Chickens crammed together on factory farm - World Animal Protection - Animals in farming

ธุรกิจรูปแบบเดิมไม่ใช่หนทางสู่การปฏิรูประบบผลิตอาหาร

ข่าว

การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา (โควิด-19) สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างสวัสดิภาพสัตว์และสุขภาพมนุษย์ ตอกย้ำความสำคัญในการขับเคลื่อนงานปกป้องสัตว์ ตลอดจนความปลอดภัยต่อสุขภาพมนุษย์

แม้โรคระบาดจะทำให้ผู้คนหันมาสนใจความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพของสัตว์และคนมากขึ้น แต่ระบบผลิตอาหารทั่วโลกยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สัตว์ในฟาร์มมีชีวิตทนทุกข์ทรมาน

ไก่เนื้อประมาณ 5 หมื่นล้านตัวใช้ชีวิตในฟาร์มและถูกฆ่าเพื่อนำมาผลิตเป็นอาหารในแต่ละปี ถือเป็นหนึ่งในการทารุณกรรมสัตว์ที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างมากที่สุด โดยไก่ถูกปรับปรุงสายพันธุ์ให้มีน้ำหนักมากพอที่จะถูกนำไปผลิตอาหารได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ พวกมันต้องใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมย่ำแย่ สถานที่คับแคบ และปราศจากแสงจากธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นวิธีการเลี้ยงสัตว์ที่ปราศจากความเมตตาโดยสิ้นเชิง

คุณภาพชีวิตที่ไม่ดียิ่งกระตุ้นให้ไก่มีอาการเครียดและล้มป่วยง่ายขึ้น ซึ่งนำไปสู่การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อในฟาร์มปศุสัตว์ เพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันตาย โดยพบว่า 75% ของยาปฏิชีวนะที่ถูกผลิตขึ้นในโลกถูกนำไปใช้ในฟาร์มปศุสัตว์ ส่งผลให้โรงเรือเลี้ยงสัตว์กลายเป็นแหล่งเพาะ “ซูเปอร์บั๊ก” หรือเชื้อดื้อยา และเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในทุกปี มีคนทั่วโลกมากกว่า 700,000 รายจบชีวิตลงจากการติดเชื้อดื้อยา

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมอาจไม่ใช่ทางเลือกในการผลิตอาหารอีกต่อไป ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตอาหารให้มีความเมตตาต่อสัตว์มากขึ้น เพื่อช่วยให้สัตว์อีกจำนวนมากมีชีวิตที่ดี ด้วยเหตุผลดังกล่าว องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจึงอยากทำงานร่วมกับบริษัทฟาสต์ฟู้ดอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยกันพลิกโฉมหน้าของอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อไก่

การดำเนินงานด้านสวัสดิภาพไก่ของบริษัทฟาสต์ฟู้ดทั่วโลกเป็นอย่างไร

รายงาน The pecking order จัดทำขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความคืบหน้าและให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานด้านสวัสดิภาพไก่ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกคัดเลือกบริษัทฟาสต์ฟู้ดเข้าสู่ขั้นตอนการประเมินด้วยการนำหลักเกณฑ์เรื่องขนาดและความมีชื่อเสียงของแต่ละบริษัทมาพิจารณา โดยบริษัทฟาสต์ฟู้ดชั้นนำระดับโลกที่ได้รับการคัดเลือกมีทั้งหมด 8 แห่ง ได้แก่ Burger King, Domino's,KFC, McDonald's, Nando's, Pizza Hut, Starbucks และ Subway

รายงาน The pecking order ประเมินบริษัทฟาสต์ฟู้ดจากข้อมูลสาธารณะของแต่ละบริษัทใน 3 ด้านหลัก ได้แก่

  • การบริหารจัดการและนโยบาย (ความร่วมมือจากภาคธุรกิจ): การระบุถึงความสำคัญของหลักสวัสดิภาพไก่ต่อการดำเนินธุรกิจในนโยบายของบริษัท
  • ความพยายาม (วัตถุประสงค์กับเป้าหมาย): การกำหนดกรอบเวลาการทำงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และคำมั่นสัญญาในการพัฒนาสวัสดิภาพไก่ที่บริษัทได้ให้ไว้
  • ความโปร่งใส (การรายงานผลการดำเนินงาน): การจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน และแนวทางการทำงานด้านสวัสดิภาพไก่ที่ชัดเจนความร่วมมือ วัตถุประสงค์กับเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้ และการรายงานผลการดำเนินงาน

วิธีการประเมินของรายงานสอดคล้องกับข้อกำหนดของ Better Chicken Commitment ซึ่งเป็นมาตรฐานสวัสดิภาพไก่ที่บริษัทหลายร้อยแห่งทั่วโลกได้ร่วมประกาศคำมั่นสัญญาจะปฏิบัติตาม โดยแต่ละบริษัทจะถูกจัดลำดับตามคะแนนที่ได้รับการประเมิน ซึ่งมีตั้งแต่ลำดับ “เป็นผู้นำ” (Leading) ไปจนถึง “แย่มาก” (Very poor)

ผลการจัดลำดับล่าสุด

รายงาน The pecking order ที่เดินทางเข้าสู่ปีที่ 3 ในปี พ.ศ.2564 พบว่า การดำเนินงานด้านสวัสดิภาพสัตว์ของบริษัทหลายแห่งยังคงต่ำกว่ามาตรฐาน โดยสามารถสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ดังนี้ :

