Elephant Entertainer

“ช้าง” ในฐานะ “สินค้าเกษตร”?

บล็อก

By

กระทรวงเกษตรฯ เริ่มขยับร่างมาตรฐานปางช้างของตนเอง แต่ยังมีความน่ากังวลมองช้างเป็นสินค้าและอนุญาตให้ฝึกช้างเพื่อแสดงโชว์

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำร่าง “มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง” โดยมีเป้าหมายเพื่อการปรับปรุงการเลี้ยงช้างให้ถูกต้องเหมาะสม เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ แก้ไขปัญหาการทารุณกรรมช้าง ตลอดจนยกระดับมาตรฐานปางช้างไทย โดยครอบคลุมประเด็นต่างๆ เช่น องค์ประกอบปางช้าง การจัดการปางช้าง บุคลากร สุขภาพช้าง สวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย การบันทึกข้อมูล และอื่นๆ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมต่อร่างดังกล่าวด้วย

Elephant rides in Thailand

ก่อนอื่น ทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกคงต้องขอชื่นชมความก้าวหน้าด้านนโยบายที่มีการนำแนวคิดอิสระห้าประการ (Five Freedoms) ของสัตว์มาประยุกต์ใช้บางส่วน แนวคิดนี้เป็นเรื่องที่ทางองค์กรฯ และผู้สนับสนุนของเราพยายามผลักดันให้ถูกนำไปใช้ทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้วิเคราะห์เนื้อหาในร่างมาตรฐานดังกล่าวของ มกอช. อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ทางองค์กรฯ ยังมีข้อกังวลด้านสวัสดิภาพสัตว์ในบางประการ ซึ่งได้เสนอแนะต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเป็นทางการไปแล้ว และคิดว่าน่าจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีแผนจะท่องเที่ยวปางช้างในอนาคต

  1. ร่างมาตรฐานของ มกอช. ยังไม่มีมาตรการควบคุมการผสมพันธุ์ช้างเลี้ยงเชิงพาณิชย์ (ที่ไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ของการอนุรักษ์) ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ได้รับการยอมรับระดับสากลและประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศภาคีด้วย หากประเทศไทยไม่มีมาตราการการควบคุมการผสมพันธุ์ดังกล่าว อาจส่งผลให้ประเทศไทยขาดซึ่งมาตการควบคุมที่เชื่อมโยงกับการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฏหมายได้
  2. ร่างมาตรฐานฉบับนี้แม้จะเป็นความพยายามในการปรับปรุงพัฒนาสวัสดิภาพช้างเลี้ยง แต่ก็ยังถือว่าเป็นการจัดให้ “ช้าง” ซึ่งเป็นสัตว์ป่าและสัญลักษณ์ของประเทศไทย กลายเป็นเพียง “สินค้าเกษตร” เท่านั้น และหากมีการนำการตีความลักษณะนี้ไปใช้อ้างอิงในอนาคต อาจส่งผลให้เกิดช่องโหว่สำหรับการส่งออกช้างไทยออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งจะเข้าข่ายการค้าสัตว์ป่าได้เช่นกัน
  3. ในข้อ 3.2.2.1 ของร่างมาตรฐาน แม้จะระบุให้ปางช้างต้องแจ้งรายละเอียดการปฏิบัติงานที่สำคัญของปางช้าง เช่น การแยกลูกช้างออกเพื่อฝึกหรือการผสมพันธุ์ แต่ทางองค์กรฯ เห็นว่าการยังเปิดโอกาสให้ฝึกแสดงช้างเพื่อการแสดงหรือผลประโยชน์ด้านธุรกิจอื่นๆ ทั้งโดยภาครัฐและภาคเอกชนนั้นมีปัญหาด้านจริยธรรมหลากหลายประการแฝงอยู่ เช่น ความโหดร้ายทารุณจากกระบวนการฝึกช้าง (Link: หน้าที่มีคลิปการฝึก) การใช้อุปกรณ์ที่สร้างความเจ็บปวดในสั่งงานช้าง การบังคับให้ช้างทำกิจกรรมที่ขัดต่อพฤติกรรมตามธรรมชาติในฐานะสัตว์ป่า ความเสี่ยงด้านสุขภาพ ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เป็นต้น
  4. ในเรื่องของการมีส่วนร่วม มาตรฐานของ มกอช. ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพสัตว์ สังเกตได้จากสัดส่วนของคณะกรรมการร่างมาตรฐานฉบับดังกล่าวนั้นไม่มีตัวแทนจากภาคประชาสังคมรวมอยู่ด้วยเลย ซึ่งอาจส่งผลให้เนื้อหาโดยรวมขาดมุมมองหรือข้อคิดเห็นด้านวิชาการที่รอบด้านอย่างเหมาะสมและเพียงพอ
  5. การปรับปรุงพัฒนาสวัสดิภาพช้างเลี้ยง การหยุดสนับสนุนโชว์ช้างและกิจกรรมขี่ช้าง ตลอดจนการควบคุมการผสมพันธุ์ช้างเลี้ยงเชิงพาณิชย์ ซึ่งทางองค์กรฯ พยายามผลักดันมาอย่างต่อเนื่องนั้นล้วนเป็นไปตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับกระแสการท่องเที่ยวในปัจจุบัน ซึ่งงานวิจัยของเราพบว่านักท่องเที่ยวเริ่มใส่ใจประเด็นสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น และสนับสนุนกิจกรรมที่สร้างความโหดร้ายทารุณต่อสัตว์ โดยเฉพาะการดูโชว์ช้างและการขี่ช้าง น้อยลงเรื่อยๆ ประกอบกับช่วงวิกฤติโควิด-19 ปางช้างหลายแห่งต้องเผชิญกับภาวะาดรายได้ ส่งผลต่อความอดยากของช้าง ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าธุรกิจปางช้างทั่วไปขาดความสามารถในการดูแลช้างให้มีสวัสดิภาพดีในระยะยาวได้ นอกจากนี้ การไม่มีมาตรการควบคุมการผสมพันธุ์ช้างเลี้ยงอาจนำไปสู่ผลกระทบปัญหาช้างล้นตลาดและปัญหาการจัดสรรทรัพยากรได้
Elephant rides in Thailand

