกระแสหลักอยู่เพียงแค่ไม่กี่กลุ่ม

“แทนคุณฟาร์ม พัฒนาธุรกิจให้เป็นระบบปศุสัตว์ทางเลือก เราจึงให้ความสำคัญและสนใจ ทำฟาร์มปศุสัตว์อินทรีย์ ทั้งรูปแบบการเลี้ยงและอาหารที่ให้สัตว์กิน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงแบบปล่อย ให้พื้นที่การเลี้ยงที่เยอะกว่า เพื่อทำให้สัตว์ในฟาร์ม ไม่เกิดสภาวะความเครียด สิ่งเหล่านี้เกื้อหนุนให้สัตว์แข็งแรงตามธรรมชาติ สิ่งที่แทนคุณฟาร์มทำ เราแค่ย้อนกลับไปเลี้ยงไก่ในแบบที่ปู่ย่าตายายเลี้ยงคือ เลือกใช้สายพันธุ์สัตว์พื้นเมือง และเลี้ยงอย่างอิสระ ให้สัตว์ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ และที่สำคัญคืออาหารสัตว์ที่มาจากเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ วันนี้ระบบการผลิตปศุสัตว์ทางเลือกมีมากขึ้น แต่จริงๆ มันไม่ใช่แค่ทางเลือกแต่เป็นทางรอดสำหรับผู้บริโภค”

Supboard

ปิดท้ายกับ โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เปิดเผยว่า ยาปฏิชีวนะ ส่วนใหญ่ที่ผลิตมาบนโลกใบนี้ 3 ใน 4 ผลิตมาถูกใช้ในฟาร์มปศุสัตว์  ดังนั้นโอกาสเสี่ยงที่เชื้อดื้อยาจะออกมาจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์
จึงเกิดขึ้น เนื่องจากวิธีการเลี้ยงสัตว์แบบฟาร์มอุตสาหกรรม ในพื้นที่หนึ่งต้องเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมาก การที่สัตว์อยู่ในพื้นที่จำกัด แน่นอนว่า สัตว์ไม่มีอิสระในเดินเหิน หรือการได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ  ซึ่งส่งผลต่อความเสี่ยงในด้านการเจ็บป่วย จึงนำมาซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อให้สัตว์สามารถทนอยู่ในสภาพแบบนั้นให้ได้  มีตัวเลขออกมามากมายว่า  มีการใช้ยาบางตัวอย่างไม่ถูกต้องเช่น โคลิสติน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวะชนิดรุนแรง จึงสร้างความกังวลแก่ผู้บริโภคอย่างมาก

“แม้ว่าประเทศไทยจะมียุทธศาสตร์ชาติเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ แต่ปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาจากฟาร์มสัตว์ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผล “การตรวจหาแบคทีเรียดื้อยาที่สำคัญจากสิ่งแวดล้อมบริเวณฟาร์มเลี้ยงสุกรและไก่ เดือนตุลาคม 2566” ในครั้งนี้ ยังคบพบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่แทบไม่ได้แตกต่างจากการตรวจเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา การพบเชื้อเหล่านี้ก่อความกังวลต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนในพื้นที่รอบๆ ฟาร์มอุตสาหกรรม ซึ่งบ่งชี้ว่าสวัสดิภาพสัตว์ที่ย่ำแย่ ต้อตอสำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะแบบเกินความจำเป็นในฟาร์ม ยังคงไม่ได้รับความสำคัญมากเท่าที่ควร การส่งเสริมให้มีการใช้สารทดแทนยาปฏิชีวนะก็ไม่ได้แปลว่าสวัสดิภาพสัตว์จะดีขึ้น ดังนั้นองค์กรฯ จึงเรียกร้องต่อภาครัฐให้ความสำคัญด้านการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม และการบังคับใช้กฎหมายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรค เพื่อแก้ไขถึงวิกฤตด้านสุขภาพที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่อย่างเร่งด่วน”

supboard

เราจำเป็นต้องเริ่มวันนี้ เดี๋ยวนี้ ก่อนที่เชื้อดื้อยาจากฟาร์มอุตสาหกรรมจะคร่าชีวิตเราหรือคนใกล้ตัวเรา องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจึงเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทโดยตรงในเรื่องนี้ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้โดยเร่งด่วน ได้แก่

  • ยกระดับมาตรฐานขั้นต่ำสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มให้สูงขึ้น ให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำในการเลี้ยงสัตว์ฟาร์มที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล (FARMS: Farm Animal Responsible Minimum Standard) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถช่วยลดความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะลดลง 
  • ควบคุมและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดโดยเร่งด่วน เพื่อป้องกันการเข้าถึงยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงจัดให้มีการพัฒนาความรู้ ด้านการใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม เพื่อหยุดปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะที่เป็นวิกฤตสุขภาพของคนไทยในขณะนี้
  • ดำเนินการภายใต้แนวคิด “หลักสวัสดิภาพหนึ่งเดียว” (One Health, One Welfare Concept) โดยมีการบูรณาการและการทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน 
  • จัดทำกลไกเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ในการติดตามและตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

 

More about