Chickens interacting with sweet corn in a barn on a certified chicken farm in Somerset

New Normal ของอุตสาหกรรมไก่เนื้อใน ‘เนเธอร์แลนด์’

ข่าว

ความต้องการแหล่งโปรตีนสัตว์จากเนื้อไก่ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้บริษัทผู้เลี้ยงสัตว์ปีกได้รับแรงกดดันให้เลี้ยงไก่โตอย่างเร็วที่สุด

โดยการปรับปรุงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยิ่งไก่โตเร็วผิดธรรมชาติมากเท่าไหร่ ปัญหานานัปการก็ยิ่งตามมามากขึ้นเท่านั้น ตั้งแต่ความเครียด ขาพิการ และปัญหาสวัสดิภาพสัตว์

ยาปฏิชีวนะจึงเริ่มถูกนำมาใช้ในฟาร์มตั้งแต่ปี 2493 จนวันนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะแบบไร้ความรับผิดชอบภายในฟาร์มปศุสัตว์และเชื้อแบคทีเรียดื้อยาสะสมยังคงเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตสัตว์และมนุษย์

ผู้ผลิตเนื้อไก่หลายรายจึงหันมาหยุดใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ อย่างเช่นในประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มเปลี่ยนไปสนับสนุนการผลิตและการบริโภค “ไก่เนื้อที่โตช้า” และขึ้นแท่นเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อน “ตลาดไก่โตช้า” ได้ยอดเยี่ยมที่สุดของโลก

1026488

เมื่อไก่สุข ผู้ผลิตก็สุข

พลังขับเคลื่อนกระแสตลาดไก่เนื้อโตช้าในประเทศเนเธอร์แลนด์มาจากประเด็นหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ถูกผลักดันโดยรัฐบาลเองในช่วงต้นสหัสวรรษใหม่ โดยภาครัฐออกมาตั้งคำถามไปยังผู้ประกอบการถึงความโปร่งใสในขั้นตอนการผลิตเนื้อไก่ และออกมาเรียกร้องให้ผู้ผลิตป้อนเฉพาะไก่โตช้าสู่ตลาด

ในขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐเดินหน้าเสริมสร้างพันธมิตรกับหลายหน่วยงาน เช่น มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ภาคเอกชน ผู้ประกอบการร้านค้าปลีก และองค์กรด้านสวัสดิภาพสัตว์ แต่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเริ่มต้นขึ้นในปี ​2556 เมื่อร้านค้าปลีก และซูเปอร์มาร์เก็ตตัดสินใจเปลี่ยนจากการสั่งซื้อเนื้อไก่สดทั่วไป เป็นเนื้อไก่ที่เลี้ยงโตช้า

การปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงไก่โตช้าครั้งนี้ ประเทศเนเธอร์แลนด์มีเป้าหมายชัดเจน นั่นคือการยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มระดับอุตสาหกรรม เพื่อให้บริษัทผู้ผลิตเนื้อไก่ในยุโรปสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของตนเอง หรือได้รับราคาพรีเมียมที่สนับสนุนโดยภาครัฐบาลนั่นเอง

องค์กร Eurogroup for Animals เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงไก่ในประเทศเนเธอร์แลนด์นิยมเลี้ยงไก่ตามวิถีธรรมชาติ ด้วยการปล่อยให้แสงพระอาทิตย์สาดส่องเข้ามาในโรงเรือน ยกระดับเพดานโรงเรือนให้สูงขึ้น จัดการให้พื้นที่ภายในโรงเรือนมีมากเพียงพอให้ไก่แต่ละตัวได้เดินขยับแข็งขาหรือกระพือปีกได้ และปล่อยให้ไก่ได้ออกไปเดินเล่นนอกโรงเรือน หรืองีบหลับระหว่างวัน

ภายในเวลาเพียง 3 ปี เนื้อไก่สดที่จำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตมาจากสายพันธุ์โตช้าแทบทั้งหมด ราโบบังก์ (Rabobank) ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเนเธอร์แลนด์ ทำนายไว้ว่า ตลาดไก่เนื้อโตช้าจะเติบโตจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 20 ในปี 2568

1024719alt2_0

ผู้บริโภคก็สุขเช่นกัน 

การปล่อยให้ไก่ได้เติบโตตามธรรมชาติใช้เวลาในการเลี้ยงนาน อายุเต็มที่เป็นอย่างน้อย 8 สัปดาห์ ต่างจาก “ไก่เร่งโต” ที่มีอายุเพียงแค่ 5-6 สัปดาห์ หรือเพียง 40 กว่าวันเท่านั้น แต่โครงสร้างร่างกายไก่ที่เติบโตตามธรรมชาติจะสมดุล กระดูกแข็งแรง ระบบภูมิคุ้มกันดีเยี่ยมโดยไม่ต้องพึ่งพายาปฏิชีวนะ อีกทั้งเนื้อไก่โตช้าไม่มีปัญหาคุณภาพกล้ามเนื้อที่อาจส่งผลต่อความนุ่มของเนื้อ สีชมพูเข้ม ขนาดของหน้าอกเล็กลง แต่กระชับมากขึ้น เนื่องจากไก่ได้ทำกิจกรรมระหว่างวันมากขึ้น

การเลี้ยงไก่โตช้า ปัญหาคุณภาพเนื้อไก่แทบจะไม่ปรากฏให้เห็นเลย โดยเฉพาะปัญหากล้ามเนื้ออกแข็งเหมือนไม้ กล้ามเนื้อลายเป็นทางสีขาว หรือกล้ามเนื้อยุ่ยเป็นเส้นบะหมี่ หรือเห็นเส้นใยกล้ามเนื้อฉีกเป็นชิ้น ๆ เมื่อสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มมีมาตรฐาน ยอดจำหน่ายยาปฏิชีวนะในภาคปศุสัตว์ของประเทศเนเธอร์แลนด์ลดลงถึงร้อยละ 63 สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตของไก่สายพันธุ์โตช้าที่ไม่ต้องพึ่งพายาหรือสารเคมีตัวใด

จุดยืนของคนในประเทศเนเธอร์แลนด์ชัดเจน นั่นคือการเลือกกินเฉพาะ ‘ไก่เลี้ยงโตช้า’ ถ้าคนยุโรปได้กินเนื้อไก่คุณภาพดี ปลอดสาร ปลอดโรค คนไทยเองก็ต้องได้กินเนื้อไก่ปลอดภัยแบบนี้

มาร่วมกันส่งเสียงไปยังร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดทั้งหลายให้พวกเขาเลือกซื้อเฉพาะ “ไก่โตช้า” มาให้พวกเรากินเท่านั้นโดยคุณสามารถมาร่วมวิ่ง เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับไก่ในฟาร์มอุตสาหกรรมให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ในงาน #วิ่งเพื่อไก่ Change for Chickens Run 2020 สมัครวิ่งได้ด้านล่าง

 

สมัครงาน #วิ่งเพื่อไก่

จุดยืนของคนในประเทศเนเธอร์แลนด์ชัดเจน นั่นคือการเลือกกินเฉพาะ ‘ไก่เลี้ยงโตช้า’ ถ้าคนยุโรปได้กินเนื้อไก่คุณภาพดี ปลอดสาร ปลอดโรค คนไทยเองก็ต้องได้กินเนื้อไก่ปลอดภัยแบบนี้