การพัฒนาด้านสวัสดิภาพสัตว์ของประเทศแถบยุโรปรุดหน้า

  • จากการร่วมลงชื่อของผู้สนับสนุนกว่า 5 แสนรายส่งผลให้ KFC ตกลงสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อมอบชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ไก่ KFC ไต่ขึ้นมาจากลำดับ ‘แย่’ (Poor) ในปี พ.ศ.2562 มาอยู่ที่ ‘กำลังดำเนินการ’ ในปี พ.ศ.2564 สำหรับการจัดลำดับในระดับ global หลังบริษัทร่วมลงนามใน Better Chicken Commitment และเปิดเผยความคืบหน้าในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพไก่ของสาขาในสหราชอาณาจักร, ไอร์แลนด์, เบลเยียม,​ เยอรมัน, เนเธอร์แลนด์, สวีเดน และเดนมาร์ก  KFC เป็นเพียงบริษัทที่ถูกจัดให้อยู่ในลำดับ ‘เป็นผู้นำ’ (Leading’)ในการจัดอันดับในประเทศเดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์,สวีเดน
  • สาขาของ Burger King, Nando’s และ Pizza Hut ในสหราชอาณาจักรถูกพบว่า ปฏิบัติตามข้อกำหนดของ Better Chicken Commitment ตั้งแต่การประเมินในปีที่ผ่านมา ในขณะที่บริษัทย่อยบางแห่งในแต่ละประเทศของ Domino’s ประกาศร่วมลงนามใน Better Chicken Commitment แล้ว เช่น Domino’s (Domino’s Pizza Enterprises) ในประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก เบลเยี่ยม และลักเซมเบิร์ก
The whole truth about KFC Chickens

In September 2017 World Animal Protection created a graffiti installation in Shoreditch, London

การบริหารจัดการด้านสวัสดิภาพไก่ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้าและแตกต่างออกไปในแต่ละพื้นที่

  • แม้ว่า McDonald’s จะสามารถขยับขึ้นมาจากลำดับ ‘แย่’ (Poor) มาอยู่ที่ ‘เริ่มลงมือ’ (Getting started) แต่ยังไม่มีสาขาไหนของ McDonald’s มีท่าทีประกาศร่วมลงนามใน Better Chicken Commitment ซึ่งแตกต่างจากบริษัทคู่แข่งอื่น ๆ (ดูด้านบน)
  • Domino's (Domino's Pizza Group PLC) เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ถูกจัดให้อยู่ลำดับ ‘แย่มาก’ (Very poor) สะท้อนให้เห็นถึงความเพิกเฉยในการดูแลสวัสดิภาพไก่ของบริษัทอย่างต่อเนื่อง
  • บริษัทหลายร้อยแห่งที่ร่วมลงนามใน Better Chicken Commitment เป็นสาขาในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่สาขาในทวีปลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ต่างยังคงนิ่งเฉยและยังไม่ประกาศร่วมลงนาม การเปลี่ยนแปลงควรเกิดขึ้นเพื่อให้ไก่ทุกตัวในโลกใบนี้มีชีวิตที่ดี 

รายละเอียดเกี่ยวกับสัดส่วนของไก่เนื้อที่ได้รับการเลี้ยงดูในระบบที่มีการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์ยังมีอยู่อย่างจำกัด

  • บริษัทส่วนใหญ่ได้รับคะแนนเนื่องมาจากการประกาศคำมั่นสัญญายกระดับสวัสดิภาพไก่และการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนของไก่ที่ถูกเลี้ยงตามมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ยังมีอยู่อย่างจำกัด
  • บริษัทที่ร่วมลงนามใน Better Chicken Commitment ในทวีปอเมริกาเหนืออย่าง Burger King (สาขาในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา) รวมถึง Starbucks และ Subway (สาขาในสหรัฐอเมริกา) มีข้อมูลรายงานด้านการจัดการสวัสดิภาพสัตว์เพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลย นับตั้งแต่มีการจัดทำรายงาน The pecking order ครั้งแรกในปี พ.ศ.2561

เครื่องมือขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

ยังมีข้อแตกต่างจุดใหญ่เมื่อพูดถึงการบริหารจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์ของบริษัทฟาสต์ฟู้ด ซึ่งไม่ใช่ข้อแตกต่างระหว่างต่างบริษัทเท่านั้น แต่ยังหมายถึงข้อแตกต่างระหว่างสาขาในแต่ละประเทศของแต่ละบริษัทเอง

บริษัทที่ยังไม่แสดงท่าทีชัดเจนในการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์อาจต้องรับมือกับความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากกระแสผู้บริโภคเกี่ยวกับประเด็นสวัสดิภาพสัตว์กำลังก่อตัวขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงความสนใจเรื่องทางเลือกการบริโภคแบบใหม่ เช่น การบริโภคโปรตีนจากพืช การปรับปรุงสวัสดิภาพไก่เนื้อมีแนวโน้มจะกลายมาเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของผู้บริโภค หากบริษัทฟาสต์ฟู้ดเพิกเฉยต่อการยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ ผู้บริโภคอาจเลือกไปสนับสนุนผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากแหล่งที่มาอื่น

ในช่วงที่หลายฝ่ายพยายามตั้งหลักและฟื้นตัวจากภาวะโรคระบาด บริษัทฟาสต์ฟู้ดควรหันมายึดหลักสวัสดิภาพสัตว์ในการดำเนินธุรกิจ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจะมุ่งมั่นพัฒนาชีวิตไก่เนื้อทั่วโลกและเป็นอีกเสียงที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์

อ่านรายงานฉบับเต็ม

มีคนทั่วโลกมากกว่า 700,000 รายจบชีวิตลงจากการติดเชื้อดื้อยา