นอกเหนือจากความกังวลด้านสวัสดิภาพสัตว์แล้ว ทางองค์กรฯ ยังมีความเป็นห่วงว่าการยังเปิดโอกาสให้ปางช้างผสมพันธุ์สัตว์ป่าได้อย่างอิสระเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวผ่านกระบวนการฝึกที่โหดร้ายทารุณแบบนี้ต่อไป อาจนำมาซึ่งการตอบโต้จากนานาประเทศในท้ายที่สุด ผ่านรูปแบบการแทรกแซง การกีดกันทางการค้า ไปจนถึงการคว่ำบาตรต่อประเทศไทยได้ในอนาคต และนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมันเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับกรณีกรณีปัญหาสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมง และล่าสุด กรณีปัญหาสวัสดิภาพลิงในอุตสาหกรรมกะทิ ซึ่งการกีดกันทางการค้าลักษณะนี้จะก่อให้เกิดผลเสียทั้งต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศในวงกว้าง

ความพยายามในการปรับปรุงพัฒนาสวัสดิภาพช้างในครั้งนี้มีแรงผลักดันสำคัญมาจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จนสำเร็จ ซึ่งถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของช้างไทยได้ไม่มากก็น้อย แต่จะเป็นการดียิ่งขึ้นไปอีก หากท่ารัฐมนตรีช่วย ตลอดจนทีมทำงานใน มกอช. และกระทรวง ได้มีโอกาสฉุกคิด รับฟัง และปรับปรุงให้ร่างมาตรฐานตัวนี้ครอบคลุมหลักการสวัสดิภาพสัตว์อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น และยึดให้ช้างเป็นศูนย์กลางของนโยบายมากกว่าเดิม ทางองค์กรฯ ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนทั้งในเชิงวิชาการและการร่วมทำงานผ่านโครงการต่างๆ เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่าของช้างไทย